ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่าโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีน้อยลงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -7.8%
นอกจากนี้ความสำเร็จของการผลิตวัคซีนโควิด-19 ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ซึ่ง EIC ประเมินว่าวัคซีนจะถูกแจกจ่ายเป็นวงกว้างจนก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564
โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนฟื้นตัว ถือเป็นสิ่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในระยะต่อไป
EIC ประเมินว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อเนื่องในปี 2564 และผ่อนปรนเงื่อนไขของมาตรการที่ได้ดำเนินไป รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อดูแลค่าเงินบาท
โดยตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 3.3% ซึ่งเป็นการแข็งค่าอันดับที่สองในภูมิภาค ผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สูงขึ้น หลังจากมีข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทำให้มีเงินไหลเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะไทยที่ยังมีเสถียรภาพต่างประเทศในเกณฑ์ดี ส่งผลให้นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์ไทย ซึ่งการแข็งค่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
EIC เชื่อว่า ธปท. อาจดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เช่น การลดการออกพันธบัตร ธปท. เพื่อลดการเข้าเก็งกำไร มาตรการชะลอการเก็งกำไรในทองคำ การส่งเสริมให้มีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่ม และผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการนำรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศกลับเข้าไทย
ส่วนนโยบายด้านการคลังอาจมีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระยะต่อไป โดยอาจมีการพิจารณาชำระหนี้ต่างประเทศเพื่อจ่ายเงินดอลลาร์และลดความต้องการเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนลง อีกทั้งการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในระยะต่อไปก็จะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์