ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2021 หดตัว -0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน(YOY) และ -1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ (QOQ_sa) จากผลกระทบการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาทั่วโลกรวมถึงไทย
โดยหากพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QOQ_sa) พบว่าหลายภาคเศรษฐกิจหลักของไทยมีการหดตัว เริ่มจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการ ที่แม้จะยังขยายตัวได้ดีแบบ %YOY แต่กลับปรับลดลงชัดเจนแบบ %QOQ_sa ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากการระบาดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงต้นไตรมาส 3
ส่วนภาคเศรษฐกิจในประเทศ พบว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน (แบบ %QOQ_sa) สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเปราะบางและซบเซา ในส่วนของด้านการผลิต พบว่าภาคเกษตรขยายตัวได้ดี แต่ภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และสาขาที่พักและร้านอาหาร
สำหรับเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/2021 คาดเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวตามสถานการณ์การระบาดที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่มีมากขึ้น ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลเร็วของ Google และ Facebook ก็จะพบว่าเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ส่วนในปี 2022 ทาง EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีนี้ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่จะเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากระดับนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกจากผลกระทบในช่วงสองปีที่ผ่านมาทั้งในด้านพลวัตการเปิดปิดกิจการที่ปรับแย่ลง ตลาดแรงงานที่เปราะบาง และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามองยังมีอยู่หลายประการ ได้แก่
- การระบาดของโควิดทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพวัคซีนลง
- ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในวงกว้าง
- การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจมีความรุนแรงหรือยืดเยื้อมากกว่าคาด จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
- เศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์
- ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง
โดยสรุป GDP ไตรมาส 3/2021 ที่ออกมาที่ -0.3%YOY ค่อนข้างใกล้เคียงกับตัวเลขที่ EIC คาดไว้ที่ -0.6%YOY ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจของ EIC ณ เดือนกันยายน 2021 โดยคาดไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 0.7%YOY ในปี 2021 และ 3.4%YOY ในปี 2022 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี จากการติดตามข้อมูล Mobility ของ Google และ Facebook พบว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2021 อาจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ได้ โดยโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโลก ยังอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจปี 2022 ฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าคาดได้เช่นกัน ซึ่งในระหว่างนี้ EIC กำลังทำการวิเคราะห์โดยละเอียดจากสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต และจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้