×

SCB CIO คาด สหรัฐฯ เสี่ยงเพิ่มเข้า Recession วิกฤตแบงก์ล้มลามทำปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ฉุดเศรษฐกิจ แนะลงทุนพันธบัตรสหรัฐฯ

21.04.2023
  • LOADING...
สหรัฐฯ เสี่ยง Recession

SCB CIO ประเมินปัญหาวิกฤตแบงก์ยุโรป-สหรัฐฯ​ ล้ม กระทบทำมาตรฐานปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้น กระทบเศรษฐกิจ 0.44-0.45% เสี่ยงเป็นชนวนลากสหรัฐฯ Recession แนะนำเพิ่มพอร์ตลงทุนพันธบัตรสหรัฐฯ

 

กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมีเหตุการณ์สถาบันการเงินในยุโรปและสหรัฐฯ ล้ม ทั้งกรณีของ Silicon Valley Bank (SVB) และ Credit Suisse เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

 

โดยจากข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่รายงานออกมาพบว่า มาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งในยุโรป, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และ Emerging Market (EM) มีความตึงตัวหรือเข้มงวดขึ้นค่อนข้างมากมาก่อนหน้านี้อยู่แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564-2565 เนื่องจากปัจจัยของแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นการชะลอตัว

 

อย่างไรก็ดี หลังเกิดเหตุการณ์ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป ล้มในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เข้มงวดขึ้นไปอีก ส่งผลให้มีผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อให้ชะลอตัวลง จึงเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงตามไปด้วย 

 

โดย IMF ประเมินว่า การลดลงของสินเชื่อดังกล่าวน่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับยุโรป ในช่วง 1 ปีข้างหน้าจะถูกผลกระทบประมาณ 0.44-0.45% ที่จะเข้ามากดดันเพิ่มขึ้นให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงจะชะลอตัวเพิ่มขึ้น

 

สำหรับ SCB CIO ในช่วงปลายปี 2565 เดิมทีประเมินว่า มีแนวโน้มความเสี่ยงต่ำมากที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หลังจากจีนเปิดประเทศ แต่มุมมองปัจจุบันเริ่มเห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ 

 

“มุมมองในส่วนเศรษฐกิจโลกจะถดถอย มองว่าโอกาสยังน้อยอยู่ แต่ในสหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงขึ้น คงต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นรูปแบบของ Mild Recession หรือ Serial Recession ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น อย่างนโยบายดอกเบี้ยของ Fed, ข้อตกลงเพดานหนี้, ตัวเลขเงินเฟ้อ และตัวเลขจ้างงาน”

 

สำหรับความเสี่ยงในการที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยยังต้องติดตามเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอื่นๆ รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของโลก 

 

ล่าสุดที่รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 1/66 ที่ขยายตัว 4.5% สะท้อนถึงการฟื้นตัวหลังกลับมาเปิดประเทศ แต่ยังเป็นการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึงในภาคส่วนธุรกิจที่ยังฟื้นตัวในอัตราที่ต่างแตก 

 

ในส่วนของตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนในประเทศช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ ยอดขายค้าปลีกมีการเติบโต 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เปรียบเทียบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมปีนี้ ที่เติบโต 3-4% สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจจีน

 

ขณะที่การลงทุนของจีนเดือนมีนาคมปีนี้ ยอดขายค้าปลีกมีการเติบโต 5% จากช่วงเดียวของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงมากเมื่อเปรียบกับตัวเลขการขยายตัวของการบริโภค 

 

นอกจากนี้ต้องติดตามภาคการส่งออกของจีน ที่ในเดือนมีนาคมปีนี้กลับมาเติบโต 14-15% หลังจากติดลบมา 5 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่ดีว่าจะยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องได้ในอัตราเร่งมากหรือน้อยอย่างไร

 

นอกจากนี้ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อของจีนกับสหรัฐฯ ยังมีความแตกต่างกันที่ชัดเจน เนื่องจากหลังจากทั้งสองประเทศเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่สหรัฐฯ มีภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวมาก มีอัตราการว่างงานเพียงราว 3% ต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี ขณะที่จีนยังมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยสูงประมาณ 5% แต่หากแยกไปดูกลุ่มอัตราการว่างของผู้มีอายุน้อย มีอัตราการว่างงานเฉลี่ยสูงถึงระดับ 10-20% 

 

ดังนั้นตลาดแรงงานของจีนที่ไม่ตึงตัวส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานของจีนจะไม่เติบโตขึ้นเร็วจนเกิดภาวะ Demand Pull Inflation เหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ จึงมีโอกาสน้อยที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

 

ขณะที่ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเงินฝืดยังต่ำ เนื่องจากจีนกลับมาเปิดประเทศหลังปิดประเทศมานานถึงประมาณ 3 ปี จะส่งให้กำลังซื้อฟื้นตัว ดังนั้น SCB CIO จึงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในจีน

 

อย่างไรก็ดี เริ่มมีความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ เป็นภาคธุรกิจที่มีการกู้ยืมสูงและมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น 

 

โดยช่วง 1-2 ปีนี้มีจำนวนหนี้ที่จะครบกำหนดจำนวนประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ฝั่งรายได้ฟื้นตัวที่ช้าส่งผลให้การลงทุนใน REIT กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือ DM REIT มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น จึงปรับมุมมองการลงทุนลงเป็น Slightly Negative

 

ขณะที่ SCB CIO คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลง อีกทั้งยังคงมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสหยุดขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาส 2/66 Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พฤษภาคมปีนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) จะอยู่ที่ 5-5.25% และคงดอกเบี้ยไว้ระดับนี้จนถึงปลายปี 2566 ส่วนธนาคารยุโรป (ECB) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกจำนวน 1-2 ครั้งสู่ระดับ 3.25% จากนั้นจะตรึงดอกเบี้ยไปถึงสิ้นปี 

 

ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งสู่ระดับ 2% จากนั้นจะคงดอกเบี้ยไว้หลังสัญญาณเงินเฟ้อของไทยเริ่มชะลอลงอย่างรวดเร็ว

 

โดย ธปท. คาดว่ามีโอกาสที่ตัวเลขเงินเฟ้อจะลดลงสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% ได้ภายในไตรมาส 2/66 ด้านแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในส่วนอุปสงค์ในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัว รวมถึงปัจจัยการเลือกตั้งในประเทศที่มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

 

ในส่วนของผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนจากประเด็นความกังวลที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงจะ Recession ในสหรัฐฯ ที่จะมีน้ำหนักเข้ามากระทบต่อการลงทุนที่มากขึ้น 

 

ดังนั้น SCB CIO จึงศึกษาและวิเคราะห์ว่า จะมีการป้องกันความเสี่ยงการลงทุนจาก Recession ในภาวะเงินเฟ้อที่สูง และข้อมูลในอดีตช่วงที่เข้าใกล้จะเกิด Recession พบว่า สินทรัพย์ลงทุนที่สามารถจัดการได้กับ Recession สามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 

 

  • อันดับ 1 คือ พันธบัตรรัฐบาล 
  • อันดับ 2 คือ หุ้นกู้คุณภาพสูง
  • อันดับ 3 คือ ทองคำ 

 

ดังนั้นจึงปรับคำแนะนำการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็น Positive พร้อมแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาในพอร์ต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X