×

SCB CIO ชู 3 กลยุทธ์ลงทุนช่วงตลาดกังวล ศก.ถดถอย แนะถือเงินสด 5-10% รอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ พร้อมกลุ่มเปิดเมืองประเทศในอาเซียน

18.05.2022
  • LOADING...
SCB CIO

SCB CIO แนะ 3 กลยุทธ์หลักปรับพอร์ตการลงทุนในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

  1. ถือเงินสดในพอร์ต 5-10%
  2. รอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ เมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และ
  3. สะสมหุ้นกลุ่ม Reopening in ASEAN เพื่อรองรับการเปิดเมืองของแต่ละประเทศ

 

กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดการเงินโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงของ Fed และล่าสุดตลาดการเงินโลกเริ่มกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวและหดตัวในบางประเทศ โดยความกังวลเริ่มสูงขึ้นหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1/2022 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าออกมาติดลบ (-1.4%QoQ) โดยสาเหตุหลักมาจากการเร่งตัวของการนำเข้าในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตได้ดี (2.7%)

 

โดย SCB CIO ประเมินว่าโอกาสที่จะเกิดการถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ในสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/2022 ยังมีค่อนข้างน้อย แต่จีนมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไตรมาส 2/2022 จะชะลอมากกว่าคาด หลังการปิดเมืองเข้มข้นและมีแนวโน้มยืดเยื้อ ในขณะที่ยูโรโซนมีความเสี่ยงที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่พร้อม 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดกำลังกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวแรงหรือเข้าขั้นถดถอย โดยประเมินว่า Fed จะให้ความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ หากพิจารณาความเคลื่อนไหวในตลาดพันธบัตรและค่าเงิน SCB CIO มองว่าตลาดการเงินโลกยังคงมีความผันผวนจนกว่าจะมีความชัดเจนจาก Fed โดยดัชนีภาวะการเงินของสหรัฐฯ (US Financial Condition Index) เริ่มตึงตัวใกล้ระดับปลายปี 2018 ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุด 2.5% ในรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่แล้ว ทำให้เชื่อว่า Fed จะเริ่มพิจารณาประเด็นนี้มากขึ้น และส่งสัญญาณชัดเจนในการประชุม 14-15 มิถุนายนนี้

 

ทั้งนี้ SCB CIO ยังคงมุมมองว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 50 bps ในการประชุมในวันที่ 14-15 มิถุนายน และ 26-27 กรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25 bps ในอีก 3 การประชุมที่เหลือ ทำให้ Upper Bound Fed Fund Target Rate อยู่ที่ 2.75% ณ สิ้นปี 2022 แม้ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยจะสูงขึ้น แต่ผลประกอบการล่าสุดในกลุ่มประเทศ DM (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) และเวียดนาม ยังเติบโตได้และมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2022 ล่าสุดยังเห็นการเติบโตต่อเนื่องและทำได้ดีกว่าคาด 

 

ปัจจัยเสี่ยงหลักคือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกและการปิดเมืองในจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน โดย SCB CIO ประเมินว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่เร่งตัวไปมากกว่าในกรอบ 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ความจำเป็นของ Fed ที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้จะมีค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม การปิดเมืองเข้มข้นในเมืองเศรษฐกิจหลักของจีนเป็นความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อโลกที่ต้องระมัดระวังในช่วงที่เหลือของปี

 

กำพลกล่าวอีกว่า การปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงเวลานี้ที่ตลาดคิดว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย SCB CIO แนะนำ 3 กลยุทธ์หลักดังนี้

 

  1. Cash Amidst Uncertainty ในช่วงที่รอความชัดเจนจาก Fed ยังคงแนะนำให้มีเงินสดใน Portfolio สัดส่วนประมาณ 5-10%

 

  1. Cost Pass Through to Maintain Profit Margin ในกลุ่มตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) แม้จะมีมุมมอง Neutral แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอัตรากำไรสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นได้ โดยมีการเติบโตของค่าจ้างเป็นตัวช่วย โดยรอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ เมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นจาก Fed

 

  1. Reopening in ASEAN โดย SCB CIO ปรับมุมมองหุ้นไทยเป็น Positive หลัง Valuation กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ในขณะที่การเปิดเมืองมีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการเปิดประเทศของไทยจะทำให้กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัวจนพร้อมรับดอกเบี้ยขาขี้นได้ในปี 2023 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยใน 1H2023 และคงมุมมอง Positive ต่อ กลุ่มกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อาเซียน (Asian REITs)

 

สำหรับมุมมองด้านค่าเงินบาท SCB CIO ประเมินว่า US Dollar Index อยู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังขาดดุล ส่งผลแรงกดดันทำให้เงินบาทไทยอ่อนค่า น่าจะรุนแรงสุดในช่วงไตรมาส 2/2022 แต่ในระยะข้างหน้าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามการคาดการณ์การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมกับ US Dollar Index ที่น่าจะเริ่มชะลอตัวลงบ้างหลังมีความชัดเจนจาก Dot Plot ของ Fed ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ จึงคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในไตรมาส 2 และเริ่มแข็งค่าขึ้นในกรอบ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงครึ่งหลังของปี 

 

นอกจากนี้ SCB CIO ยังคงมุมมอง Positive กับตลาดหุ้นเวียดนาม ประเมินความผันผวนเป็นปัจจัยระยะสั้นเนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามมีนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ลงทุนหลัก แต่การฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการยังเติบโตต่อเนื่อง และยังคงมุมมอง Neutral ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนที่ยังคงถูกกดดันจากนโยบาย Zero COVID

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X