×

SCB CIO ชวนพันธมิตรไทยและระดับโลกแชร์ไอเดียเด็ด จัดพอร์ตรับมือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจปี 2566

14.12.2022
  • LOADING...
SCB CIO

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ปี 2566 อัตราดอกเบี้ยยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลงทุน คาดว่าดอกเบี้ยไทยจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ที่ 1.75-2.00% ส่วน Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยจนถึงไตรมาส 1/2566 แล้วคงดอกเบี้ย แนะนำลงทุนตราสารหนี้คุณภาพดี หลีกเลี่ยง High Yield
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงแต่ไม่รุนแรง ส่วนยุโรปเสี่ยงเจอเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลตลาดหุ้นเกิดใหม่มีความน่าสนใจกว่าตลาดพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม
  • พันธมิตรระดับโลกแนะนำว่า ปี 2566 ให้ลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทคุณภาพดีที่อยู่ในระดับ Investment Grade ส่วนการลงทุนหุ้นให้ผสมหุ้นเติบโตและหุ้นเชิงรับ และควรมีสินทรัพย์ทางเลือกติดไว้ด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต

ใกล้สิ้นปีเข้ามาทุกทีแล้ว ก็ถือเป็นฤกษ์ดีที่นักลงทุนจะเริ่มวางแผนว่าปีหน้าจะทำอย่างไรต่อไปกับพอร์ตของตัวเองดี เพราะปีนี้ต้องยอมรับว่าเปิดไปดูสินทรัพย์ประเภทไหนในพอร์ตก็แทบจะเห็นแต่ตัวเลือกติดลบ เพราะเกือบทุกสินทรัพย์ปรับตัวลงในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น แม้แต่ลงทุนตราสารหนี้ก็ขาดทุนได้

 

ข่าวดีก็คือ ถ้าเปรียบว่าปี 2565 เหมือนปีที่เจอมรสุมลูกใหญ่เข้ามากระทบการลงทุน ปี 2566 ก็เหมือนกับปีที่มรสุมกำลังจะพัดผ่านไปแล้ว เริ่มเห็นเค้าลางของฟ้าที่สดใสมากขึ้น ซึ่งก็คงจะดีไม่น้อยถ้าเราเตรียมพร้อมและเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ได้ถูกจังหวะ

 

ล่าสุด SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ได้จัดงานใหญ่ ‘SCB CIO Forum 2023’ โดย ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการจัดงานครั้งนี้ SCB CIO ได้เชิญพันธมิตรทางธุรกิจ ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ มาร่วมเปิดมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุน รวมถึงกลยุทธ์การคัดเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับปี 2566 เนื่องจาก SCB Wealth มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ในรูปแบบของ Open Architecture ที่เข้าถึงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศแบบครบวงจร

 

SCB CIO

 

อวสานยุคดอกเบี้ยต่ำ ความท้าทายและปัจจัยเศรษฐกิจที่รออยู่

 

ในงานนี้แบ่งการสัมมนาออกเป็น 3 ช่วง โดยช่วงแรกพูดคุยในหัวข้อ ‘อวสานยุคดอกเบี้ยต่ำ ความท้าทายและปัจจัยเศรษฐกิจที่รออยู่’ ดำเนินรายการโดย ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีพันธมิตรทางธุรกิจร่วมแชร์มุมมอง ได้แก่ ดร.สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM, ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด หรือ InnovestX และ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ UOBAM

 

ในช่วงเวลานี้พันธมิตรส่วนใหญ่มองว่า ‘อัตราดอกเบี้ย’ ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลงทุนในปี 2566 ซึ่งในไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 1.75-2.00% หรือช้ากว่าคาดการณ์ ในกรณีที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นและเงินบาทแข็งค่ามาก

 

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะปรับขึ้นจนถึงไตรมาส 1/2566 แล้วคงดอกเบี้ยไว้ ซึ่งในภาวะดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมามาก นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ที่คุณภาพไม่ดี จึงแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ได้รับการจัดอันดับเครดิตอยู่ในระดับลงทุนได้ หรือหุ้นกู้ Investment Grade (IG) และหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ให้ผลตอบแทนสูงที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง High Yield (HY) รวมทั้งหลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศที่มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง

 

SCB CIO

 

จับสัญญาณการลงทุน สินทรัพย์ไหนไปรุ่ง

 

ส่วนช่วงที่ 2 พูดคุยกันในหัวข้อ ‘จับสัญญาณการลงทุน สินทรัพย์ไหนไปรุ่ง’ นำทีมโดย เกษรี อายุตตะกะ ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office SCB ส่วนพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมแชร์มุมมองคือ วโรฤทธิ์ จีระชน Head of Investment Research จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM, ดร.ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC และ บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Eastspring

 

โดยสิ่งที่พันธมิตรเห็นตรงกันคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ไม่รุนแรง ส่วนเศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังสามารถขยายตัวได้ประมาณ 1-2% จากการใช้นโยบายการเงินและการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจ

 

โดยส่วนใหญ่ยังมองว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) น่าสนใจลงทุนมากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว (DM) โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนและเวียดนาม ที่มีการปรับตัวลงมามากในปี 2565 ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ด้านความเสี่ยงเริ่มลดลงจากการที่จีนมีแนวโน้มจะเปิดเมืองและยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

 

สำหรับตลาดหุ้นเวียดนาม ภาพเศรษฐกิจในระยะยาวยังดี แต่บรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นยังเต็มไปด้วยความผันผวน จึงแนะนำทยอยสะสมลงทุนในระยะยาว

 

ในส่วนของตราสารหนี้ แนะนำทยอยลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน (Duration) ยาว และแนะนำหุ้นกู้ IG มากกว่า HY

 

SCB CIO

 

เมื่อโลกหมุนไว ปรับพอร์ตอย่างไรให้ปัง

 

สำหรับการพูดคุยในหัวข้อ ‘เมื่อโลกหมุนไว ปรับพอร์ตอย่างไรให้ปัง’ โดย รุ่งโรจน์ เสกสรรวิริยะ ผู้อำนวยการ Investment Product ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีพันธมิตรทางธุรกิจเข้าร่วม ได้แก่ อาทิตย์ ทองเจริญ Head of Thailand Business, Schroder Investment Management (Singapore) Ltd., อิทธิพล ประสงค์ทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด และ ธณาพล อิทธินิธิภัค Director and Head of Thai Business, BlackRock

 

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนให้คำแนะนำในปี 2566 ได้แก่ การลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มตราสารหนี้ของบริษัทคุณภาพดีที่อยู่ในระดับ Investment Grade จากการที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield) มีการปรับตัวขึ้นมามาก ในขณะที่ทิศทางของการปรับขึ้นดอกเบี้ยเริ่มชะลอตัว

 

ส่วนการลงทุนในหุ้นก็ยังเป็นสินทรัพย์หลักที่แนะนำให้มีไว้ในพอร์ต โดยอาจจะต้องผสมหุ้นเติบโตและหุ้นเชิงรับเพื่อให้มีความสมดุล โดยตัวอย่างหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอน พลังงานสะอาด ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในระยะยาว นอกจากนี้สินทรัพย์ทางเลือกยังคงมีความน่าสนใจ เช่น Structured Product ที่ช่วยเพิ่มตัวเลือกการลงทุนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด หรือ Private Asset ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ก็เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนโดยรวมได้ เพียงแต่ควรมีในสัดส่วนไม่มากนัก

 

ลงทุนปี 2566 เน้นรับกระแสเงินสดมากกว่าคาดหวังกำไรส่วนต่างราคา

 

ศรชัยกล่าวสรุปว่า ในส่วนของ SCB CIO ยังเชื่อว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ดีของการลงทุนมากกว่าปี 2565 โดยประเด็นความกังวลหลักๆ ที่ต้องจับตาคือเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แนวโน้มเงินเฟ้อ รวมถึงประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปิดเมืองของจีน โดย SCB CIO แนะนำว่า การลงทุนในปี 2566 ควรเน้นการรับกระแสเงินสดมากกว่าเน้นเรื่องการคาดหวังกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)

 

เมื่อเห็นมุมมองการลงทุนในปี 2566 เช่นนี้แล้ว ก็เหมือนกับการติดอาวุธให้นักลงทุนไปแบบครบมือ ช่วยให้วางแผนจัดพอร์ตลงทุนของตัวเองได้ดีขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X