ท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศชั้นนำ รวมถึงเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ยังมีเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซียที่มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาวและเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีช่องว่างให้พัฒนาและขยายการลงทุนได้
สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากตลาดเวียดนามที่นักลงทุนไทยคุ้นเคยแล้ว ตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีความน่าสนใจทั้งในแง่ขนาดตลาดที่ใหญ่และทรัพยากรที่มีมาก
โดย SCB CIO เชื่อว่าการกระจายการลงทุนไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนของ Portfolio ได้ บทวิเคราะห์นี้ SCB CIO อยากชวนทุกคนมารู้จักเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอินโดนีเซียมากขึ้นผ่าน 5 คำถามสำคัญ ได้แก่
1. โครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียเป็นอย่างไร และแตกต่างกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร?
อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ในเอเชีย-แปซิฟิก และอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ (Domestic Demand-Led Growth) ต่างจากไทยและเวียดนามที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการที่มากกว่าอินโดนีเซีย โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจอินโดนีเซียมาจากขนาดประชากรที่ใหญ่และกลุ่มชนชั้นกลางที่เติบโต นอกจากนั้นยังมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรงต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต เช่น อุตสาหกรรม EV
2. วัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่างไร?
การส่งออกกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และแร่ธาตุนิกเกิล เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ที่ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ผ่านการส่งออกและการลงทุนในประเทศต่อเนื่องมายังรายได้และการจ้างงานของครัวเรือน แต่ในระยะหลังปัจจัยนี้มีผลต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียน้อยลงเนื่องจากการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางที่ช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการลงทุนของธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น จากที่เคยเน้นแค่อุตสาหกรรมการทำเหมือง
3. ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ นโยบายการเงินตึงตัว และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินอินโดนีเซียในระยะสามปีข้างหน้าอย่างไร?
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของอินโดนีเซียโดยรวมในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แนวโน้มในระยะ 3 ปีข้างหน้าก็ยังไม่น่ากังวล หากพิจารณาจาก
3.1 ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในปีนี้ และ 3 ปีข้างหน้าการขาดดุลอยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 2% ของ GDP
3.2 หนี้ของภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำเป็น Buffer สำคัญที่จะช่วยรับมือในช่วงที่เกิดวิกฤต
3.3 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ค่าเงิน IDR ก็ไม่ผันผวนในทิศทางอ่อนค่ารุนแรงเหมือนในอดีต
3.4 แรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวจากประเทศชั้นนำกดดันต่อตลาดเงินอินโดนีเซียไม่มาก ผลจากต่างชาติถือครองพันธบัตรอินโดนีเซียในสัดส่วนต่ำ
3.5 เงินเฟ้อสูงยังไม่กดดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาล
4. โครงสร้างตลาดทุนของอินโดนีเซียเป็นอย่างไร? แตกต่างจากตลาดหุ้นไทยและเวียดนามอย่างไร?
ตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีหุ้นกลุ่มการเงินเป็นกลุ่มที่มี Market Capitalization ใหญ่ที่สุด รองลงมามีการกระจายตัวอยู่ในกลุ่ม Consumer Discretionary กลุ่มสื่อสาร กลุ่ม Material และ Consumer Staples นอกจากนี้มูลค่าตลาดยังกระจุกตัวอยู่ในหุ้น 10 บริษัทแรก ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ราว 50% ของมูลค่าตลาด คล้ายคลึงกับตลาดหุ้นเวียดนาม ขณะที่ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างกระจายตัวในหลาย Sectors มากกว่า
5. มูลค่าของตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นอย่างไร? หุ้นกลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ?
โดยรวม SCB CIO มีมุมมองเป็น Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย มูลค่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังมีความน่าสนใจ เนื่องจาก Forward P/E ที่ 15 เท่า สำหรับ JCI และ 14 เท่า สำหรับ MSCI-Indonesia ยังเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี (-0.9 และ -1.4 SD ตามลำดับ)
ขณะที่ Earning ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี (เฉลี่ย 12-13% ในปี 2022-2023) โดยเฉพาะกลุ่ม Large และ Mid Cap และหากเปรียบเทียบกับไทยและเวียดนาม อินโดนีเซียก็ยังคงน่าสนใจในแง่ของความผันผวนที่ต่ำกว่า ผลตอบแทนโดยรวมที่ดีกว่า และ Earning ใน 1-2 ปี ที่ยังเติบโตได้ดี
ในส่วนของ Sectors ที่น่าสนใจสำหรับลงทุนในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
5.1 กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มสุขภาพ และกลุ่ม Consumer Discretionary ที่ได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางและการขยายตัวของธุรกิจบริการ โดยเฉพาะธุรกิจ Platform
5.2 กลุ่มพลังงานและกลุ่ม Material ที่ได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ในระยะสั้นผลบวกเริ่มมีข้อจำกัดจากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำลังเข้าสู่ระดับสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง การลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในกลุ่ม Material
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP