×

SCB CIO แนะลุยหุ้นตลาดเกิดใหม่ พร้อมชู 5 ธีมลงทุนดักผลตอบแทน หลบความเสี่ยงสภาพคล่องหาย หลัง Fed จ่อขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล

19.01.2022
  • LOADING...
SCB CIO

เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ต้องเผชิญกับความท้าทายจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น จนทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งโดยเฉพาะ Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และยังคาดว่าจะเริ่มต้นทำ QT ในปีนี้ 

 

การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งนี้จะสร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างมาก โดยหากเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่หุ้นสหรัฐฯ อาจจะปรับฐานราว 10% ดังนั้นการมองหาสินทรัพย์และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นดั่งที่หลบภัยจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรทำ และ SCB CIO จัดชั้นให้ Private Equity และ KIKO เป็นพระเอกที่น่าสนใจสำหรับปีนี้ 

 

SCB CIO จัดเวทีสเปเชียลทอล์กร่วมกับ THE STANDARD WEALTH เสวนาในหัวข้อ ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น Fed ลดงบดุล หลบเข้าตลาดไหนดี?’ โดยมี ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ร่วมสนทนา 

 

ศรชัยกล่าวว่า ปี 2564 เป็นปีทองของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากสภาพคล่องค่อนข้างล้นระบบ แม้จะได้ยินคำเตือนว่า Fed ทยอยลด QE อย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยหากเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนในปี 2564 สินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ทั้งหุ้น คริปโตเคอร์เรนซี ล้วนปรับตัวเพิ่มทั้งสิ้น รวมถึง Global REIT และ Private Equity หรือก็คือการลงทุนในหุ้นนอกตลาด ซึ่งให้ได้ผลตอบแทนสูงถึง 18% สูงว่าค่าเฉลี่ยที่ 15% 

 

ในทางกลับกัน สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำหรือติดลบ คือพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากภาพรวมปี 2564 เป็นเทรนด์ดอกเบี้ยขาลง เช่นเดียวกับทองคำที่ให้ผลตอบแทนไม่ประทับใจนัก 

 

หากแบ่งตามภูมิภาคและประเทศ ปี 2564 ประเทศที่โดดเด่นสุดคือเวียดนาม เนื่องจากได้อานิสงส์ด้านการส่งออก ภาคการผลิตสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการบริโภคภายในประทศที่ดีขึ้น ผลักดันให้เห็นการเติบโตของ GDP ที่ชัดเจน ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ก็สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนน่าสนใจ รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง 

 

ขณะที่ ดร.กำพล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนปี 2565 คือ นโยบาย Fed ที่เริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยและเอาสภาพคล่องออกจากระบบ ซึ่งค่อนข้างเซอร์ไพรส์ตลาด เพราะทำเร็วกว่าที่คาดเอาไว้ และส่งอิทธิพลไปยังธนาคารกลางหลายประเทศ 

 

ทั้งนี้ ปี 2564 ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจสำคัญทำ QE กันค่อนข้างมาก แม้แต่ประเทศอินโดนีเซียก็มีการทำ QE ทำให้สภาพคล่องล้นระบบและเป็นตัวแปรผลักดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก จนทำให้เกิดคำถามว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามดูพบว่ายังไม่มีตลาดไหนมีสัญญาณฟองสบู่ที่ชัดเจน แต่มีสินทรัพย์ที่น่ากังวลและควรจับตามองคือ Corporate Bonds โดยเฉพาะ High Yield Bonds 

 

หุ้นสหรัฐฯ อาจปรับฐาน 10% เซ่นพิษ QT 

ศรชัยกล่าวเพิ่มว่า เมื่อเข้าสู่ปี 2565 ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะมีความท้าทายเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องกลับทิศ หลังจากที่ Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน รวมถึงส่งสัญญาณลดขนาดงบดุล ซึ่งหมายความว่าสภาพคล่องที่เคยล้นระบบและเป็นตัวแปรหลักที่ผลักดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงนั้นกำลังหายไป 

 

“ตอนทำ QT ครั้งที่แล้ว หุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากสุด โดยในช่วงปี 2560-2562 ที่ Fed ทำ QT นั้น หุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานลง 10% ในระยะเวลา 6 เดือน ดังนั้นในการทำ QT รอบนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่หุ้นสหรัฐฯ จะปรับฐานอีกครั้ง”​ ศรชัยกล่าว 

 

นอกจากหุ้นสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมากแล้ว กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความอ่อนไหวสูงกับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความผันผวนเชิงลบจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นเท่านั้น

 

5 Megatrends ลดเสี่ยง เพิ่มผลตอบแทน

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ด้วยการเน้นลงทุนในหุ้นที่เติบโตสูง และลงทุนแบบ Themetic ต่างๆ โดย SCB CIO แนะนำลงทุนใน 5 Global Megatrends ดังนี้

 

  1. Arising Asia: กระแสการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคภายในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน จะทำให้รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เติบโตสูง เป็นโอกาสการลงทุนที่ดี 

 

  1. Digital Disruption: การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตจากเทคโนโลยี ทำให้เกิดโอกาสการลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่ 

 

  1. Energy Transition: สืบเนื่องจากปีก่อนหน้าที่ทั่วโลกตระหนักและเร่งมือแก้ไขปัญหา Global Warming การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาดจะเป็นเทรนด์สำหรับทุกธุรกิจ

 

  1. Feeding the World: การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตทรัพยากรที่จะรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในอนาคต เช่น Plant-based 

 

  1. Shifting Lifestyles: โครงสร้างอายุของประชากรที่เปลี่ยนไป เทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพและนวัตกรรมที่เข้ามาเพิ่มคุณภาพชีวิต จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ 

 

นอกจากนี้ยังมี Theme Aerospace ซึ่งเป็นมากกว่าดาวเทียมและยานอวกาศ และ Theme Metaverse ที่น่าสนใจ สามารถลงทุนในระยะยาว โดยสามารถเปรียบได้กับการมองอาณาจักร Tesla เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และมองคริปโตเคอร์เรนซีเมื่อ 8 ปีที่แล้ว 

 

ในการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อหลบความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายนั้น SCB CIO แนะนำลงทุนในหุ้น 35%, Private Equity 35%, พันธบัตรรัฐบาล 15% และ KIKO 15% 

 

“เรามองว่าพระเอกที่ทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี คือมีการลงทุนใน Private Asset

และตราสารหนี้แฝงอนุพันธ์ หรือ KIKO ซึ่งทำงานได้ดีในช่วงที่ตลาดไซด์เวย์” ศรชัยกล่าว

 

‘เทคโนโลยีจีน’ เสน่ห์ฟื้น หลังผ่านจุดพีกรัฐเข้มกฎ

ศรชัยกล่าวว่า SCB CIO มีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นจีน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากมองว่าจีนสามารถแยกออกจากผลกระทบจากการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยได้ค่อนข้างมาก จากการพยายามปรับโครงสร้างประเทศมาในช่วงปีก่อนหน้า เช่น การออกกฎระเบียบคุมธุรกิจเทคโนโลยี การลดความร้อนแรงตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการเน้นเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ 

 

ด้าน ดร.กำพล กล่าวว่า ด้วยประเทศจีนมีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ และมีการถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจไปแล้วในบางธุรกิจ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2565 น่าจะอยู่ในเทรนด์ของการตอบรับข่าวร้ายต่อเนื่อง และคาดหวังข่าวดีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 

 

กล่าวคือ นักลงทุนจะคาดหวังว่าจีนจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายมากขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจประกาศออกมาพบว่าชะลอตัวมาก จนกระทั่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปีนี้ไม่ถึง 5% เทียบกับที่รัฐคาดหวังการเติบโตที่ 5.5%

 

โดยกลุ่มที่น่าสนใจลงทุนในจีนคือกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจัยเรื่องปรับกฎระเบียบผ่านจุดพีกไปแล้ว 

 

‘เวียดนาม’ โดดเด่นรับ GDP โต ขณะที่หุ้นยังถูก

ดร.กำพล กล่าวว่า ในภาพรวมด้านเศรษฐกิจ ประเทศเวียดนามได้อานิสงส์มาตั้งแต่ Tech War ที่ทำให้เวียดนามส่งออกได้ดี อีกทั้งเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายๆ อย่าง เช่น โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ค่าจ้างแรงงาน จำนวนแรงงาน และทักษะแรงงาน ซึ่งทำให้การเติบโตของอุปสงค์ในประเทศตามมาด้วย

 

นอกจากนี้เวียดนามยังแสดงศักยภาพในการบริหารจัดการโควิดได้ค่อนข้างดี โดยล่าสุดมีอัตราผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดจำนวน 2 เข็ม ถึง 70% แล้ว ซึ่งสะท้อนว่าการเติบโตภาคการผลิต กำลังซื้อ และการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จะสนับนนุนการเติบโตของ GDP ได้ดีขึ้น ในมุมของการลงทุนนั้น แม้หุ้นเวียดนามจะปรับเพิ่มขึ้นเยอะในปี 2564 แต่ค่า PE ของหุ้นเวียดนามยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับ PE กลุ่ม TIPs 

 

ขณะที่ศรชัยกล่าวว่า เวียนดนามเป็นประเทศ Frontier ที่กำลังจะปรับเข้าสู่ Emerging Market ซึ่งจะมีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าลงทุนอีกมากถ้าได้ปรับมาเป็น Emerging Market เพราะฉะนั้นใน 1-2 ปีข้างหน้า ตลาดหุ้นเวียดนามยังไปได้ต่อจากแรงส่งของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ

 

จับตา ‘โควิด’ กดดันภาคท่องเที่ยว

ดร.กำพลกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2565 จะเริ่มเห็นความแตกต่างของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่น้อยลง อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกในภาคธุรกิจ พบว่าปัจจัยจากโควิดยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อบางธุริจ เช่น ธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการเดินทางและการรวมตัวกันของผู้คนจะฟื้นตัวอย่างจำกัด จนกว่าโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นจริงๆ 

 

“แต่เว้นประเทศจีนที่มีนโยบาย Zero COVID ซึ่งก็ต้องติดตามว่าเมื่อไรที่จีนจะผ่อนคลายมาตรการในเรื่องนี้ โดยนโยบายนี้จัดเป็นความเสี่ยงขาลงสำหรับประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวจีน เช่น ประเทศไทย” ดร.กำพลกล่าว

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X