×

SCB CIO ประเมิน ‘Fed’ เริ่มทยอยลด QE พ.ย. นี้ จับตาเงินไหลเข้าตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ส่วนหุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดันจากโควิด แนะชิงขายทำกำไร

28.08.2021
  • LOADING...
SCB CIO

ในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ทาง เจอโรม พาวเวลล์ ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า Fed จะเริ่มลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (QE) ก่อนสิ้นปีนี้ แต่จะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ตอกย้ำภาพที่ชัดเจนว่า Fed ยังเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องไปอีกระยะ

 

โดย ศรชัย สุเนต์ตา CFA ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB-CIO และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุถึงสัญญาณของ Fed ว่า ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ทำให้ตลาดไม่ตื่นตกใจเหมือนการลด QE ในปี 2013

 

“เมื่อคืนที่ผ่านมา Fed สื่อสารได้ดีมาก พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวมาถึงจุดที่ไม่จำเป็นต้องพึ่ง QE แล้ว ส่วนเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นก็เป็นภาวะชั่วคราว จาก Pent Up Demand ในกลุ่มสินค้าคงทน ก่อนหน้านี้ก็มีการสื่อสารออกมาเป็นระยะ เหมือนนวดตลาดให้เตรียมความพร้อม ทำให้ตลาดไม่ตกใจ เห็นได้จากบอนด์ยีลด์ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงศรชัยกล่าว

 

ศรชัยกล่าวว่า จากถ้อยแถลงของ Fed ทำให้ประเมินว่า Fed อาจส่งสัญญาณถึงการลด QE อีกครั้งในเดือนกันยายน โดยจะเริ่มต้นลดจริงในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งขนาดของการลดน่าจะอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6-8 เดือน หมายความว่า QE Tapering จะสิ้นสุดลงในช่วงไตรมาส 3 ของปีหน้า จากนั้น Fed น่าจะใช้เวลาดูผลกระทบอีกอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย

 

นอกจากนี้ ศรชัยยังกล่าวด้วยว่า แม้ตลาดจะเกิดความผันผวนน้อยกว่าเมื่อปี 2013 แต่การไหลออกของเงินจากตลาด Emerging Market หรือ EM ซึ่งรวมถึงไทยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเชื่อว่าเงินจากตลาด EM จะไหลกลับไปยัง Developed Market หรือตลาดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนเป็นหลัก แต่อาจมีบางส่วนที่ไหลไปยังตลาดประเทศกลุ่ม EM ที่ยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแรง เช่น เวียดนาม ที่มูลค่ายังถูกกว่าหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาด EM อื่นๆ

 

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้มองว่ายังต้องระมัดระวังเป็นบางจุด โดยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อาจปรับขึ้นจาก 1.3% ไปที่ 1.6% จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงเพราะยีลด์ต่ำ เช่นเดียวกับพันธบัตร MBS ที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกันเพราะจะไม่มีการซื้อเพิ่มแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีตราสารที่น่าสนใจคือกลุ่มไฮยีลด์ระยะสั้น

 

ด้านทองคำมองว่า เมื่อการลด QE เริ่มขึ้นจริงและเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มลดลง จะทำให้เงินไหลออกจากตลาดทองคำไปยังตลาดหุ้นและพันธบัตรที่ผลตอบแทนจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้ทองคำไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่น่าลงทุนและควรหลีกเลี่ยง

 

ส่วนการลงทุนในหุ้นจีนแนะนำให้หลีกเลี่ยงกลุ่ม H-Share เพราะได้รับผลกระทบสูงจากความพยายามจัดระเบียบของทางการจีน อย่างไรก็ดี กลุ่ม A-Share มองว่ายังถือได้ และยังมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐอยู่ เช่น กลุ่ม Green Energy

 

สำหรับสกุลเงินในกลุ่มประเทศ EM รวมถึงเงินบาท จะถูกกดดันจาก QE Tapering และการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจในประเทศในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปถึงระดับ 33.5-34 บาทต่อดอลลาร์ แต่จะไม่อ่อนค่ารวดเร็วเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หุ้นไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกมีความน่าสนใจ 

 

ด้าน กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมองว่าจะได้รับผลกระทบจาก QE Tapering ไม่แรงมาก เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้เงินต่างชาติไม่ได้ไหลเข้ามาเยอะ 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงเรื่องการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดที่ยังดูไม่ดีนัก ซึ่งต้องนำปัจจัยนี้มาพิจารณาด้วย โดยจะเห็นว่านักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยต่างๆ ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ไทยลงแล้วหลายครั้ง แต่ตัวเลขคาดการณ์ Earning ของ SET ยังไม่ถูกปรับ

“ตัวเลขคาดการณ์ Earning ของ SET มีความเสี่ยงจะถูกปรับลงในไตรมาส 3 จากมาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ โดยหุ้นกลุ่มที่เรามองว่าควรหลีกเลี่ยงคือ กลุ่ม Domestic Play หากราคามีการปรับขึ้นแนะนำให้ทยอยขายทำกำไร ขณะที่หุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกคือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มวัฏจักรและพลังงาน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X