SCB CIO เปิด 3 ฉากทัศน์ กรณีความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ระบุฉากทัศน์ที่เป็นไปได้มากสุดคือ ความขัดแย้งยังไม่จบในระยะสั้น แต่ไม่รุนแรง ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะยังเติบโตต่อไปได้
ชาตรี โรจนอาภา CFA, FRM Head of Investment Consultant SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในรายการ Morning Wealth วันนี้ (19 เมษายน) เกี่ยวกับสงครามระหว่างอิหร่านและอิสราเอลที่ปะทุต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดย SCB CIO ประเมินความเป็นไปได้ไว้ 3 กรณี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนแตกต่างกันออกไป
โดยกรณีฐานหรือ Base Case ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นจริง 70% โดยกรณีฐานหมายถึง
- สถานการณ์ความขัดแย้งยังไม่จบในระยะสั้น แต่ไม่รุนแรง
- การโจมตีของอิหร่านเป็นเชิงสัญลักษณ์ และได้แจ้งเตือนล่วงหน้า
- อิสราเอลจะไม่ตอบโต้กลับรุนแรง เพราะขาดการสนับสนุนจากสหรัฐฯ หรือหากโต้กลับจะเป็นแบบไม่เป็นทางการและจำกัดเฉพาะจุด โดยอาจต่อสู้กับกลุ่มอื่นๆ เช่น ฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน
- สหรัฐฯ ไม่สนับสนุนอิสราเอลตอบโต้กลับอิหร่าน จากต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสงครามที่สูง กระทบราคาน้ำมัน และลดความเสี่ยงในช่วงใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ
- เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ตามคาด โดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่มากนัก
- ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อจำกัด
- อัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลงได้เล็กน้อย
สำหรับกรณีฐาน ผลกระทบต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้นในระยะสั้น (ประมาณ 1 เดือน) UST Yield โดยเฉพาะระยะสั้น ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยจ่าย (Current Yield) ที่สูง
ส่วนเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจาก Fed ไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย และความกังวลบน Geopolitical Risks และตลาดหุ้นโลกมีโอกาสปรับฐานในระยะสั้น โดยเฉพาะตลาดหุ้น DM ที่ Valuation ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่แพง
“ถ้าเป็นกรณีพื้นฐาน ซึ่งเรามองว่าจะเป็นไปได้มากสุด ภาพของเศรษฐกิจโลกจะโตต่อไปได้ แม้จะมีการตอบโต้กันทางสื่อหรือช่องทางอื่นๆ ก็จะกระทบแค่ช่วงสั้นๆ สุดท้ายก็จะกลับมาเติบโตต่อได้” ชาตรีกล่าว
กรณี Worse Case ซึ่งมีแนวโน้มน่าจะเกิดขึ้นจริง 20% โดยบริบทของ Worse Case หมายถึง
- สงครามตัวแทน (Proxy War) โดยการสู้รบยืดเยื้อไปสู่เลบานอนและซีเรีย และอาจมีการโจมตีทางอากาศในอิหร่านและอิสราเอล
- สหรัฐฯ อาจกลับมาคว่ำบาตรต่ออิหร่านอีกครั้ง ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ
- Fed และธนาคารกลางอื่นๆ อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้วจากความกังวลเงินเฟ้อ
สำหรับผลกระทบกรณีเกิด Worse Case สินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นผันผวนสูง และมีแนวโน้มปรับลดลง ส่วน UST Yield ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดการณ์เดิม ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจาก Fed ไม่ปรับลดดอกเบี้ย และความกังวลบน Geopolitical Risks
สำหรับฉากทัศน์สุดท้ายคือ Worst Case ซึ่งประเมินว่ามีโอกาสเกิดขึ้นจริง 10% โดยจะต้องมีบริบทดังนี้
- สงครามเกิดขึ้นจริง (Full-Blown War) สถานการณ์การสู้รบยืดเยื้อรุนแรง อิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นทางเข้า-ออกอ่าวเปอร์เซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อรุนแรง
- แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อสูงเพิ่มขึ้น กระทบกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
- Fed และธนาคารกลางอื่นๆ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
สำหรับผลกระทบกรณีเกิด Worst Case สินทรัพย์เกือบทุกประเภทมีแนวโน้มถูกเทขาย, UST Yield มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น, ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย