×

SCB Abacus ชี้โจทย์ใหญ่สินเชื่อดิจิทัลไทย ต้องเร่งรัฐทำโครงสร้างกลาง-เพิ่มการแข่งขัน-ทางเลือกให้ลูกค้า

26.11.2020
  • LOADING...
SCB Abacus

2-3 ปีมานี้ธุรกิจธนาคารปรับตัวกับคลื่นลูกใหญ่อย่างดิจิทัลดิสรัปชันมาต่อเนื่อง ทุกแบงก์ก็ปรับตัวด้วยการใช้ดิจิทัลกับทุกส่วน ทั้งช่องทางการเข้าถึงลูกค้า ระบบหลังบ้าน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ดิจิทัลอย่างสินเชื่อออนไลน์ หรือสินเชื่อดิจิทัล 

 

ที่จริงแล้วสินเชื่อดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก บางประเทศเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เช่น Alibaba ในจีน ซึ่งจะใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซพฤติกรรมในการซื้อขาย และนำมาตั้งวงเงินให้ลูกค้าขอสินเชื่อได้ ฯลฯ 

 

แต่ในไทยต้องยอมรับว่าสินเชื่อดิจิทัลยังไม่แพร่หลายขนาดนั้น แม้ว่าคนจะเริ่มคุ้นเคยกับธุรกรรมออนไลน์แล้ว เพราะอะไร? 

 

สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด กล่าวว่า สินเชื่อดิจิทัลที่เกิดขึ้นในไทยตอนนี้ยังมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ซึ่งการจะทำให้ทั้งกระบวนการหน้าบ้าน-หลังบ้านเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ ยิ่งถ้าทำในวงกว้างยิ่งยาก เพราะโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในไทยยังไม่พร้อม ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานอย่าง NDID เริ่มใช้ได้จริง จะทำให้สินเชื่อดิจิทัลเข้าถึงคนในวงกว้างได้มากขึ้น 

 

ทั้งนี้ ถ้าดูรูปแบบการพัฒนาสินเชื่อดิจิทัลทั่วโลกในสิบปีนี้พัฒนาไปมาก เพราะสมาร์ทโฟนทำให้การเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น คนมีความต้องการความเร็ว ความสะดวกในทุกกิจกรรมของชีวิต ซึ่งแต่ละประเทศมีโจทย์ที่แตกต่างกัน ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากช่องว่างของธุรกิจการบริการ และให้บริการได้ไม่ทั่วถึง  

 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่ธุรกิจธนาคารควบคุมดอกเบี้ยมาก ทำให้การปล่อยสินเชื่อรายย่อยยาก ทำให้ Non-Bank ทำแพลตฟอร์มเข้ามาสู่ตลาด โดยเริ่มจากให้บริการด้านอื่นๆ เช่น การชำระเงิน แชต ไปสู่การให้สินเชื่อ ขณะที่ในสหรัฐฯ การเข้าถึงบริการทางการเงินง่าย เลยทำให้บริการด้านดิจิทัลขยับในส่วนที่ตลาดยังขาด เช่น เกิด Uber, Airbnb ขึ้นมา ส่วนอินโดนีเซีย แอฟริกา ที่เดินทางลำบาก จึงมี Telecom ที่เป็นตัวเชื่อมบริการต่างๆ ทั้งการชำระเงิน ไปจนถึงสินเชื่อดิจิทัล

 

 

ในส่วนของไทย โจทย์ใหญ่ที่หลายฝ่ายและ SCB Abacus ทำอยู่คือ การเชื่อมต่อกับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการ และบริการทางการเงิน ที่มีอยู่กว่า 30 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อมูลทางการเงินน้อย เช่น พ่อค้าแม่ค้า นักศึกษา ฯลฯ

 

“ตอนนี้หนี้ครัวเรือนในประเทศไทย กว่า 80% มีการกู้ (ร่วม) จากสินเชื่อนอกระบบอยู่ หรือกึ่งนอกระบบ ซึ่งตัวเลขนี้มหาศาล และแปลว่าปัจจุบันบริการสินเชื่อยังเกาะอยู่ในกลุ่มที่เล็กมาก และมีคนที่ยังเข้าไม่ถึงอีกมาก” 

 

ดังนั้นดิจิทัลจะมาช่วยโดยการใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน เช่น พฤติกรรมความสม่ำเสมอในการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ มาให้ AI วิเคราะห์ความเสี่ยง และความสามารถในการชำระเงิน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการปล่อยสินเชื่อกับลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน 

 

“เราทำเงินทันเด้อ (สินเชื่อออนไลน์) มาเกือบปีแล้ว เราก็รู้สึกว่าเราค่อนข้างมีศักยภาพในการแยกแยะเรื่องของความเต็มใจในการจ่ายของคน กับความสามารถในการชำระเงิน ทำให้เราเจาะเข้าไปในตลาด ซึ่งธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปไม่สามารถที่จะลงไปให้บริการได้เต็มที่ เราจึงรู้สึกว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสอีกมาก ซึ่งเริ่มเปิดบริการใน 77 จังหวัดตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปี 2562 ซึ่งมีผู้ดาวน์โหลดแอปฯ นี้กว่า 1.2 ล้านคน มียอดแอ็กทีฟราว 5 แสนคน”

 

ความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะพัฒนาสินเชื่อดิจิทัลคือ ข้อมูลที่จะนำมาใช้ยังมีน้อย และยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่จะเชื่อมข้อมูลทั้งรัฐ เอกชน แต่ต้องอยู่ภายใต้การอนุญาตของเจ้าของข้อมูล ดังนั้นหาก NDID เริ่มใช้จริง จะเป็นก้าวสำคัญที่อาจจะทำให้สินเชื่อดิจิทัลโตแบบก้าวกระโดด

 

หากมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลพัฒนาขึ้น จะทำให้ผู้แข่งขันทั้งเจ้าเล็ก-ใหญ่สามารถออกบริการได้หลากหลาย และการแข่งขันจะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการใช้บริการด้วย โดยงานวิจัยจาก McKinsey คาดว่า ดิจิทัลเลนดิ้งในไทยจะขยายตัวเฉลี่ย 25% ต่อปี

 

แต่การพัฒนาของสินเชื่อดิจิทัลต้องมาคู่กับ Digital literacy คือมีความเข้าใจในสิทธิของตนเอง และสามารถทำธุรกรรมง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง 

 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดสินเชื่อดิจิทัลยังต้องพัฒนาผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลในการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อในความเสี่ยงที่เหมาะสม โดย SCB Abacus มีพันธมิตรเจ้าใหญ่ในหลายธุรกิจ เช่น Telecom, Retail และ E-Commerce และยังมองหาธุรกิจอื่นๆ เพื่อต่อยอดการอันเดอร์ไรต์ในรูปแบบใหม่ๆ และทำความเข้าลูกค้าแต่ละกลุ่ม 

 

โดยเร็วๆ นี้ทางบริษัทเตรียมตัวออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งต้องยอมรับว่าสินเชื่อดิจิทัลยังกระจุกตัวอยู่ในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งจะตอบโจทย์ความเร็วในการอนุมัติ โดยระยะเวลาในการกู้จะไม่ยาวมาก สูงสุดที่ราว 12 เดือน  และเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม (ค่อนข้างสูงกว่าสินเชื่อมีหลักประกัน)

 

“ตอนนี้เราคิดว่าตลาดไทยยังเป็นบ่อ Blue Ocean อยู่มาก เรามองว่าตลาดนี้ยังขยายได้อีกเยอะ แล้วเฉพาะเซกเมนต์ที่เป็น Underserve ก็ใหญ่มาก มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ค่องข้างสูง ซึ่งตอนนี้เราก็รอ NDID ที่ยังไม่เกิดสักที แต่หวังว่าจะเกิดเร็วๆ นี้”

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X