×

ไทยพาณิชย์เปิดกลยุทธ์ปี 2568 เร่งลดต้นทุนการดำเนินงานเพื่อรับมือศึก Virtual Bank พร้อมนำ AI ยกระดับการทำงานทุกภาคส่วน

29.11.2024
  • LOADING...
Virtual Bank

ไทยพาณิชย์เปิดกลยุทธ์ปี 2568 สานต่อกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch หวังสร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตแข็งแกร่ง และเดินหน้าลด Cost to Income ให้ใกล้เคียง Virtual Bank ที่ระดับ 30% เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคต พร้อมนำ AI เข้ามายกระดับการทำงานในทุกส่วน 

 

กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยว่า ปี 2568 ธนาคารจะดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch โดยมุ่งสร้างการเติบโตธุรกิจและพัฒนากระบวนการภายใน (Scale & Operate) ให้เป็นธนาคารดิจิทัลที่เหนือกว่าทั้งเทคโนโลยีและบริการ เพื่อเป็นรากฐานไปสู่องค์กรยั่งยืนจากนี้ จึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้น 

 

โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพใน 3 ส่วน ได้แก่ การมอบคุณภาพให้ลูกค้าด้วยบริการที่ตรงใจ การยกระดับคุณภาพขององค์กร และการสร้างพนักงานที่มีคุณภาพ ผ่านการปรับโครงสร้างและวิถีการทำงาน สร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

Virtual Bank

 

 

โดยจะดำเนินการบน 3 แนวทาง ดังนี้ 

  1. ปรับโครงสร้างการดูแลลูกค้าโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยควบรวมช่องทางให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อมอบประสบการณ์ไร้รอยต่อให้เกิดขึ้นจริง ทั้งยังสร้างความคล่องตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม 

 

  1. วางรากฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เร่งเสริมความสามารถทางด้านดิจิทัลและ AI ให้ครอบคลุมทั้งองค์กร และแบ่งทีมดิจิทัลเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI & Data Intelligence (Center of Excellence: CoE) เป็นศูนย์กลางสนับสนุนการพัฒนาทางด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ และอีกส่วนหนึ่งจะถูกจัดลงสู่ทีมธุรกิจเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของแต่ละกลุ่มธุรกิจให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างแท้จริง 

 

  1. เสริมศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้โจทย์ เร็ว ดี มีนวัตกรรม เพื่อให้รูปแบบการทำงานแบบใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง และไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบเฉพาะบุคคล (Hyper-Personalization)

 

สำหรับความท้าทายในปี 2568 ภาคการธนาคารยังต้องเผชิญกับ 3 ความท้าทายคือ 

  1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง โดยคาดว่าการเติบโตของ GDP จะอยู่ที่ 2.4% 
  2. ระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูง ซึ่งเพิ่มความท้าทายในธุรกิจสินเชื่อมากขึ้น 
  3. เทรนด์ AI และกฎกติกาด้าน ESG ยังคงมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 ซึ่งเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญในระบบการเงินของไทย 

 

กฤษณ์กล่าวว่า ธนาคารจะมุ่งรักษาผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ให้อยู่ในระดับสองหลักต่อเนื่อง รวมถึงตั้งเป้าหมายเป็นอันดับหนึ่งด้าน Wealth Wallet Share ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ดิจิทัลแตะ 25% ของรายได้รวมในปี 2568 จากสิ้นปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับ 15% และเดินหน้าปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ให้ได้ตามเป้าหมายที่ 1.5 แสนล้านบาทภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1.3-1.4 แสนล้านบาท

 

“ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นธนาคารที่มี ROE และ SMEs สูงเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม และเราพยายามที่จะรักษาระดับที่ 1 เอาไว้ให้ได้ แล้วพยายามผลักดันอีก 2 กลุ่มคือ Wealth และดัชนีชี้วัดความพึงพอใจและความผูกพันกับแบรนด์ของผู้บริโภค (Net Promoter Score: NPS) ให้ขึ้นสู่อันดับ 1 เช่นกัน”

 

สำหรับในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารยังคงรักษาการเติบโตของกำไรได้ต่อเนื่องที่ระดับกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) เติบโตสูง สามารถสร้างรายได้จากการขายเฉพาะประกันผ่านธนาคาร (Bancassurance) และกองทุนรวมถึง 19% จึงมั่นใจว่าสิ้นปีนี้รายได้จากธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตได้สูงถึง 20%

 

เดินหน้า Cost ตั้งรับ Virtual Bank

 

สำหรับการให้ใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ธนาคารไทยพาณิชย์มีการเตรียมพร้อมตัวเองให้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยการนำดิจิทัลเข้ามาช่วยในกลุ่มลูกค้ารายเล็ก และใช้พนักงานบริการลูกค้าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมาก รวมถึงการบริหารจัดการ Cost to Income ให้อยู่ในระดับต่ำลงให้ใกล้เคียงกับ Cost to Income เฉลี่ยของ Virtual Bank ที่อยู่ในระดับ 30%ให้มากที่สุด 

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าต้องใช้เวลาและมีความยากลำบากมากขึ้น โดยธนาคารจะต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติงานหลัก (Core Banking System), ระบบ AI, การพัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมถึงระบบคลาวด์ตามแผนของบริษัทแม่ เป็นต้น

 

“เรามองว่าการมาของ Virtual Bank ปัจจุบัน 90% ยังขาดทุน และในสภาวะที่หนี้ครัวเรือนของไทยสูงขนาดนี้ 89% ถ้ารวมนอกระบบกว่า 100% ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเชิงการเพิ่มรายได้ แล้ววัตถุประสงค์ที่จัดตั้ง Virtual Bank ขึ้นมาก็เพื่อรองรับกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อนั้นจะสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ขนาดไหน เช่นเดียวกันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเคร่งครัดกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งดังกล่าวขนาดไหน หากไม่เคร่งครัดการแข่งขันก็จะขยับเข้ามาใกล้ธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเร็วขึ้น แต่ถ้าเคร่งครัดเราก็จะมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราเองก็เตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง”

 

มอง GDP ไทยปีนี้โต 2.7% ส่วนปีหน้าโต 2.4% 

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่า GDP จะขยายตัว 2.7% ขณะที่ปี 2568 เศรษฐกิจไทยอาจโตลดลง โดยคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่ระดับ 2.4% เนื่องจากประเมินว่าประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าโลกที่น่าจะรุนแรงขึ้นหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และมีท่าทีว่าจะเริ่มตั้งกำแพงภาษีกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น 

 

ขณะเดียวกันการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟส 2 จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้ใช้ช่วยแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศไทยที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง 

 

“ดังนั้นในปีหน้าความท้าทายจากลูกค้ารายย่อยยังมีอยู่ ส่วนเรื่องของการลดดอกเบี้ย เราคาดการณ์ว่าจะลด 1 ครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 2% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้ช่วยสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารพาณิชย์มากนัก เรียกได้ว่าปีหน้ายังมีความเปราะบางในกลุ่มลูกค้ารายย่อยพอสมควร” กฤษณ์กล่าว

 

รัดกุมการขยายสินเชื่อ-ขายหนี้เสีย

 

จากความท้าทายดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้ภาคธนาคารระมัดระวังตัวการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อีกทั้งต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีบางกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด จึงเชื่อว่าทุกธนาคารในตอนนี้จะพยายามทำทุกทางเพื่อให้เกิด Soft Landing 

 

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์จะต้องตั้งสำรองมากขึ้นหรือไม่ กฤษณ์กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินการเรื่องการตั้งสำรองอย่างเหมาะสมและรัดกุมมาโดยตลอด การตั้งสำรองในปีหน้าจึงน่าจะใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญจากนี้ไปคือธนาคารจะทำอย่างไรให้ลูกค้าสินเชื่อใหม่มีความเข้มแข็ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของธนาคาร และในส่วนของลูกค้าเดิมที่ยังไม่ได้เป็นหนี้เสียแต่มีความเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง Stage 1 และ 2 ธนาคารจะทำอย่างไรให้ลูกค้ากลุ่มนี้อยู่รอด ซึ่งนโยบายที่ ธปท. จะแถลงในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ น่าจะให้คำตอบได้ 

 

อีกเรื่องที่ต้องบริหารจัดการคือการขายหนี้ ซึ่งหากลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่าไปไม่รอด ธนาคารก็ต้องพิจารณาขายหนี้ออกไป ซึ่งเชื่อว่าทุกธนาคารน่าจะกำลังพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะปล่อยขายหนี้เมื่อไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

“3 เรื่องนี้จะเป็นตัวแปรของบรรทัดสุดท้ายของทุกธนาคารในปีหน้า” กฤษณ์กล่าว 

 

 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X