อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า ปี 2564 นี้ ธนาคารมองทิศทางเศรษฐกิจและแนวโน้มดีขึ้น จากเซนติเมนต์ต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทางธนาคารยังจะมุ่งปรับตัวผ่านการ Lean องค์กร ด้วยการลงทุนในจุดที่จำเป็น เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนขององค์กรลง ซึ่งในปี 2564 ตั้งเป้าหมายการลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน (Cost) ลงอีกราว 10% หรือมากกว่านั้น โดยปี 2563 มี Cost อยู่ที่ราว 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่อยู่ราว 7.1 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังโควิด-19 มานี้ ธนาคารยังมุ่งธุรกิจหลักของธนาคาร (สินเชื่อ) และจะหารายได้ผ่านธุรกิจใหม่ๆ เช่น Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี จะเป็นกลไกในการสนับสนุนส่วนงานธุรกิจด้านอื่นๆ และเร็วๆ นี้จะมีโปรเจกต์ใหญ่ที่เชื่อมโยง Robinhood และธุรกิจหลักขององค์กร
นอกจากนี้ ด้านการจ่ายเงินปันผลของธนาคาร หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมการจ่ายปันผลเมื่อปี 2563 (การเตรียมความพร้อมรับมือโควิด-19) คาดว่าปีนี้จะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลในระดับเดิม โดยต้องรอดูความชัดเจนจาก ธปท. ในเดือนเมษายน 2564 หากมีการอนุญาตให้จ่ายปันผลได้ ก็คาดว่าปีนี้จะสามารถจ่ายเงินปันผลงวดระหว่างกาลได้
อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบโควิด-19 ทางธนาคารรร่วมมือกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ในโครงการ ‘SANSIRI x SCB: BUILD FOR ALL สร้างไปด้วยกัน’ ที่จะเน้นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายให้วงเงินสินเชื่อธุรกิจรวม 1 พันล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือ SMEs 1,000-2,000 ราย อัตราดอกเบี้ย 1.99% ในช่วง 3 เดือนแรก ในผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นลูกค้าแสนสิริ และคู่ค้าซัพพลายเชนผู้ประกอบการในเครือข่ายแสนสิริ การให้ความรู้ SMEs ในการลดต้นทุน และจับคู่ทางธุรกิจให้ SMEs รวมถึงการสนับสนุน SMEs กลุ่มอาหารเข้าสู่ Robinhood
พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า สถานการณ์ SMEs ไซส์กลางที่มีรายได้ 75-500 ล้านบาท ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ SMEs ที่ขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลดลงมาอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท จากปี 2563 ที่ขอรับความช่วยเหลือราว 1.6 แสนล้านบาท
“ต้องยอมรับว่ากลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องคือภาคท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ยังต้องรอสถานการณ์ภาพรวมให้ดีขึ้น ธนาคารจึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือหลายรูปแบบ อย่างการขยายเวลาชำระหนี้ สินเชื่อหมุนเวียน คาดว่าไตรมาส 3/64 จะกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ”
ทั้งนี้พอร์ตสินเชื่อ SMEs ไซส์กลางของ SCB อยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท และปี 2564 ตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 4 หมื่นล้านบาท โดยราวครึ่งหนึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนซึ่งระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะควบคุมไม่ให้เกิน 12% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีก่อน (ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่ 9-10%)
อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารต้องติดตามความคืบหน้ากรณีการปรับปรุงเงื่อนไขซอฟต์โลน (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) และ Asset Warehousing หรือโกดังแก้หนี้ ที่เป็นความร่วมมือจาก ธปท. กระทรวงการคลัง และสมาคมธนาคารไทย คาดว่าเดือนนี้เรื่องโกดังแก้หนี้น่าจะมีความชัดเจน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล