×

Scandal at Bridgerton: ผู้หญิง เซ็กซ์ แฟชั่น และเรื่องฉาวในคราวไม่มีอะไรจะทำ

27.01.2021
  • LOADING...
Scandal at Bridgerton

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • Bridgerton โดดเด่นและเต็มไปด้วยความฉลาดคมคายในการนำเสนอประเด็น ‘น้ำเน่า’ ของแวดวงสังคมชั้นสูง ผ่านการเคลือบหน้าตาของเรื่องเล่าให้สวยงามราวเทพนิยายด้วยฉากและเครื่องแต่งกายอันหรูหราฟู่ฟ่าของยุครีเจนซีแบบอังกฤษ (Regency Era) ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระยะสั้นๆ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนที่ยุโรปจะหมุนเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว
  • การเก็บรายละเอียดที่น่าสนุกของซีรีส์เรื่องนี้อยู่ที่การอ่าน ‘วิธีการ’ ที่บรรดาตัวละครในบ้านบริดเจอร์ตันแต่ละคนพยายามจะแหกกฎออกจากกรอบอันว่างเปล่าไร้สาระ เช่น พี่ชายคนโต แอนโทนี ที่หลงรักนักร้องโอเปราและพยายามถ่วงเวลาของการกลับมาทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว, เบเนดิกต์ ผู้ปรารถนาจะเป็นศิลปินและมีชีวิตอิสระ, ดาฟเน ผู้เชื่ออย่างแรงกล้าว่าการแต่งงานนั้นต้องเกิดขึ้นจากรักแท้ และเอโลอีส ผู้ปฏิเสธการเลาะตะเข็บชายกระโปรงเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นหญิงสาว
  • Bridgerton ยังแหกกฎละครชวนฝันและเชิดชูการพูดถึงเรื่องเพศผ่านมุมมองของผู้หญิงด้วยการให้ตัวละครชายกลายเป็นฝ่ายที่จะต้องถูกเปลือยกายให้จับจ้องอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฉากคืนแต่งงานที่โรงแรมชนบท ซึ่งดาฟเนมองร่างเปลือยของดยุกอย่างตะลึงพรึงเพริด ก่อนที่เธอจะเริ่มสงสัยถึงสาเหตุแห่งการจบกิจกรรมบนเตียงแบบแปลกๆ ของเขา จนต้องไปถามหาความกระจ่างเรื่องเซ็กซ์จากสาวใช้ (อีพี 6) กระทั่งนำมาสู่ฉากที่เธอโกรธเมื่อรู้ความจริง และแก้แค้นด้วยการควบคุมให้เขาต้องถึงจุดสุดยอดภายในตัวเธอ ขณะที่เธอเฝ้าจับจ้องทุกช่วงขณะที่เขาอ่อนแอที่สุดนั้นราวกับผู้ชนะ 

 

Scandal at Bridgerton

 

ผู้อ่านที่รัก

 

หลังจากที่ Bridgerton ซีรีส์เรื่องใหม่จาก Netflix ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายโรแมนติกของ จูเลีย ควินน์ กลายเป็นกระแสโด่งดังในชั่วข้ามคืน เพราะส่วนผสมของเนื้อเรื่องอันสนุกสนานชวนฝันที่สามารถผสานเข้ากับเสน่ห์อันท่วมท้นล้นจอของนักแสดงนำได้อย่างลงตัว จนถึงขั้นเกิดเป็นปรากฏการณ์คลั่งดยุกแห่งเฮสติงส์ที่ลามออกมานอกจอ 

 

ผู้เขียนพบว่าซีรีส์เรื่องนี้ยังมีดีมากกว่านั้น เพราะ Bridgerton โดดเด่นและเต็มไปด้วยความฉลาดคมคายในการนำเสนอประเด็น ‘น้ำเน่า’ ของแวดวงสังคมชั้นสูง ผ่านการเคลือบหน้าตาของเรื่องเล่าให้สวยงามราวเทพนิยายด้วยฉากและเครื่องแต่งกายอันหรูหราฟู่ฟ่าของยุครีเจนซีแบบอังกฤษ (Regency Era) ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระยะสั้นๆ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนที่ยุโรปจะหมุนเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ผ่านเรื่องราววุ่นวายของบรรดาพี่น้องตระกูลบริดเจอร์ตัน ในวันที่ ดาฟเน ลูกสาวคนโต (หรือลำดับที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน) จะต้องก้าวเข้าสู่งานเดบูตองต์เพื่อเปิดตัวกับพระราชินีและบรรดาชนชั้นสูงในฐานะของสาวโสดผู้พร้อมจะมีคู่และออกเรือน

 

Scandal at Bridgerton

 

The Art of Doing Nothing                                                    

ทว่าการจะดูซีรีส์เรื่องนี้ให้สนุก ผู้เขียนจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการพาผู้อ่านย้อนกลับไปสมัยยุโรปยุคกลาง ในช่วงที่การปกครองแบบศักดินา (Feudal System) เป็นแนวคิดทางการปกครองสำคัญที่ผูกโยงระบบเศรษฐกิจเข้ากับอำนาจการถือครองที่ดินผ่านการแบ่งคนในสังคมออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ อันได้แก่ กษัตริย์ ขุนนาง และชาวนา โดยมีกษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด แล้วกระจายพระราชอำนาจผ่านการยกที่ดินให้กับขุนนางและชนชั้นสูงเพื่อแลกกับการทำความดีความชอบและการถวายความจงรักภักดี 

 

ในขณะที่ชาวนาและชนชั้นล่างต้องอาศัยทำกินบนผืนดินซึ่งพวกเขาไม่มีสิทธิ์ครอบครอง แล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้นั้นส่งเป็น ‘ส่วย’ ให้กับขุนนางและกษัตริย์เพื่อแลกกับการได้มีอาชีพและมีที่ซุกหัวนอน อย่างที่เราจะได้เห็นในซีรีส์เมื่อคราวที่ดาฟเนเดินทางไปใช้ชีวิตที่ปราสาทไคลฟ์ดอนกับดยุกแห่งเฮสติงส์ แล้วต้องเผชิญกับข้อร้องเรียนของชาวบ้านจากประเด็นเรื่องการเก็บค่าเช่าที่ดินที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงกรณีการตัดสินหมูในงานเทศกาลประจำหมู่บ้านที่ส่งผลให้ชาวบ้านถึงกับ ‘งอน’ เพียงเพราะเธอสงสารหมูมากกว่าปากท้องคนทำกิน

 

แนวคิดการปกครองที่ถ่างระยะห่างของคนออกจากกันเช่นนี้เองที่ผลิตเป็นความเชื่อว่าคนชั้นล่างจำต้องทำงานหนัก ในขณะที่คนรวยผู้เป็นเจ้าของที่ดินสามารถอยู่เฉยๆ ได้โดยไม่ต้องทำอะไร จน ‘การนั่งๆ นอนๆ ทั้งวัน’ (Idleness) กลายเป็นอภิสิทธิ์สำคัญ (Privilege) ที่ชนชั้นสูงเท่านั้นจะมีสิทธิ์ครอบครอง จวบจนกระทั่งการเกิดขึ้นของพ่อค้าและชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 

 

ผู้ร่ำรวยขึ้นมาจากการค้าขายเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเสียใหม่ เริ่มจากการแต่งองค์ทรงเครื่อง ‘การไม่มีอะไรจะทำ’ ของชนชั้นสูงให้แตกต่างจากนัยความหมายเดิมที่เริ่มใกล้เคียงกับความเกียจคร้าน (Laziness) ด้วยการประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่า ‘การใช้เวลาว่าง’ (Leisure Time) ขึ้นมาทดแทน พร้อมๆ กับผูกโยงกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมเสริมเข้าไปเพื่อทำให้ช่วงเวลาเหล่านั้นดูมีประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตธรรมเนียมที่หญิงสาวผู้ดีจะต้องเรียนเย็บปักถักร้อย หัดเล่นดนตรี ไปจนถึงเรียนรู้การเต้นรำ ภายใต้ความเชื่อที่ว่านั่นเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการออกเรือน 

 

เหมือนเช่นที่เราเห็นจากกรณีของสาวๆ บ้านบริดเจอร์ตัน ขณะที่บรรดาชายหนุ่มเมื่อถึงวัยเข้าสังคมก็จำต้องเรียนหนังสือ หัดเล่นกีฬา และเตรียมตัวที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังดินแดนห่างไกล (Le Grand Tour) เช่น อิตาลี หรือกรีซ เพื่อแสวงหาและสั่งสมประสบการณ์แบบชายชาตรี ก่อนจะกลับมาแต่งงานและสร้างครอบครัว ไม่ต่างจากที่ คอลิน บริดเจอร์ตัน พี่ชายคนที่ 3 ของตระกูลต้องการจะทำ

 

เวลาว่างที่เกิดขึ้นผ่านการผลิตขนบต่างๆ เหล่านี้จึงค่อยๆ เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้เรียนรู้ในเรื่องของศิลปะและพัฒนาสุนทรียะอันว่าด้วยความงามด้านต่างๆ จนเกิดเป็นความหอมหวานของการปล่อยใจให้ดื่มด่ำกับการใช้เวลาว่างและธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า Il dolce far niente (The Sweetness of Doing Nothing) จนมันกลายเป็นวิถีหนึ่งของเครื่องแต่งกายแบบรีเจนซีที่ได้รับอิทธิพลจากการค้นพบเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียม (Pompeii and Herculaneum) เมืองเก่าของอาณาจักรโรมันโบราณในอิตาลีที่ล่มสลายไปเพราะการระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียส แล้วเกิดเป็นกระแส Roman Fever กับบรรดาหนุ่มสาวในเวลานั้น จนพัฒนากลายเป็นความชื่นชอบในความเรียบง่ายของเครื่องแต่งกายแบบโรมันผ่านการเลิกสวมสุ่มขนาดใหญ่รอบเอวแล้วแทนที่ด้วยโครงสร้างชุดทรงกระบอกเพื่อให้แลดูคล้ายรูปปั้นโรมัน

 

Scandal at Bridgerton Scandal at Bridgerton

 

พร้อมๆ กันนั้นยังรวมไปถึงการเลือกใช้ผ้าและวัสดุสีสันอ่อนหวาน ก่อนจะตกแต่งด้วยลวดลายปักที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ การเปลี่ยนแฟชั่นให้ผิดแผกไปจากยุคก่อนแบบหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาอันรวดเร็วนี้จึงไม่ต่างจากการก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ที่ใช้เครื่องแต่งกายในฐานะของเครื่องมือเพื่อต่อต้านค่านิยมแบบประเพณีเดิม 

 

ไม่เว้นแม้กระทั่งเครื่องแต่งกายของชายหนุ่มที่ยกเลิกการสวมวิกแบบโบราณ แล้วหันมานิยมการไว้จอนข้างหู พร้อมตกแต่งทรงผมให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่นเดียวกับการปฏิเสธการสวมเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดแบบผู้ชายรุ่นพ่อมาสู่การเลือกใช้กลุ่มสีที่เข้มและเคร่งขรึม เช่น ดำ น้ำเงิน ตามนิยามใหม่ของความหรูหราอันเกิดขึ้นจากแนวคิดของ โบ บรูมเมล เช่น พระสหายที่เป็นมากกว่าคนสนิทของพระเจ้าจอร์จที่ 4 พระโอรสองค์โตผู้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าจอร์จที่ 3 และควีนชาร์ลอตต์ที่ปรากฏเป็นตัวละครสำคัญอยู่ในซีรีส์

 

จริงอยู่ที่แม้ว่าความถูกต้องของเครื่องแต่งกายใน Bridgerton หลายส่วนจะผิดไปจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ฉูดฉาดไปด้วยสีสันและดอกดวงของสาวๆ บ้านเฟเธอริงตัน ไปจนถึงการจงใจใส่เสื้อผ้าย้อนยุคแบบคริสต์ศตวรรษที่ 18 ให้กับควีนชาร์ลอตต์อยู่ตลอดทั้งเรื่อง แต่หากเรายอมรับแนวคิดแบบ Dramatic License ที่ว่าด้วยการยกเก็บความถูกต้องบางประการทางประวัติศาสตร์เอาไว้ แล้วเปิดโอกาสให้กระบวนการดีไซน์และงานวิชวลทางด้านภาพในวรรณกรรมและภาพยนตร์สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เพื่อเปิดช่องไปสู่การสร้างอรรถรสในการเล่าเรื่องกับผู้ชมแล้วนั้น ผู้เขียนก็คงจะต้องยอมรับว่า Bridgerton เลือกทำหน้าที่นี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะกับการสะท้อนให้เห็นภาพความว่างเปล่าและไร้สาระของกิจกรรมการใช้เวลาว่างของเหล่าบรรดาชนชั้นสูงเพื่อที่จะทำให้แต่ละวันได้ผ่านไปได้อย่างมีความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการสนใจเพียงแค่จะได้แต่งตัวสวยๆ เพื่อออกจับสุภาพบุรุษในงานเต้นรำหรูของบรรดาสาวๆ กิจกรรมดันลูกของบรรดาแม่ๆ ไปจนถึงความสนุกในการลุ้นเกมจับคู่ของพระราชินี ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเปลือกนอกจอมปลอมอันสวยงามที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อซ่อนเร้นความฟอนเฟะที่ปฏิเสธไม่ได้ของสังคม

 

Scandal at Bridgerton

 

Sex not Love

ผู้เขียนจึงพบว่าการเก็บรายละเอียดที่น่าสนุกของซีรีส์เรื่องนี้อยู่ที่การอ่าน ‘วิธีการ’ ที่บรรดาตัวละครในบ้านบริดเจอร์ตันแต่ละคนพยายามจะแหกกฎออกจากกรอบอันว่างเปล่าไร้สาระ ไม่ว่าจะเป็นพี่ชายคนโต แอนโทนี ที่หลงรักนักร้องโอเปราและพยายามถ่วงเวลาของการกลับมาทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว, เบเนดิกต์ ผู้ปรารถนาจะเป็นศิลปินและมีชีวิตอิสระ, คอลิน ที่ปรารถนาจะออกไปเผชิญโลกกว้าง, ดาฟเน ผู้เชื่ออย่างแรงกล้าว่าการแต่งงานนั้นต้องเกิดขึ้นจากรักแท้ และที่สนุกที่สุดก็คือ เอโลอีส ผู้ปฏิเสธการเลาะตะเข็บชายกระโปรงเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นหญิงสาว เพราะเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าผู้หญิงมีวิธีอื่นในการประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่าการแต่งงาน

 

ผู้อ่านที่รัก คงจะต้องบอกว่าสิ่งที่ดาฟเนและเอโลอีสคิดนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะหากเราเริ่มเคลียร์ความเข้าใจเสียก่อนว่าการแต่งงานของชนชั้นสูงในอดีต แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับฐานะและสถานภาพทางสังคมเป็นสำคัญ ดังนั้นเราจึงแต่งงานเพื่อ ‘คนอื่น’ ที่จับตาจ้องมองเรามากกว่าการแต่งงานเพื่อตัวของเราเอง ความรักโรแมนติก (Romantic Love) ในยุคนั้นจึงเป็นเรื่องใหม่ที่นอกจากจะไม่มีใครเคยพูดถึงแล้ว มันยังไม่ใช่สาระสำคัญที่จะต้องเอามาผูกโยงเข้ากับการแต่งงานให้เสียเวลา

 

แต่เมื่อซีรีส์เปิดเรื่องด้วยการให้ผึ้งตัวหนึ่งบินไปเกาะประตูบ้านบริดเจอร์ตันตั้งแต่อีพีแรก เราจึงรับรู้และมั่นใจได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้กำลังจะนำเสนอประเด็นของ ‘ความรัก’ โดยเฉพาะการโฟกัสในเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘เซ็กซ์’ แน่นอนว่าผึ้งกับน้ำหวานถูกใช้เป็นเรื่องอุปมาเพื่ออธิบายกิจกรรมของคู่สามีภรรยาเพื่อสืบทอดทายาท แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่เซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องที่สามารถเอามาเล่าสู่กันฟังได้อย่างเปิดเผย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมันเป็นเรื่องเฉพาะในพื้นที่ลับ การจะนำมากระซิบกระซาบบอกกันในที่สาธารณะก็จะยิ่งทำให้กลายเป็นเรื่องติฉินนินทาอันนำมาซึ่งความน่าอับอาย 

 

เช่นในกรณีของ มารี อ็องตัวแนต พระราชินีในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ที่ว่ากันว่าเป็นเพราะแต่งงานตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทำให้ทั้งคู่ไม่รู้จักวิธีที่จะผลิตทายาทจนปล่อยเวลาล่วงเลยหลังแต่งงานไปกว่า 7 ปี เรื่องซุบซิบสนุกสนานในวังหลวงนี้จึงโด่งดังไปถึงออสเตรีย ร้อนถึงจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระมารดาของมารี อ็องตัวแนต ต้องส่งพี่ชายอย่างพระเจ้าโจเซฟที่ 2 มาเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และหลังจากนั้น มารี อ็องตัวแนต จึงได้เริ่มตั้งพระครรภ์

 

Scandal at Bridgerton Scandal at Bridgerton

 

ทว่าความพิเศษของเรื่องเซ็กซ์ใน Bridgerton กลับไม่หยุดอยู่แค่การนำเสนอประเด็นของปัญหาของการแต่งงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความรัก อันนำไปสู่ภาวะของการ ‘เตียงหัก’ จนต้องแยกห้องนอน และยอมครองคู่กันแต่ในนามเพื่อป้องกันการนินทาแต่เพียงอย่างเดียว เพราะซีรีส์เลือกที่จะพูดเรื่องเพศนี้อย่างเปิดเผยผ่านมุมมองของผู้หญิง (Female Gaze) ทั้งในประเด็นของการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศที่ถูกนำเสนอผ่านความเชื่อของดาฟเนและเอโลอีส ที่ชวนให้นึกถึงบรรดาตัวละครหญิงหัวขบถทั้งหลายในงานเขียนของ เจน ออสติน นักเขียนหญิงผู้โด่งดังแห่งยุครีเจนซีของอังกฤษ โดยเฉพาะในตัวละคร เอลิซาเบธ จากวรรณกรรมเรื่อง Pride and Prejudice ที่นอกจากจะคิดและตั้งคำถามถึงเรื่องความรักและการแต่งงานไม่ต่างจากที่ทั้งดาฟเนและเอโลอีสคิดแล้วนั้น เอลิซาเบธยังถูกสังคมมองว่า ‘แหกคอก’ ในมุมมองความเป็นผู้หญิง ไม่ต่างจากที่คู่พี่น้องแห่งบ้านบริดเจอร์ตันต้องพบเจออีกด้วย

 

Scandal at Bridgerton

 

ความสนุกของประเด็นเรื่องเพศที่ถูกจับจ้องผ่านสายตาของผู้หญิงใน Bridgerton นี้ยังถูกทำให้ชัดเจนมากขึ้นด้วยการเลือกให้ ไซมอน หรือดยุกแห่งเฮสติงส์ สวมแจ็กเก็ตกำมะหยี่สีแดงอย่างแตกต่างจากชายหนุ่มคนอื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง และย้อนกลับไปคิดว่า ‘สีแดง’ ในกระบวนการดีไซน์มักจะเชื่อมโยงเข้ากับสัญลักษณ์แทนความปรารถนาและความต้องการทางเพศ (Lust and Desire) มันจึงมีส่วนทำให้ไซมอนต้องกลายเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ (Object of Desire) ในสายตาของสาวๆ (โดยเฉพาะดาฟเน) ไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะในฉากที่ร้านไอศกรีม (อีพี 3) ที่ดาฟเนเผลอจ้องเขาผู้อยู่ในแจ็กเก็ตสีแดง และกำลังใช้ลิ้นเลียไอศกรีมจากช้อนอย่างเอร็ดอร่อย 

 

พร้อมๆ กับที่เธอเริ่มสงสัยและไม่เข้าใจตนเองว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร จนกระทั่งความรู้สึกเช่นนั้นถูกขยายและให้คำตอบในฉากเดินเล่นริมสะพานของทั้งคู่ เมื่อไซมอนในเสื้อคลุมสีแดง (อีกครั้ง) กระซิบแนะนำให้ดาฟเนได้รู้จักกับการ ‘สัมผัสตนเอง’ ก่อนที่นัยความหมายนั้นจะชัดเจนมากขึ้นในอีพี 4 เมื่อทั้งคู่ตัดสินใจที่จะยกเลิกแผนตบตาสังคม เพราะเริ่มรู้สึกถึงการมีใจให้กันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระหว่างเหตุการณ์งานเลี้ยงของเลดี้โทรวบริดจ์ ที่เมื่อดาฟเนเห็นดยุกในเสื้อคลุมสีแดง (อีกครั้งหนึ่ง) ขณะที่เธอกำลังสนทนากับเจ้าชายฟรีดริช เธอก็เริ่มยอมรับความรู้สึกลึกๆ ของตนเองจนนำไปสู่ซีนจุมพิตอันเร่าร้อนในสวน กระทั่งกลายเป็นต้นเหตุของการดวลปืนในเวลาต่อมาระหว่างดยุกและแอนโทนี พี่ชายของเธอ

 

ยิ่งไปกว่านั้น Bridgerton ยังแหกกฎละครชวนฝันและเชิดชูการพูดถึงเรื่องเพศผ่านมุมมองของผู้หญิง ด้วยการให้ตัวละครชายกลายเป็นฝ่ายที่จะต้องถูกเปลือยกายให้จับจ้องอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฉากคืนแต่งงานที่โรงแรมชนบท ซึ่งดาฟเนมองร่างเปลือยของดยุกอย่างตะลึงพรึงเพริด ก่อนที่เธอจะเริ่มสงสัยถึงสาเหตุแห่งการจบกิจกรรมบนเตียงแบบแปลกๆ ของเขา จนต้องไปถามหาความกระจ่างเรื่องเซ็กซ์จากสาวใช้ (อีพี 6) กระทั่งนำมาสู่ฉากที่เธอโกรธเมื่อรู้ความจริงและแก้แค้นด้วยการควบคุมให้เขาต้องถึงจุดสุดยอดภายในตัวเธอ ขณะที่เธอเฝ้าจับจ้องทุกช่วงขณะที่เขาอ่อนแอที่สุดนั้นราวกับผู้ชนะ สิ่งนี้เองที่ทำให้ Bridgerton แตกต่างจากเทพนิยายและเรื่องเล่าของเจ้าชายเจ้าหญิงโดยทั่วๆ ไปที่เรื่องเพศมักจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องน่าอาย และจงใจละเอาไว้อย่างไม่กล้าที่จะพูดถึง

 

 

Scandal at Bridgerton

 

Gossip and Scandal

ดังนั้นเมื่อสังคมของชนชั้นสูงถูกสร้างขึ้นผ่านการจัดสรร ‘เวลาว่าง’ ให้เป็นไปตามโครงสร้างและหน้าที่ที่แตกต่างกันตามเพศ จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมและกฎเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตอย่างแข็งแรงเช่นนี้แล้ว สิ่งเดียวที่จะคัดง้างการกระทำใดๆ ให้เกิดการเปลี่ยนทิศขึ้นมาได้จึงมีเพียงการสร้างความ ‘อับอาย’ ให้ปรากฏขึ้น ซึ่งกิจกรรมยามว่างเพื่อใช้ในการสร้างความอายหรือทำลายกันนั้น เราเรียกมันว่า ‘การซุบซิบนินทา’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรื่องชวนให้ขายหน้ามีหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่องเพศและพฤติกรรมอันไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสังคม ซึ่ง Bridgerton เองก็ดูเหมือนกับจะสนุกในการทำให้เรื่องซุบซิบนั้นกลายเป็นหัวใจสำคัญของการเดินเรื่องและการกำหนดชะตากรรมของตัวละครผ่านคอลัมน์กอสซิปของเลดี้วิสเซิลดาวน์

 

ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส มีการตีพิมพ์นิตยสารแฟชั่นฉบับแรกขึ้นภายใต้ชื่อ Le Mercure Galant โดยเริ่มออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 1672 ที่นอกเหนือจากการพิมพ์ภาพลายเส้นรูปเครื่องแต่งกายตามแบบสมัยนิยมแล้วนั้น มันยังเต็มไปด้วยคอลัมน์รีวิวเรื่องราวต่างๆ ในแวดวงสังคมชนชั้นสูง นับตั้งแต่ข่าวสารการละครและดนตรี ข่าวเรื่องการแต่งกาย ไปจนถึงเรื่องนินทาที่ว่าด้วยการเปลี่ยนคู่ครอง และเรื่องฉาวที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนในสังคม การกระหายที่จะใช้เวลาว่างผ่านการเม้าท์มอยคนอื่นเพื่อสร้างความสนุกสนานนี้จึงกลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่นอกจากจะ ‘จำเป็น’ ต่อการดำรงชีวิตของชนชั้นสูงแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของ ‘อาวุธ’ ที่สามารถใช้ทำร้ายกันและกันได้อีกด้วย ดังเช่นที่ปรากฏใน Les Liaisons Dangereuses วรรณกรรมสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของฝรั่งเศสโดย ปิแอร์ โชเดอร์ลอ เดอ ลาคโล ที่มีเนื้อหาที่ว่าด้วยการใช้เซ็กซ์ จดหมาย และการซุบซิบนินทาเป็นเครื่องมือต่อสู้และห้ำหั่นกันทางสังคมของตัวละครเอกจนนำไปสู่จุดจบที่ไม่มีใครคาดคิด

 

Scandal at Bridgerton

 

การไฮไลต์ความสำคัญของเรื่องกอสซิปใน Bridgerton จึงเท่ากับเป็นการเชิดชูเครื่องมือพิเศษของผู้หญิงที่ผู้ชายไม่มีวันรู้จักว่าไม่ต่างจากอาวุธร้ายแรงสำหรับใช้จัดการและควบคุมสังคมหน้าบางให้เป็นไปตามความต้องการได้ หากผู้ใช้งานรู้จักควบคุมและเรียนรู้ที่จะใช้ให้เป็น เหมือนกับที่ไวเคาน์เตสลงมือทำในอีพี 2 เพื่อยุติความวุ่นวายของลอร์ดเบอร์บรูกที่มาพัวพันกับดาฟเน ลูกสาวของเธอ 

 

ไม่เว้นแม้แต่การที่ดาฟเนเองตกลงวางแผนกับดยุกเพื่อสร้างเรื่องให้คนนินทาและจับจ้อง เพื่อทำการเพิ่มมูลค่าและลวงให้บรรดาชายหนุ่มมาแข่งขันเกี้ยวพาราสีเธอมากขึ้น พร้อมๆ กับที่ดยุกเองก็จะได้ว่างเว้นจากการถูกรุมตามตื๊อโดยบรรดาแม่ๆ และหญิงสาวที่น่ารำคาญ กระบวนการที่เรื่องฉาวสามารถถูกนำมาใช้งานเพื่อจุดประสงค์ของการเปิดโปงข้อมูล เปิดเผยความไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นผลักดันสังคมในลักษณะเช่นนี้ จึงแทบจะไม่ต่างจากความสัมพันธ์ของโลกโซเชียลมีเดียที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันอย่างน่าประหลาดใจ

 

Scandal at Bridgerton

 

ผู้อ่านที่รัก หากการดูละครควรจะนำไปสู่การย้อนดูตน ผู้เขียนพบว่ามันเป็นเรื่องแสนยากที่จะหาคำตอบให้กับตัวเองว่าเราต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถเสี่ยงชีวิตให้อยู่รอดอย่างแตกต่างได้ในสังคมน้ำเน่า ดีแต่พูด และแสนจะอ่อนไหวต่อการถูกติฉินนินทานี้ โดยเฉพาะเมื่อเราและท่านต่างรู้ดีว่าการจะทำเช่นนั้นได้ มันมีราคาที่ผู้กล้าจะแตกต่างจำเป็นต้องจ่าย การเปลี่ยนมาตั้งคำถามกับตนเองว่า แล้วเราพร้อมแค่ไหนที่จะยืนหยัดเพื่อเป็นตัวของตนเองจึงอาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจเสียก่อนว่าเราแข็งแกร่งพอแล้วหรือยัง ไม่ต่างกับที่ เซอร์แกรนวิลล์ ศิลปินชายที่รักเพศเดียวกันพูดเตือน เบเนดิกต์ บริดเจอร์ตัน เอาไว้ในอีพี 7 ว่า “มันต้องใช้ความกล้าอย่างเหลือล้น เพื่อนเอ๋ย ในการที่จะตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตอิสระและอยู่นอกเหนือจากความคาดหวังของสังคม”

 

ด้วยรักและความปรารถนาดี

 

จากผู้เขียน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising