ที่ผ่านมาวงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มตื่นตัวกับปัญหาสังคมและลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งคราว แต่ไม่บ่อยนักที่จะเห็นองค์กรธุรกิจที่คำนึงถึง ‘ผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้าง’ นับตั้งแต่วันแรกของการตอกเสาเข็ม ไปจนถึงวันที่ประตูรั้วเปิดต้อนรับครอบครัวน้อยใหญ่เข้ามาเป็นสมาชิก และโมงยามการใช้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่าน
บ้านคิดส์มิตรฉัน (Kids’ Mission) เป็นภารกิจล่าสุดของ SC Asset ที่ตั้งใจจะสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นมิตรและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ในแคมป์ก่อสร้างของโครงการนำร่องบางกะดี (Neighbourhood Bangkadi) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนพื้นที่กว่า 200 ไร่ และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี
ระหว่างเดินทางไปยังย่านบางกะดี ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางเชื่อมต่อถนนติวานนท์ ปทุมธานี-รังสิต เราได้เห็นชุมชน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งโครงการพัฒนาอีกมากมายที่กำลังจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในไม่ช้า จนกระทั่งเลี้ยวรถเข้าไปในโครงการ Neighbourhood Bangkadi มีบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งรอต้อนรับ ท่ามกลางบรรยากาศแสนคึกคักและเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มของทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นทีมงานเบื้องหน้าเบื้องหลัง ผู้รับเหมา ซัพพลายเออร์ที่มีส่วนร่วมในโปรเจกต์นี้ ไปจนถึงแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานพร้อมกับลูกหลาน จนอดแปลกใจไปด้วยไม่ได้ว่า ทำไมทุกคนจึงตั้งใจลงทุนลงแรงผลักดันให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจริง
ทำไมรอยยิ้มของทุกคนจึงเต็มไปด้วยความปีติยินดี…รอยยิ้มที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึง ‘ความหวัง’
เรานั่งลงคุยกับ ดิว-สุดารัตน์ เจริญเกตุมงคล หัวหน้าสายงานบริหารลูกค้าและการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนแห่ง SC Asset หัวหอกสำคัญที่ร่วมผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้
Kids’ Mission: ภารกิจเพื่อเด็กๆ ที่เกิดจากความตั้งใจจะสร้างสังคมที่ดี
นอกจาก Neighbourhood Bangkadi จะนำกระบวนการวิจัยและการออกแบบเข้ามายกระดับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยควบคู่กับพื้นที่สาธารณะ โดยยึดความต้องการของผู้อยู่อาศัยและคนในชุมชนเป็นศูนย์กลางแล้ว ทาง SC Asset ยังผุดโปรเจกต์ ‘บ้านคิดส์มิตรฉัน’ สร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ในแคมป์งานก่อสร้าง เพื่อตอกย้ำพันธกิจ ‘For Good Mornings’ ด้วยเชื่อว่าการสร้าง ‘เช้าที่ดีสำหรับทุกคน’ ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะลูกค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงระดับชุมชน สังคม ไม่เว้นแม้แต่หน่วยย่อยในสังคมอย่างกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ผู้เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาเมือง แต่กลับถูกมองข้ามความสำคัญและถูกเลือกปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง
“เราอยากจะสร้าง For Good Mornings ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน ไม่ใช่แค่ลูกค้าของเรา”
ดิวเล่าถึงการลงพื้นที่สำรวจในโครงการนี้ พบว่า มีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานประมาณ 700 คน กับผู้รับเหมากว่า 20 ราย ทั้งในส่วนสาธารณูปโภค และในส่วนการสร้างบ้าน โดยมีเด็กๆ ประมาณ 40 กว่าคน ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงอายุ 15 ปี อย่างไรก็ตาม แรงงานที่มีลูกหลานย่อมรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัยของลูกๆ เช่นเดียวกับพ่อแม่คนอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก ให้เป็นทั้ง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในระหว่างการปฏิบัติงาน และ ‘ศูนย์ดูแล’ ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมไปในตัวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“ประเด็นแรกคือ เราต้องการลดความกังวลของพ่อแม่ที่ต้องออกไปทำงาน พวกเขาควรจะมีพลังเต็มที่ จากการสำรวจเราพบว่า ความกังวลของเขาคือการดูแลลูก แต่ถ้าหากเขาขาดงานก็เท่ากับว่ารายได้หายไป 1 วัน เราจึงสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ ประเด็นที่สอง เราต้องการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุกับเด็กๆ ที่อาศัยในแคมป์ก่อสร้าง นอกจากนี้ถ้าหากเราช่วยดูแลลูกๆ ของพวกเขาแล้ว เราคิดว่าอัตราการย้ายงานของแรงงานและผู้รับเหมาก็น่าจะลดน้อยลง และทำให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานด้วยค่ะ”
เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา: ขั้นบันไดสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ เปรียบได้กับการวางโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ก่อนลงมือสร้างบ้าน จึงจำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจเด็กอย่างแท้จริง SC Asset ได้จับมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network: LPN) เข้ามาช่วยจัดการ ตั้งแต่วางโครงสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ การทำกิจกรรม ไปจนถึงการดูแลเด็กๆ เนื่องจากมูลนิธิมีประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการแรงงาน การส่งเสริมความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ
ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าอยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ร่วมกัน เด็กแรกเกิดจะต้องมีคุณแม่เข้ามาช่วยดูแลด้วย ส่วนเด็กๆ อายุประมาณ 3-5 ปี ไปจนถึง 15 ปี ถือเป็นวัยที่พร้อมเรียนรู้
บ้านคิดส์มิตรฉันจะช่วยดูแลเตรียมความพร้อมทั้งหมด 3 ด้านคือ
- การศึกษาขั้นพื้นฐาน: วิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสื่อสาร เช่น การอ่าน-เขียน และวิชาคณิตศาสตร์ รวมทั้งทักษะชีวิต (Life Skills) เช่น ทักษะด้านจิตใจและอารมณ์ ผ่านการทำกิจกรรมสันทนาการ
- การดูแลด้านสุขอนามัย: เจ้าหน้าที่และครูจะช่วยสอนเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ การรักษาความสะอาด และความปลอดภัย
- การเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิที่พึงมีพึงได้: ทั้งเด็กและพ่อแม่จะได้เรียนรู้สิทธิต่างๆ ของตนเองในฐานะแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาพยาบาล ประกันสังคม สิทธิทางการศึกษาในไทยสำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป
ปัจจุบันมีเด็กที่เข้าร่วมโปรเจกต์นี้ประมาณ 20 คน จากทั้งหมด 40 คน ดิวเล่าว่า การสร้างความไว้วางใจให้กับพ่อแม่และเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญคือแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความจริงใจ
“ตอนแรกเรากับทางมูลนิธิได้ลงพื้นที่และเข้าไปพูดคุยแบบตัวต่อว่าพวกเขาสามารถส่งเด็กๆ มาที่ศูนย์ของเราได้ นอกจากนี้เด็กๆ ก็จะไปชวนกันเองด้วย ตอนแรกเขาอาจจะไม่มั่นใจ ไม่คุ้นเคย แต่พอเขาเห็นเพื่อนๆ สนุกกัน ได้เรียน มีขนมรับประทานทั้งช่วงเช้าและบ่าย เขาก็เริ่มเข้ามา ทำให้เรามีเด็กเข้ามาเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน”
“เด็กบางคนที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ของเราอายุ 10 ขวบแล้ว สามารถเข้าโรงเรียนได้ตามกฎหมาย แต่เขายังพูดภาษาไทยไม่ได้ ถ้าหากเขาเข้าไปเรียนโรงเรียนไทย ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัว ถ้าเด็กไม่มีความพร้อม คนที่ทุกข์ที่สุดก็คือเด็ก เพราะว่าเขาเข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรืออาจโดนเพื่อนล้อ เพราะฉะนั้นบ้านคิดส์มิตรฉันจะเป็นสถานที่หนึ่งที่ให้เขาได้ปรับตัวให้คุ้นชิน และสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนไทยได้ หรือได้รับความรู้ขั้นพื้นฐานติดตัวกลับไปด้วย ถ้าหากเขาต้องกลับไปอยู่บ้าน”
นอกจากเรื่องการเรียนเชิงวิชาการแล้ว ดิวอธิบายว่า ด้านหลังศูนย์แห่งนี้ยังมีพื้นที่สันทนาการ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ และพ่อแม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยเฉพาะอีกด้วย “เราดูแลตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยของสถานที่ มีครูที่สามารถสื่อสารภาษาของเขาได้ มันคือการพูดคุยกัน แรงงานเป็นคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน มีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมคล้ายกัน ทั้งเรื่องความกตัญญู ความมีน้ำใจ มีเมตตา หรือแม้แต่การประกอบพิธีทางศาสนา ก็เลยปรับตัวเข้าหากันได้ง่ายมากขึ้น”
จากพื้นที่ปลอดภัยและส่งเสริมการเรียนรู้ สู่พื้นที่เป็นมิตรบนเส้นทางสู่ Zero Waste
อีกจุดเด่นหนึ่งของโปรเจกต์นี้อยู่ที่การดึงคอนเซปต์ Zero Waste มาปรับใช้ในการออกแบบและการก่อสร้างบ้าน ตั้งแต่การนำอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) มากถึง 50% โดยได้รับความช่วยเหลือจากซัพพลายเออร์และคู่ค้า เช่น บานประตู กรอบอะลูมิเนียม กระจก เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องซื้อใหม่เพื่อใช้ในการก่อสร้าง อาทิ อิฐ หิน ปูน ทราย
และอย่าเพิ่งคิดว่าศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในแคมป์ก่อสร้างไม่จำเป็นต้องใส่ใจด้านการออกแบบนัก เพราะโปรเจกต์นี้ใช้สถาปนิกที่ออกแบบบ้านเข้ามาช่วยจัดสรรพื้นที่ โดยคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยและความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ เช่น การออกแบบโครงสร้างแบบเปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทสะดวก ใช้แผ่นหลังคา Metal Sheet ช่วยให้ไม่ร้อน และมีพื้นที่สำหรับวิ่งเล่น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
จากร่างแรก สู่วันเปิดตัวโปรเจกต์นี้ เราถามดิวว่า ภาพที่เห็นตรงหน้าและความรู้สึกในวันนี้เหมือนกับสิ่งที่ทีมงานทุกฝ่ายจินตนาการไว้หรือไม่ เธอยิ้ม
“มันเป็นความอิ่มเอมใจนะคะที่เรามีส่วนในการสร้างเช้าที่ดีให้กับเขา และที่สำคัญโปรเจกต์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ความร่วมมือจากทางผู้รับเหมาในการส่งเด็กๆ เข้ามา หรือความร่วมมือกับทางซัพพลายเออร์ในด้านอุปกรณ์ การสร้างศูนย์นี้จึงถือเป็นความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งที่จริงแล้วงบประมาณอาจไม่เยอะ แต่ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมกันทำในสิ่งดีๆ และสร้างสังคมที่ยั่งยืนไปด้วยกัน หลายๆ รายก็บอกมาเหมือนกันว่าถ้ามีโปรเจกต์ที่ 2-3 ซัพพลายเออร์บางรายที่ขายเหล็ก เขาก็ยินดีที่จะสนับสนุน”
เพราะเช้าที่ดีคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด
“ตอนเช้าเราเห็นแววตาของแม่เวลามาส่งลูก เขาจะดูว่าลูกร้องไห้ไหม ด้วยความเป็นพ่อเป็นแม่ เขาห่วงเรื่องความปลอดภัย อยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีและมีความรู้ติดตัวอยู่แล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์”
แม้ว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นเพียงบันไดขั้นเล็กๆ ที่ช่วยปูทางให้เด็กๆ มีทักษะการใช้ชีวิต มีสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบการศึกษาไปพร้อมๆ กับสามารถปรับตัวเข้ากับสังคม แต่ในระหว่างทางทั้งเด็กๆ และบ้านคิดส์มิตรฉันจะเติบโตไปพร้อมกับโครงการ Neighbourhood Bangkadi จนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จ
แต่ใช่ว่าโครงการนี้จะสิ้นสุดลงทันที หากเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอีกมากมายที่จะพาสังคมเติบโตไปด้วยกัน ไม่ต่างจากเช้าวันใหม่
“ตอนนี้เราวางแผนที่จะขยายไปยังโครงการต่างๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะมีระยะเวลาก่อสร้างต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ จำนวนผู้รับเหมา และเด็กๆ หลังจากนี้เราจะทำโครงการในลักษณะเชิงรุกเข้าไปในแต่ละพื้นที่ร่วมกับทางมูลนิธิ แต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมตามพื้นที่ด้วย อย่างน้อยเราคาดหวังว่าเด็กๆ ที่เคยกลัวและไม่กล้า พอเข้ามาแล้วจะเริ่มปรับตัวได้และได้พบกับครูที่เข้าใจและสื่อสารกับเขาได้”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า