×

ศอ.บต. เคาะเลือก Johnson & Johnson ฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ เร่งหารือข้อสรุปการจัดซื้อภายใน 26 ก.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2021
  • LOADING...
วัคซีน Johnson & Johnson

วันนี้ (8 กรกฎาคม) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนมีความตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดอย่างรวดเร็วในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในหลายคลัสเตอร์ ประกอบกับปัญหาการลักลอบเข้าประเทศไทยตามช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราสูงขึ้นหลายเท่าตัวและมีแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราการป่วยต่อประชากร จะพบว่าจังหวัดปัตตานี สงขลา และยะลา สูงกว่าในจังหวัดอื่นๆ ที่นำมาเปรียบเทียบถึงกว่าร้อยเท่า

 

ศอ.บต. จังหวัดยะลา ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อเสนอแนวทางไปสู่การปฏิบัติจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยมีข้อสรุปที่สำคัญดังต่อไปนี้

 

1. ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะประสานความร่วมมือ-ร่วมใจ ทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกันตามศักยภาพและความพร้อมที่หน่วยงานต่างๆ พึงจะดำเนินการได้ ทางออกที่ดีที่สุดนั้นคือพยายามที่จะสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อดูแลและปกป้องชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด

 

2. ที่มาของวัคซีนตามข้อสรุปของที่ประชุมฯ มี 3 แนวทางหลัก ได้แก่

 

  • วัคซีนที่รัฐบาลจัดสรรให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยพบว่ามีอัตราการเข้ารับการฉีดวัคซีนประมาณร้อยละ 8

 

  • รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยได้มีแนวทางให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถนำเงินสะสมของท้องถิ่นไปใช้เพื่อดำเนินการจัดซื้อวัคซีนได้

 

โดย ศอ.บต. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 12 เห็นพ้องตรงกันว่า แนวทางนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจากเงินสะสมของแต่ละท้องถิ่นได้ โดยการนำเงินในระบบกองทุนสุขภาพตำบลมาเติมเต็มเพื่อเพิ่มจำนวนการจัดซื้อวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรในเขตพื้นที่ให้ได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น พร้อมกำหนดขั้นตอนการทำงานและกรอบระยะเวลาที่จะรวบรวมเงินสะสมของท้องถิ่นและกองทุนสุขภาพตำบล ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 เพื่อส่งให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยดำเนินการจัดหาวัคซีนในระยะต่อไป

 

  • การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เนื่องจากมีภาคเอกชนอีกหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการการมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว และพร้อมที่จะสนับสนุนทรัพยากรและงบประมาณเพื่อการจัดหาวัคซีนอีกจำนวนหนึ่ง โดยในส่วนนี้ได้นำแนวทางการปฏิบัติของเทศบาลนครยะลามาเป็นกรอบการทำงานที่มีการจัดตั้ง ‘กองทุน’ และให้เอกชน เครือข่ายองค์กรสาธารณสุข และประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมกันดูแลและปกป้องประชาชนในพื้นที่ด้วยกัน แนวทางการทำงานเรื่องกองทุนนี้ จึงเป็นการได้มาซึ่งทรัพยากรและงบประมาณที่สามารถเติมเต็มการทำงานด้านการจัดหาวัคซีนให้ได้จำนวนที่เพิ่มมากขึ้นได้อีกแนวทางหนึ่ง ที่จะต้องให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีกหลายแห่งนำเรื่องดังกล่าวไปขยายผลในเขตพื้นที่ของตนเองได้

 

สำหรับประเภทของวัคซีนที่มีความเหมาะสม วัคซีนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้คำแนะนำว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่ ศอ.บต. กำหนดโจทย์การแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ที่ต้องทำให้รวดเร็วที่สุดคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุมมากที่สุดตามเป้าหมาย เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันตนเองและภูมิคุ้มกันหมู่ (ร้อยละ 70) นั้นคือวัคซีนของ Johnson & Johnson เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียวก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นได้ ทั้งยังใช้ได้ดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ด้วย

 

อีกทั้งต้องเร่งดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้งวัคซีน Sinopharm ก็มีความเหมาะสมตามที่ประเทศไทยมีการนำเข้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นว่าในอนาคตข้างหน้ายังมีความจำเป็นจะต้องมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการบูสเตอร์ให้กับประชาชนตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด เนื่องจากการกลายพันธุ์ของโควิดยังมีอย่างต่อเนื่อง

 

3. การได้มาซึ่งวัคซีน ศอ.บต. ได้เรียนเชิญ ดร.รักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อดีตนักศึกษา MIT ในฐานะหนึ่งในทีมผู้มีส่วนเจรจากับทางสหรัฐอเมริกาจนได้รับวัคซีน Pfizer จำนวน 1.5 ล้านโดสให้กับประเทศไทย ร่วมประชุมและให้คำแนะนำเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนที่สุด

 

ดร.รักไทยมีความเห็นว่า วัคซีน Johnson & Johnson เป็นวัคซีนที่มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเร่งดำเนินการสร้างภูมิคุมกันโดยเร็วเพื่อหยุดยั้งการติดเชื้อของประชาชนให้เร็วที่สุด ประกอบกับ ดร.รักไทยเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการได้รับวัคซีนของ Johnson & Johnson มาแล้ว

 

จึงมีความเห็นเช่นเดียวกับที่ประชุมและได้ประชุมปรึกษาหารือกัน โดยจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะเป็นแกนกลางการประสานงานเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีนตามที่ประชุมฯ เสนอ โดยจะประสานข้อมูลการจัดซื้อ เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 12 ไปกำหนดราคาต่อหัว (Unit Cost) และจัดทำร่างโครงการ หรือ Template เพื่อส่งให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปเข้าประชุมคณะกรรมการสุขภาพตำบลตามขั้นตอนและกรอบเวลาที่กำหนด

 

ในตอนท้ายการประชุม พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเน้นย้ำว่าเรื่องที่มีการหารือกันวันนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะกระทบต่อชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องและหากยังไม่สามารถยุติเรื่องดังกล่าวได้ ก็จะเป็นผลกระทบต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว รัฐบาลได้ให้ความห่วงใยและขอให้ ศอ.บต. เร่งรัดดำเนินการโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างทางออกให้กับประชาชนจากสถานการณ์โควิด

 

ดังนั้นจึงให้มีการแบ่งกลุ่มคณะทำงานชุดต่างๆ ไปดำเนินการตามที่ที่ประชุมกำหนด โดยทั้งหมดมีกรอบระยะเวลาการทำงานที่ตกลงใจร่วมกันภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถดำเนินการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนด้วยวัคซีนที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนสูงสุดและจะรายงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X