×

สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพชาวไทยที่อยู่ใกล้รางวัลออสการ์มากที่สุดในเวลานี้

22.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สยมภู มุกดีพร้อม คือคนไทยที่มีโอกาสเข้าใกล้รางวัลออสการ์มากที่สุด จากการเป็นผู้กำกับภาพเรื่อง Call Me by Your Name ที่สื่อหลายสำนักมองว่าเขาคือตัวเต็งที่จะเป็นหนึ่งในผู้เช้าชิงสาขา ‘กำกับภาพยอดเยี่ยม’ ในปีนี้
  • สยมภู รับงานกำกับภาพหลากหลายแนว โดยมีเกณฑ์ในการรับงานอยู่ที่ทัศนคติของบทภาพยนตร์ที่ต้องทำให้เขาสนใจให้ได้
  • สยมภู จะถ่ายทำหนังทุกเรื่องด้วยฟิล์มภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะไม่ยอมใช้กล้องดิจิทัลเป็นอันขาด
  • การเป็นผู้กำกับภาพในหนังฮอลลีวูด และมีโอกาสเช้าชิงรางวัลออสการ์ ไม่ได้ทำให้ชีวิตหรือความสนใจที่มีต่อการทำภาพยนตร์ของเขาเปลี่ยนแปลงไปเท่าไรนัก

สยมภู มุกดีพร้อม คือผู้กำกับภาพคู่ใจที่มีส่วนช่วยให้ชื่อของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล พาหนังเรื่อง สุดเสน่หา (2002) และ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010) เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

 

หลังจากนั้นตัวสยมภูเองก็ได้รับโอกาสในการเป็นผู้กำกับภาพจากผู้กำกับต่างชาติหลายคน จนชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะกับผลงานล่าสุด Call Me by Your Name ของผู้กำกับชาวอิตาลีอย่าง ลูคา กัวดายีโน (Luca Guadagnino) ที่กระแสตอบรับดีถึงขนาดได้รับการ Standing Ovation (การที่ผู้ชมทั้งโรงภาพยนตร์ลุกขึ้นปรบมือเมื่อดูภาพยนตร์จบ) ยาวนานที่สุดจากเทศกาลภาพยนตร์ที่นิวยอร์ก จนสื่อและนักวิจารณ์ระดับโลกมองว่าเขาจะเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมในปี 2017 (ประกาศผลผู้เช้าชิงในวันที่ 23 มกราคม 2018)

 

วันนี้ THE STANDARD มีโอกาสนั่งคุยกับเขา เกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงาน และมุมมองที่เขามีต่อวงการภาพยนตร์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ดวงตาหรี่เล็ก ในฐานะคนไทยที่อยู่ใกล้รางวัลออสการ์มากที่สุดในเวลานี้

 

 

ตามปกติคุณต้องมีเกณฑ์อะไรเป็นพิเศษหรือเปล่าในการรับเป็นผู้กำกับภาพแต่ละเรื่อง เพราะถ้าดูจากผลงานที่ผ่านมาจะเห็นว่าหนังของคุณมีหลายรูปแบบมาก

เกณฑ์แรกคือเรื่องมีเงินหรือไม่มีเงินก่อนเป็นอันดับแรก (หัวเราะ) มันคือเรื่องปกติในการทำงาน อย่างถ้าในบ้านเราอย่างน้อยทำหนังปีละ 2 เรื่องต่อปี เพราะฉะนั้น 2 เรื่องอย่างน้อยต้องทำให้เราอยู่ได้ใน 1 ปี มันคือเกณฑ์แรกแต่ไม่ใช่เกณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดนะ เพราะนอกจากนั้นมันยังมีเรื่องทัศนคติของหนัง ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนผมอ่านบท แล้วผมต้องรู้สึกสนใจทัศนคติของหนังเรื่องนั้น

 

ซึ่งผมไม่สามารถจำกัดความได้นะว่าไอ้ทัศนคติของหนังมันเป็นยังไง อาจจะไม่ใช่คำว่าดีด้วยซ้ำ แต่ว่าอย่างน้อยมันน่าสนใจ ผมคิดว่าศิลปะในโลกนี้มันมีเยอะแยะไปหมดเลย และผมเปิดรับโอกาสที่เข้ามาเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าบทที่อ่านมันทำรีแอ็กชันบางอย่างได้มันก็จบเท่านั้นเอง

 

บทเรื่องไหนที่อ่านแล้วรู้สึกว่าทัศนคติของหนังเรื่องนั้นน่าสนใจที่สุด

สุดเสน่หา ของเจ้ย ผมอ่านจบใน 3 ชั่วโมง ไม่รู้เหมือนกันว่ายังไง แต่ผมอ่านแล้วโคตรสนุกเลย แล้วก็รับถ่ายเรื่องนั้นทันที ผมคิดว่าหนังหลายๆ เรื่องต้องมีบทที่เป็นแบบนั้น บทที่ดีต้องมีพลังพอที่จะทำให้ยอมทนไปอยู่กับใครสักคนที่เราเหม็นขี้หน้าได้ประมาณ 3 เดือน เพราะการถ่ายหนัง 1 เรื่อง มันคือเอาชีวิตเราทั้งหมดไปอยู่ในนั้นเลยนะ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะไม่ชอบหน้าใครสักคน แต่เราจะยอมไปอยู่กับเขาเพราะว่าเราอยากถ่ายทำบทหนังเรื่องนั้นให้ได้

 

 

ผู้กำกับมีผลกับการตัดสินใจรับงานมากขนาดไหน

เกี่ยวนะ แต่ผมคิดว่าไม่มาก เพราะถ้าถามผมตอนนี้ว่าอยากทำงานกับผู้กำกับคนไหนในโลกมากที่สุด ผมตอบไม่ได้เหมือนกันนะ เพราะผมเลือกดูจากบทหนังเป็นหลัก หลังจากนั้นค่อยมาดูผู้กำกับว่าเคมีเขาไปกับเราได้ไหม มีมุมมองที่จะนำพาเราไปได้ไหม เพราะยังไงผมก็ยังคิดว่าเราเป็นลูกน้องของเขา ผู้กำกับเป็นนายของเรา ถ้าเขามีทัศนคติหรืออะไรบางอย่างที่ทำให้เราเชื่อไม่ได้ ก็จะทำงานกันได้ยาก

 

เวลาหนังเสร็จสมบูรณ์ออกมาแล้วประสบความสำเร็จ หรืออย่าง Call Me by Your Name ที่ได้รับการ Standing Ovation คุณคิดว่าผู้กำกับภาพมีสิทธิ์ที่จะได้รับความดีความชอบตรงนั้นประมาณกี่เปอร์เซ็นต์

ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ผม แต่ทุกคนที่อยู่ใน ‘กรรมะ’ ของการทำหนังเรื่องนั้นๆ มีสิทธิ์ที่จะดีใจ เพราะทุกคนได้ให้เวลาส่วนหนึ่งในชีวิตกับสิ่งนี้ไปแล้ว แต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกันไปเป็นธรรมชาติ แต่ด้วยตัวภาพยนตร์ที่เป็น Collaborative Art ทุกคนต้องทำร่วมกัน เพราะฉะนั้นในความคิดของผมผู้กำกับก็ไม่สามารถเคลมได้ 100% เพียงคนเดียว เพราะทุกคนควรเคลมได้ 100% เหมือนกันหมด เพราะไม่ว่าคนนั้นจะเป็นส่วนที่เล็กขนาดไหนของหนัง แต่ในขณะที่ทำงานเขาให้ทุ่มกับงานนั้นไป 100% เหมือนเราเอา 100% ของทุกยูนิตมารวมกันจนกลายเป็นหนังขึ้นมา ไม่ใช่ผู้กำกับ 20% นักแสดง 20% ผู้กำกับภาพ 20% มันคือ 100% ของทุกคนที่มาอินเตอร์เซคกันอยู่เท่านั้นเอง

 

 

เมื่อปิดกล้อง ถ่ายหนังเสร็จเรียบร้อย ส่งฟุตเทจต่อไปให้ฝ่าย Post-Production คุณเป็นผู้กำกับภาพที่เป็นกังวลกับฟุตเทจที่ส่งต่อไปมากแค่ไหน

ไม่รู้สึกอะไรนะ เพราะอย่างแรกคือผมไม่ได้ทรีตฟุตเทจเป็นอะไรที่พิเศษเลย มันคือผลงานอย่างหนึ่งที่ผมตั้งใจทำมันออกมาให้ดีที่สุดแค่นั้น แล้วก่อนที่จะส่งไปกระบวนการตัดต่อ ณ วันนั้นผมต้องรู้สึกว่ามันโอเคแล้ว ถ้าไม่โอเคหน้าที่ของผู้กำกับภาพคือจะต้องรีบบอกทุกคนว่า ฉิบหายแล้วครับ แล้วก็ต้องพยายามถ่ายจนกว่าจะได้แบบที่เราคิดจริงๆ นั่นคือกรรมะของเราในตอนนั้น หลังจากนั้นมันคือกรรมะของคนอื่นแล้ว เขาจะเอาสิ่งที่ผมถ่ายมาไปกระทำอย่างไรไม่ใช่เรื่องที่ผมจะต้องกังวล

 

กรรมะของผู้กำกับภาพคืออะไร

ส่วนใหญ่คือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ณ วันถ่ายทำ เพราะบางทีสิ่งที่เห็นตรงหน้ามันอาจจะไม่เอื้อให้กับสิ่งที่เราคิดเอาไว้ในหัวเลยก็ได้ เหมือนใน Call Me by Your Name ที่ฝนตกฟ้าครึ้มมาเลย แต่ต้องถ่ายออกมาให้เหมือนแดดออก สว่างๆ นั่นก็เป็นกรรมะของผมที่ต้องจัดการให้ได้

 

การที่ต้องถ่ายหนังด้วยฟิล์มอย่างเดียวก็ถือว่าเป็น ‘กรรมะ’ อย่างหนึ่งของคุณด้วยหรือเปล่า

ผมเป็นคนแรกๆ ในเมืองไทยนะที่เคยศึกษาและเข้าใจเรื่องกล้องดิจิทัล เริ่มศึกษาตั้งแต่กล้อง Viper Thompson ยุคแรกๆ เลย แต่ว่าสุดท้ายผมเลือกที่จะไม่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล และถ่ายด้วยฟิล์มภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเหตุผลมันไม่มีอะไรเลยนะ ผมแค่รู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือที่สื่อสารกับตัวผมได้ดีกว่าดิจิทัล ฟิล์มคุยกับผมได้ และมันเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผมสื่อสารกับสิ่งแวดล้อม กับภาพยนตร์ได้ดีกว่าเท่านั้นเอง

 

 

ถ้ามีโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ หรือโปรเจกต์ที่น่าสนใจมากๆ ติดต่อมา แต่เขาขอให้คุณถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลเท่านั้น

ผมปฏิเสธไปตั้งหลายเรื่องแล้ว (หัวเราะ) ล่าสุดเพิ่งมีหนังฮอลลีวูดติดต่อมา จอห์นนี เดปป์ แสดงนำ ผมอ่านบทแล้วก็ชอบเลยนะ แต่เขาบอกว่าขอให้ผมถ่ายดิจิทัลได้ไหม กลับมาคิดอยู่ 3 วัน ก็กลับไปบอกเขาว่าตอนนี้ผมยังไม่พร้อม เดี๋ยวปีหน้าค่อยว่ากันอีกที

 

พูดแบบนี้บางคนอาจจะคิดว่าปฏิเสธไปทำไม แค่ยอมถ่ายดิจิทัลแค่นั้นเอง แต่สำหรับผมมันไม่ใช่แค่นั้นเองนะ เพราะนั่นมันคือเครื่องมือในการสร้างงานของผม ถ้าผมไม่รู้สึกสบายใจ ไม่มั่นใจ แล้วผมจะสร้างงานออกมาได้ยังไง เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งดีกว่า

 

มันไม่ฟังดูเหมือนไม่ยอมพัฒนา ไม่ยอมปรับตัวกับยุคสมัยใหม่ไปหน่อยเหรอ

แล้วแต่ใครจะมองนะ แต่ผมไม่คิดแบบนั้น เพราะถ้าเป็นงานที่หาเงิน 100% เหรอ เอามาสิ งานโฆษณา ขายของแบบนี้มาเลย แต่หนังไม่ใช่แบบนั้นสำหรับผม เพราะว่ามันใช้เวลาอยู่กับมันนานเกินไป เราตั้งใจกับมันมากเกินไป ไม่เหมือนกับโฆษณาที่ถ่าย 3 วันจบ หนังนี่ 3 เดือนจะจบหรือเปล่ายังไม่รู้ มันคือชีวิตของเราในช่วงนั้นเลยนะ เพราะฉะนั้นถ้ากับหนังใหญ่จริงๆ ผมยังเลือกฟิล์มที่ผมถนัดมากกว่า

 

ณ วันนี้ที่มีคนเรียกว่า ‘ผู้กำกับภาพฮอลลีวูด’ หรืออีกหน่อยอาจจะพ่วง ‘ผู้กำกับภาพชิงออสการ์’ ฯลฯ คำเรียกเหล่านี้ส่งผลกับชีวิตและการทำงานของคุณมากขนาดไหน

ไม่มีผลเลยนะ เพราะเวลาผมรับงานผมก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นหนังฮอลลีวูด ต้องชิงออสการ์หรือว่าอะไร แล้วถ้านับจริงๆ ผมเพิ่งจะทำงานที่เป็นสเกลระดับฮอลลีวูดก็แค่ Call Me by Your Name เรื่องเดียวเท่านั้นเอง อย่าง Arabian Nights ก็ยังไม่ถึง หรือ Antonia ก็เป็นหนังอินดี้มาก แต่มันเปิดทางให้ผมรู้จักกับลูคา กัวดายีโน ที่ชวนให้ผมมาถ่ายทำ Call Me by Your Name ซึ่งตอนแรกยังไม่ทันคิดด้วยซ้ำว่ามันคือหนังฮอลลีวูด มันกลับไปสู่เกณฑ์เดิมที่ว่า ทัศนคติของบทมันน่าสนใจเพียงพอสำหรับผมหรือเปล่า แล้วเรื่องนี้ทำได้ ผมก็รับถ่ายหนังเรื่องนี้แค่นั้นเอง

 

จนพอเห็นแล้วว่ามันเป็นหนังฮอลลีวูด และค่อยๆ ประสบความสำเร็จไปไกลขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเป็นไปได้ว่าผมอาจจะได้ชิงออสการ์ ถามว่าผมสนใจกับมันมากขึ้นไหมก็ไม่นะ ไม่ได้ทรีตมันแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เท่าไร ไอ้ความตื่นเต้นดีใจมันมีอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็อีกตั้งเป็นเดือนกว่าเขาจะประกาศรางวัลจริงๆ

 

 

คิดว่าคนในอุตสาหกรรมหนังไทยมีความพร้อมที่จะโกอินเตอร์ หรือไปยืนจุดเดียวกับคุณได้มากน้อยขนาดไหนแล้วในตอนนี้

ถ้าถามผมคิดว่าได้หมดทุกคนนะ มันไม่มีลิมิตอยู่แล้ว ผมคิดว่าที่คนไทยยังมาถึงตรงนี้ไม่ได้เหตุผลง่ายๆ คือยังไม่มีใครเห็นเขาเท่านั้นเอง ด้วยความเป็นหนังจากแดนไกลมันก็เห็นยากอยู่แล้ว แล้วบ้านเราก็ไม่เอื้อโอกาสให้เราได้ทำหนังแบบที่คนระดับฮอลลีวูดหรืออินเตอร์เนชั่นแนลเห็นอีก มันยังมีกรอบในการทำหนังหลายๆ อย่างที่มันอาจจะใช้ได้ในบ้านเรา แต่ก็จะกลายเป็นว่าเราจะเห็นกันเอง แต่ในระดับที่กว้างกว่านั้น เขาอาจจะไม่ได้มามองเห็นในสิ่งเดียวกับเรา

 

อย่างผมมีคนเริ่มเห็นจากหนังหลายๆ เรื่องของเจ้ย ที่เขาได้ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ซึ่งตรงนั้นเขามองเห็นหนังแบบนี้ แต่ในบ้าน หนังของเจ้ยก็ยังไม่ได้มีคนมองเห็นมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าปัญหามันอาจไม่ได้อยู่ที่ฝีมือ แต่เป็นที่โอกาสในการมองเห็นนี่ล่ะที่สำคัญ

 

ในช่วงหลังๆ มีหนังไทยเรื่องไหนที่คุณรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษบ้างไหม

ล่าสุดผมชอบ ฉลาดเกมส์โกง นะ (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) เป็นหนังที่ดูจบแล้วรู้สึกว่ารีบยกหูโทรศัพท์หาพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล ผู้บริหารค่าย GDH) เลย ผมว่ามันมีคุณภาพและสาระเพียงพอที่จะเข้าถึงคนยุคใหม่ได้จริงๆ

 

ตอนนี้ยังรับงานกำกับภาพของหนังไทยได้อยู่ไหม

ถ่ายได้ แต่เงื่อนไขเดิมคือ ต้องเป็นภาพยนตร์และถ่ายด้วยฟิล์มเท่านั้นนะ (หัวเราะ)

FYI
  • เมื่อปีที่ผ่านมา สยมภู ปฏิเสธการเป็นผู้กำกับภาพจากต่างประเทศไปแล้วทั้งหมด 4 เรื่อง
  • สยมภู คิดว่า Roger Deakins จากภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner (2049) กับ Hoyte van Hoytema จาก Dunkirk คือผู้กำกับภาพที่มีสิทธิ์ได้รางวัลออสการ์มากที่สุดในปีนี้
  • สยมภู รับหน้าที่ผู้กำกับภาพในภาพยนตร์ไทยหลากหลายแนว เช่น ดอกฟ้าในมือมาร, แสงศตวรรษ, เฉิ่ม, ไชยา, สตรีเหล็ก 2, Me…Myself, ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย ฯลฯ
  • ผลงานในระดับต่างประเทศของสยมภู ได้แก่ Soi Cowboy, Hellgate ภาพยนตร์ไตรภาคชุด Arabian Nights และ Antonia
  • ปัจจุบัน สยมภู มีชื่อเข้าชิงรางวัลสาขากำกับภาพยอดเยี่ยมจาก 2 เวที คือ Critic’s Choice Award และ Independent Spirit Award (รางวัลออสการ์ของภาพยนตร์นอกกระแส)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X