×

Saving The Seine: เจาะลึกภารกิจคืนชีวิตให้ ‘ลา แซน’ แม่น้ำสายโรแมนติกที่สุดในโลกของชาวฝรั่งเศส

29.03.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • ความจริงที่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือแม่น้ำสายโรแมนติกนี้เน่ามานานแล้ว ไม่มี ‘ปารีเซียง’ (ชาวปารีส) คนไหนที่สามารถลงไปว่ายในแม่น้ำแซนได้ เพราะความเน่าเสียนั้นสูงและเป็นอันตรายเกินกว่าจะมีการอนุญาตให้ทำเช่นนั้นมายาวนานตั้งแต่ปี 1923 หรือครบ 100 ปีแล้ว
  • โครงการการฟื้นฟูแม่น้ำแซนได้รับการผลักดันอย่างจริงจังภายใต้ยุคของนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันอย่าง แอนน์ อีดัลโก (Anne Hidalgo) ซึ่งนำเสนอโครงการการฟื้นฟูแม่น้ำแซนในฐานะส่วนหนึ่งของแผนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2024
  • ‘พระเอก’ ตัวจริงที่จะเป็นคนช่วยชีวิตลา แซนได้เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวมาคือสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า ‘ถัง’ ที่มีความกว้างด้านละ 50 เมตร (164 ฟุต) ลึก 34 เมตร (115.5 ฟุต) หรือเทียบได้เท่ากับสระว่ายน้ำระดับโอลิมปิกถึง 20 สระรวมกัน
  • การที่ผู้คนจะสามารถกลับมาแหวกว่ายในสายน้ำแซนได้อีกครั้งนั้นเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างมาก เพราะมันหมายถึง ‘ชีวิต’ ของชาวเมืองที่จะกลับมาอีกครั้ง แม่น้ำแซนจะเป็นมากกว่าแค่แม่น้ำที่ผู้คนล่องเรือหรือนั่งพักผ่อนเท่านั้น

ที่ริมน้ำแซน หญิงสาวผู้คลุมฮิญาบที่นั่งฟังชายหนุ่มกลุ่มใหญ่ ‘มาดมัวแซว’ (จริงๆ คือมาดมัวแซล) คนนั้นคนนี้ไปเรื่อยมาสักพักใหญ่ ก่อนที่เธอจะลุกเพื่อเดินทางไปต่อ แต่เดินได้ไม่นานเธอก็สะดุดก้อนหินและล้มลง

 

ชายหนุ่มคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มซึ่งแอบสังเกตเธอเช่นกันรีบรุดขึ้นไปช่วย และพาเธอมานั่งพัก ตอนนี้เขาสังเกตเห็นแล้วว่าผ้าฮิญาบที่ซ่อนเร้นเส้นผมสีดำขลับของเธอหลุดออกมา และเส้นผมดำสลวยนั้นทำให้เขาหัวใจเต้น

 

“คุณมีผมที่สวยมากเลย ทำไมถึงต้องปกปิดมันไว้ด้วย” เขาถามก่อนเธอจะตอบ “ฉันไม่ได้ต้องปกปิด แต่ฉันเลือกที่จะปกปิด” ชายหนุ่มบอกต่อว่า “แย่จัง เพราะคุณสวยมากเลยนะ”

 

“คุณกำลังจะบอกว่าฉันไม่สวยเหรอเวลาสวมฮิญาบ” เธอถามกลับ “เปล่าๆ ผมไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น”

 

บทสนทนานี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังรักในวันวาน ‘Paris je t’aime’ (2006) ซึ่งประกอบไปด้วยหนังสั้นอบอวลไอรักหลายๆ ตอน ซึ่งตอนที่หยิบยกมาข้างต้นคือตอนที่มีชื่อว่า ‘Quais de Seine’ หรือ ‘ท่าน้ำแห่งแซน’ 

 

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องเดียวที่นำแม่น้ำสายนี้มาใช้ประกอบเล่าเรื่องราว หากแต่ยังมีวรรณกรรม กวี ไปจนถึงภาพวาดของศิลปินระดับโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะ หรือ โคลด โมเนต์ ที่เป็นดังภาพในเงาสะท้อนของสายน้ำถึงความโรแมนติกที่มีอยู่ในทุกหยาดหยดของแม่น้ำที่เปรียบดังเส้นเลือดใหญ่ของฝรั่งเศสสายนี้

 

ความโรแมนติกนี้ทำให้ในแต่ละปีนักท่องเที่ยวจำนวนหลายล้านคนที่เดินทางมาถึงปารีส นอกจากมหาวิหาร พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และหอไอเฟลแล้ว การล่องเรือชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งของแม่น้ำแซนก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน

 

เพียงแต่ความจริงที่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือ แม่น้ำสายโรแมนติกนี้เน่ามานานแล้ว ไม่มี ‘ปารีเซียง’ (ชาวปารีส) คนไหนที่สามารถลงไปว่ายในแม่น้ำแซนได้ เพราะความเน่าเสียนั้นสูงและเป็นอันตรายเกินกว่าจะมีการอนุญาตให้ทำเช่นนั้นมายาวนานตั้งแต่ปี 1923 หรือครบ 100 ปีแล้ว

 

แต่เรื่องราวที่น่าเศร้านี้กำลังจะจบลง เมื่อปารีสเดินหน้าในโครงการสำคัญ

 

“คืนชีวิตให้แม่น้ำแซน”

 

แซน…แสนเศร้า

‘ลา แซน’ (La Seine) คือชื่อของแม่น้ำที่มีความยาวถึง 777 กิโลเมตร ที่เริ่มต้นจากต้นน้ำในเมืองซูร์-แซน (Source-Seine) ใกล้กับเมืองดิฌง (Dijon) ในแคว้นเบอร์กันดี (Burgundy) และทอดตัวยาวผ่านหลายเมืองรวมถึงปารีสและไปจบที่ช่องแคบอังกฤษ

 

ถ้าสังเกตจากชื่อก็จะมีรายละเอียดเล็กๆ อีกว่า ชาวฝรั่งเศสใช้คำนำหน้าแม่น้ำสายนี้ว่า ‘La’ ซึ่งเป็นคำเพศหญิง ที่หมายความว่าแม่น้ำแซนนั้นคือหญิงสาว และความจริงชื่อของแม่น้ำสายนี้ว่ากันว่านำมาจากชื่อของเทพแห่งสายน้ำองค์หนึ่งที่มีชื่อว่า ‘เซกวานา’ (Sequana) ที่ต่อมาชื่อเรียกได้ถูกกร่อนจนสั้นลงตามกาลเวลาจนเหลือแค่แซน

 

แม่น้ำและเทพธิดา มันน่าจะสวยงามใช่ไหม

 

แต่แซนกลับมีชีวิตที่แสนเศร้า ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ 150 ปีที่แล้ว เมื่อ จอร์จ-ยูแชง เอาส์มองง์ (Georges-Eugene Hausmann) ซึ่งเป็นช่างวางผังเมืองในยุคสมัยของนโปเลียน ได้วางผังเมืองปรับปรุงระบบโครงสร้างของมหานครปารีสครั้งใหญ่

 

การปรับปรุงครั้งนั้นรวมถึงเรื่องของระบบการระบายน้ำที่กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ให้แก่คนรุ่นหลังในเวลาต่อมา โดยในช่วงปี 1980 ปารีสมีการปรับปรุงระบบการระบายน้ำให้ทันสมัยมากขึ้น มีการช่วยกรองขยะและของเสียขนาดใหญ่ไม่ให้ลงไปในแม่น้ำแซนอีกแต่ปัญหานั้นยังคงอยู่ 

 

โดยเฉพาะเมื่อเกิดฝนตกถล่มลงมาอย่างหนัก ของเสีย สิ่งปฏิกูลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นในรูปของเหลวหรือของแข็ง (หรือของแข็งที่เหลว…) ต่างหลุดรอดเข้าไปในระบบการระบายน้ำ ก่อนจะไหลลงไปสู่แม่น้ำแซน และมีสภาพไม่ต่างอะไรจากแม่น้ำหลายสายในประเทศโลกที่ 3 

 

ดังนั้นต่อให้ชาวปารีเซียงหรือนักท่องเที่ยวจะมองลา แซนจากภายนอกสวยแค่ไหน แต่ไม่มีใครกล้าจะแตะต้องแม่น้ำสายนี้

 

ไม่ใช่เพราะแม่น้ำนั้นบริสุทธิ์ หากแต่มันเน่า ต่อให้เรายังเห็นเงาจันทร์อยู่ก็ตาม

 

คืนชีวิตให้แซน…แสนสวย

ความจริงเรื่องการชุบชีวิตให้แม่น้ำแซนนั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใดสำหรับชาวปารีส ในทางตรงกันข้ามมันเป็นสิ่งที่มีการพูดถึงยาวนานกว่า 30 ปีแล้ว

 

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การคืนชีวิตให้แก่แม่น้ำแซนอีกครั้งก็ไม่ต่างอะไรจากแม่น้ำสำคัญหลายสายทั่วโลกที่มันดูยากจนแทบจะเป็น Mission Impossible ไปเสียหมด

 

ปัญหาใหญ่ของชาวปารีสในการฟื้นฟูแม่น้ำสายโรแมนติกให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งเกิดจากความซับซ้อนของปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องการระบายน้ำเสียที่ระบบเก่าที่วางไว้ไม่เอื้อให้ทำอะไรได้มากนัก ไม่นับการที่ใต้มหานครปารีสเองเต็มไปด้วยเครือข่ายต่างๆ อีกมากมาย (จนเรียกได้ว่าใต้ดินนั้นแทบจะเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ ได้เลยทีเดียว) การจะรื้อระบบใหม่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่จะใช้งบประมาณมหาศาลไม่รู้จบ อีกทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าทำแล้วจะจบจริงไหม

 

อย่างไรก็ดีโครงการฟื้นฟูแม่น้ำแซนได้รับการผลักดันอย่างจริงจังภายใต้ยุคของนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันอย่าง แอนน์ อีดัลโก (Anne Hidalgo) ซึ่งนำเสนอโครงการฟื้นฟูแม่น้ำแซนในฐานะส่วนหนึ่งของแผนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2024 มาตั้งแต่ปี 2016 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

 

ท่านนายกเทศมนตรีหญิงให้คำมั่นว่าภายในปี 2024 ปารีสมหานครที่เป็นบ้านของผู้คนอีก 11 ล้านคนจะสามารถจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หยั่งรากฝังลึกมาอย่างยาวนานได้แน่นอน 

 

คำสัญญาของอีดัลโกในเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลเทคะแนนให้มหานครแห่งความรักแห่งนี้ได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ซึ่งจะเป็นอีกครั้งที่โอลิมปิกได้กลับมาสู่ปารีส หลังจากที่เคยจัดการแข่งขันโอลิมปิกไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 1900

 

เปลวไฟและใจบันดาลแรง

เปลวไฟจากวิหารฮีราในเทือกเขาโอลิมเปีย กลายมาเป็นแรงบันดาลใจและใจบันดาลแรงให้แก่ชาวปารีสในการคืนชีวิตให้แก่แม่น้ำที่เป็นดังหัวใจของพวกเขาอีกครั้งได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

เหตุผลสำคัญนั้นเป็นเพราะว่าในสิ่งที่ปารีสให้สัญญาไว้คือแม่น้ำแซนจะเป็นส่วนสำคัญในมหกรรมกีฬาที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ จะจัดให้มีการแข่งขันว่ายน้ำเหมือนที่เคยจัดเมื่อปี 1900 หรือ 123 ปีที่แล้ว 

 

โดยจะมีการแข่งขันว่ายน้ำมาราธอนระยะทาง 10 กิโลเมตร รวมถึงในการแข่งไตรกีฬาที่จะมีการแข่งว่ายน้ำ และแม้แต่ในกีฬาพาราลิมปิกเกมส์เองก็จะมีการแข่งขันในแม่น้ำแซนเช่นเดียวกัน

 

นอกเหนือจากนั้นคือการที่แม่น้ำแซนจะเป็นไฮไลต์ของพิธีเปิดการแข่งขัน ซึ่งในครั้งนี้แทนที่จะมีการจัดขึ้นในสนามกีฬาโอลิมปิกตามธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม พิธีเปิดของ ‘ปารีส 2024’ จะมีขึ้นกลางแม่น้ำแซน โดยจะเปิดโอกาสให้แฟนกีฬาจากทั่วโลกได้ร่วมชม และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดการแข่งขันอันยิ่งใหญ่ด้วย 

 

นักกีฬามากกว่า 200 ชาติจากทั่วโลกรวมถึงเจ้าหน้าที่และแขกพิเศษจะร่วมขบวนพาเหรดสุดพิเศษที่อาจเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชั่วชีวิตที่ทุกคนจะล่องเรือระยะทางราว 6 กิโลเมตรจากสะพานปงต์ดุสแตร์ลิตซ์ (Pont d’Austerlitz) ไปถึงสะพานปงต์เดอเลอนา (Pont d’lena) 

 

มีการคาดว่าจะมีผู้ชมที่มารอเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดการแข่งขันอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำแซนมากถึง 600,000 คน มากกว่าความจุของสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสอย่างสตาดเดอฟรองซ์ ในเมืองแซงต์-เดอ นีส์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปารีสถึง 7 เท่าด้วยกัน

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้มีความพยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้แม่น้ำแซนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

ไม่ว่าจะต้องทำอย่างไรก็ตาม

 

พระเอกที่ลา แซนรอคอย

จากแม่น้ำที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลและขยะที่มีตั้งแต่อาหาร กล่องโฟม ไปจนถึงของที่ไม่มีใครคิดอย่างโทรทัศน์ขนาดยักษ์และมอเตอร์ไซค์ (!!!) ความพยายามตลอดหลายปีที่ผ่านมาของนครปารีสในการจัดการเรื่องน้ำเสียของแม่น้ำแซนถือว่าได้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ

 

โดยในการตรวจสอบเมื่อปี 2022 น้ำที่ว่าเสียของลา แซนก็ยังดีกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วจนถึง 90% ซึ่งมาจากการอัปเกรดระบบการระบายน้ำอย่างเต็มที่และจริงจังจากระบบเดิมที่เอาส์มองง์วางไว้

 

แต่​ ‘พระเอก’ ตัวจริงที่จะเป็นคนช่วยชีวิตลา แซนได้เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวมาคือสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า ‘ถัง’ ที่มีความกว้างด้านละ 50 เมตร (164 ฟุต) ลึก 34 เมตร (115.5 ฟุต) หรือเทียบได้เท่ากับสระว่ายน้ำระดับโอลิมปิกถึง 20 สระรวมกัน 

 

ถังเก็บน้ำหรือที่ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า ‘บาสแซง’ (Bassin) นี้อยู่ในโรงงานบำบัดน้ำเสียขนาดยักษ์ มันสามารถรองรับน้ำฝนได้มากถึง 45,000 ลูกบาศก์เมตร (หรือมากกว่า 10 ล้านแกลลอน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญเพียงอย่างเดียวคือการ ‘รองรับน้ำฝนในช่วงที่พายุซัดถล่ม’ เพื่อป้องกันไม่ให้เกินขีดความสามารถของระบบการระบายน้ำในปารีส

 

หากการก่อสร้างเสร็จสิ้นถังนี้จะมีอุโมงค์ที่เชื่อมตรงกับริมฝั่งแม่น้ำซึ่งจะรองรับน้ำเสียจากระบบการระบายน้ำ น้ำเสียและน้ำฝนจะถูกชะลอก่อนจะเข้าสู่ระบบการบำบัดน้ำเสียที่มีการติดตั้งไว้ใต้นครปารีสก่อนที่น้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วจะถูกปล่อยให้ไหลลงแม่น้ำ

 

ฟังดูแล้วเป็นหลักการที่ง่าย แต่การจะทำจริงไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายเมืองที่พยายามจะทำแบบนี้มาก่อนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่งานนี้พวกเขาแพ้ไม่ได้

 

เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่ใช่แค่เพื่อกีฬาโอลิมปิกที่จะจัดขึ้น

 

คนที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ คือชาวปารีเซียงทุกคน

 

แหวกว่ายในสายน้ำแซน

เป้าหมายในอนาคตหลังเสร็จสิ้นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกคือการทำให้แม่น้ำแซนกลับมาสะอาดมากพอที่จะทำให้ทุกคนกลับมาว่ายน้ำในแม่น้ำได้อีกครั้ง

 

นครปารีสมีแผนที่จะก่อสร้างสระว่ายน้ำจำนวน 26 สระตลอดระยะทางของแม่น้ำแซน ซึ่งสระหลายแห่งอยู่ใจกลางปารีสเลยทีเดียว 

 

การที่ผู้คนจะสามารถกลับมาแหวกว่ายในสายน้ำแซนได้อีกครั้งนั้นเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างมาก เพราะมันหมายถึง ‘ชีวิต’ ของชาวเมืองที่จะกลับมาอีกครั้ง แม่น้ำแซนจะเป็นมากกว่าแค่แม่น้ำที่ผู้คนล่องเรือหรือนั่งพักผ่อนเท่านั้น

 

แม่น้ำแซนจะยังสามารถเป็นที่พักพิงของชาวปารีเซียงที่เจอกับสภาพอากาศร้อนจัดตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในปี 2019 ปารีสร้อนถึง 108.6 องศาฟาเรนไฮต์เลยทีเดียว ซึ่งหากแม่น้ำแซนสะอาดพอที่คนจะลงว่ายน้ำเล่นได้ แม่น้ำสายนี้ก็จะเป็นที่พักพิงอิงกายได้อย่างดีในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเช่นนั้น 

 

เหมือนที่ชาวเมืองซูริก, มิวนิก, โคเปนเฮเกน สามารถลงว่ายน้ำเล่นในสระที่อยู่ในเมืองได้ และเหมือนที่เบอร์ลินและอัมสเตอร์ดัม พยายามที่จะทำให้ทุกคนว่ายน้ำเล่นในแม่น้ำและลำคลอง นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตในน้ำเองก็จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วยหากแม่น้ำกลับมาใสสะอาดอีกหน

 

ที่สำคัญคืองานนี้กำลังเป็นที่จับตามองจากคนทั่วโลกว่าปารีสจะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นความจริงได้หรือไม่

 

เพราะหากพวกเขาสามารถพลิกฟื้นแม่น้ำที่มีเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และความสำคัญ รวมถึงความโรแมนติกที่สุดอย่างลา แซน

 

มันจะเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับเมืองใหญ่ทั่วโลกที่จะทำในแบบเดียวกัน และอาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการฟื้นฟูโลกของเราที่บอบช้ำมายาวนานให้กลับมาดีอีกครั้ง 

 

ไม่ใช่แค่สำหรับพวกเราในวันนี้ แต่สำหรับพวกเขาที่จะต้องอยู่ที่นี่ต่อไปในอีกหลายชั่วอายุคนในวันข้างหน้า

 

“คุณมีผมที่สวยมากเลย ทำไมถึงต้องปกปิดมันไว้ด้วย” ผู้เขียนกำลังคิดถึงฉากในภาพยนตร์ Paris je t’aime อีกครั้ง

 

ไม่มีคำตอบจากหญิงสาว มีแค่รอยยิ้มเบาๆ ของเธอ

 

ภาพ: GLF Media via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X