คำว่า ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ หรือ Doomsday Glacier เป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเรียก ‘ธารน้ำแข็งทเวตส์’ (Thwaites Glacier) ที่ขั้วโลกใต้ เพื่อเน้นย้ำให้ผู้คนหันมาสนใจ
ธารน้ำแข็งทเวตส์นี้กำลังละลายอย่างรวดเร็วจากน้ำทะเลที่เริ่มอุ่นขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตโลกร้อน
ด้วยปริมาณน้ำแข็งที่มีพื้นที่กว้างเท่าเกาะอังกฤษของ ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ นี้ เมื่อละลายหมดน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 65 เซนติเมตร
65 เซนติเมตรก็มากเพียงพอที่จะท่วมมหานครริมชายฝั่งเกือบทั่วโลกแล้ว ส่งผลให้ผู้คนกว่า 97 ล้านคนต้องเดือดร้อน และที่ร้ายแรงกว่านั้น เมื่อธารน้ำแข็งทเวตส์ละลายหมด จะเปิดทางให้น้ำอุ่นในทะเลไหลเข้าไปก่อปัญหาให้ธารน้ำแข็งอื่นๆ บริเวณใกล้เคียงละลายตาม และเมื่อเป็นแบบนั้น น้ำทะเลทั่วโลกอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีกถึง 3 เมตร นี่คือหายนะวันสิ้นโลกอย่างแท้จริง ตามฉายาที่ตั้งไว้เรียกธารน้ำแข็งที่เป็นกุญแจสำคัญนี้
ไอเดียในการแก้ปัญหา
จอห์น มัวร์ (John Moore) นักธรณีวิทยาและนักวิจัยวิศวกรรมธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัยแลปแลนด์ และทีมงาน แนะนำไอเดียที่ค่อนข้างฟังดูแปลก นั่นคือเราต้องลงทุนสร้าง ‘ม่านใต้ทะเล’ ยาวไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อปกป้อง ‘ธารน้ำแข็งทเวตส์’ จากกระแสน้ำอุ่น
นี่คือการแก้ปัญหาเชิงรุก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ โดยโต้แย้งว่า มีเพียงการลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นวิธีตั้งรับวิธีเดียวที่จะชะลอการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกได้
แต่ทีมงานของมัวร์เชื่อว่า มนุษย์ไม่มีทางลดการปล่อยคาร์บอนได้ทันการละลายของธารน้ำแข็ง ตั้งแต่ปี 2000 ที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งทเวตส์ละลายปล่อยน้ำออกสู่ทะเลแล้วกว่า 1,000 ล้านตัน และอัตราการละลายก็เร็วขึ้นเรื่อยๆ
เราต้องทำงานแข่งกับเวลา
ข้อมูลที่เชื่อถือได้บอกเราว่า น้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายในอัตราเร็วที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากพวกเราจะมามัวแต่หาข้อมูลว่าน้ำแข็งในแหล่งต่างๆ จะละลายหมดในปีไหนเป็นที่แน่นอนนั้น ทีมงานของมัวร์เชื่อว่า คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไปในหมู่นักธารน้ำแข็งวิทยา แต่สำหรับทีมงานของเขา แน่นอนว่าการเสนอวิธีแก้ปัญหาเชิงรุกคือทางออกที่เหมาะสมกว่าในเวลาที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ
แนวคิดการสร้าง ‘ม่านใต้ทะเล’ ของ จอห์น มัวร์ ไม่ใช่ของใหม่ เคยมีไอเดียแปลกเมื่อหลายปีก่อนที่จะสร้าง ‘เขื่อน’ ใต้ทะเลในการป้องกันกระแสน้ำอุ่นไม่ให้ไปก่อปัญหากับธารน้ำแข็ง แต่ ‘ม่านใต้ทะเล’ ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่นี้ ทีมงานของมัวร์เชื่อว่าน่าจะดีกว่ากำแพงหินแข็งในทุกๆ ด้าน
“ม่านใต้ทะเลมีประสิทธิภาพในการปิดกั้นกระแสน้ำอุ่นพอๆ กับกำแพง แต่จะง่ายกว่ามากในการรื้อออกไปหากจำเป็น ตัวอย่างเช่น หากม่านส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างไม่คาดคิด เราก็สามารถรื้อมันออกได้ทันที” มัวร์อธิบาย
“เรากำลังเร่งมืออย่างเต็มที่ ระบบต้นแบบกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและทดสอบจากทีมงานในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เราจะเร่งสู่ขั้นตอนต่อไปประมาณกลางปีหน้า
“เราทดสอบต้นแบบในแท็งก์น้ำขนาดเล็กในมหาวิทยาลัย จากนั้นหากเราพบว่ามันทำงานได้ตามที่เราคิด ก็จะเอาลงไปติดตั้งไว้ที่ก้นแม่น้ำแคม (River Cam) โดยเราจะทดสอบทั้งในแบบติดตั้งอยู่นิ่งๆ กับที่ และเราจะลาก ‘ม่าน’ นี้ไปกับเรือ
“แนวคิดคือการค่อยๆ ขยายขนาดต้นแบบจนกว่าหลักฐานจะบ่งชี้ว่าเทคโนโลยีมีความเสถียรเพียงพอที่จะติดตั้งในแอนตาร์กติก” มัวร์กล่าวถึงขั้นตอนการทดสอบ
ต้นแบบในการทดลองนี้มีมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ และการขยายขนาดเพื่อไปถึงจุดที่ทีมงานของมัวร์กล้าที่จะยืนยันว่าเทคโนโลยีทำงานได้จริง ก็ต้องใช้งบ 10 ล้านดอลลาร์ ส่วนเวอร์ชันติดตั้งจริงที่ก้นทะเลขั้วโลกใต้ในอนาคตต้องการงบประมาณมหาศาลถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์
“ฟังดูอาจคิดว่าแพง” จอห์น มัวร์ กล่าว “แต่หากเราไม่ทำอะไร ต้นทุนในการรักษาชายฝั่งทั่วโลกก็คือ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีต่อเมตรของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น”
ก็ดูเป็นแนวคิดล้ำหน้าสุดโต่งของทีมนักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ แต่เชื่อว่าแนวคิดในการแก้ปัญหาเชิงรุกแบบนี้ก็เป็นเหตุผลที่ดีที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ จะหันมาให้ความสนใจ เพื่อเมื่อถึงเวลาที่สภาพโลกร้อนถึงขั้นเลวร้ายจริง งบประมาณที่ทุกประเทศต้องใช้ในการแก้ปัญหาของตัวเองรวมแล้วน่าจะมากเกินไปกว่านี้มาก
ภาพ: Reuters
อ้างอิง:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปริมาณธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ลดลงถึง 10% ในเวลาเพียงแค่ 2 ปี
- นักวิทยาศาสตร์เผยรายงาน ชี้ธารน้ำแข็งหิมาลัยอาจละลายถึง 75% ภายในปี 2100