ทีมอาสา ‘เราต้องรอด’ เริ่มจากการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่ยังรอเตียงอยู่ ด้วยการนำเครื่องผลิตออกซิเจนไปช่วยประคองอาการระหว่างรอเตียง ช่วงปลายเดือนเมษายนหลังการระบาดระลอกสาม เป็นช่วงที่เคสรอเตียงเริ่มเยอะ เพราะโรงพยาบาลสนามต่างๆ ยังไม่เปิดรองรับผู้ป่วย หลังจากนั้นสถานการณ์เริ่มดีขึ้น จนกระทั่งยอดผู้ป่วยสะสมสูงเฉลี่ย 5,000-6,000 คนต่อวัน กลายเป็นว่าปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยรอเตียงวิกฤตที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีมา
“เกือบทุกเคสที่ไปช่วยตอนนี้คืออาการหนักทุกเคส บางเคสหายใจไม่ได้ ทุกเคสคือถ้าเราไม่เข้าไปช่วยในวันนั้น วันรุ่งขึ้นมาเขาอาจไม่หายใจแล้วก็ได้ แต่บางเคสที่เราไปช่วยแล้วเขาทรุดจริงๆ เขาจากไปหลังเราไปช่วยก็มี บางเคสเราก็ไปช่วยไม่ทัน ผ่านไป 1 ชั่วโมงหลังรับแจ้งก็เสียชีวิตแล้ว มีเกือบทุกวันที่มีผู้ป่วยที่เราดูแลเสียชีวิต”
ต้าร์-คชานนท์ แข็งการ ทีมอาสาสมัครเราต้องรอด บอกกับ THE STANDARD ถึงภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่รอเตียงอยู่ที่บ้าน พวกเขามีทีมงานเพียง 6 คน และรถฉุกเฉิน 2 คัน แต่มีเคสผู้ป่วยโควิดที่โทรมาขอความช่วยเหลือจำนวนมาก
“ทุกวันนี้ผมกล้าพูดเลยว่าวิกฤต ผู้ป่วยนอนพะงาบๆ โทรไปแจ้งอาการ เขาก็บอกว่ายังหาเตียงไม่ได้ เหมือนบางครั้งเราไปช่วยเขาขนย้ายผู้ป่วยที่อาการหนัก เสียชีวิตคารถก็มีเพราะว่าเคลียร์เตียงปลายทางไม่ทัน”
ต้าร์ คชานนท์ บอกด้วยว่า เคสที่โทรมามีเยอะมากๆ เรามีทีมแพทย์อาสามาช่วยคัดกรองอาการเพื่อจัดลำดับความช่วยเหลือ พอไปถึงหน้างาน ถ้ามีเคสไหนที่เรายังไม่กล้าตัดสินใจ เราจะมีคุณหมอที่เป็นที่ปรึกษาแนะนำเราว่าควรช่วยเหลือเขาอย่างไร บางครั้งเราต้องทำหน้าที่เหมือนจิตแพทย์ดูแลจิตใจของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยด้วย
“เราเสียใจในทุกเคสที่เราช่วยเหลือเขาไม่ได้ แม้กระทั่งบางคนช่วยเหลือได้แต่เขาก็ไม่รอด แต่มันจะเหนื่อยใจกว่ากับเคสที่เรายังไปไม่ถึงเขา ทีมงานเรามีน้ำตาทุกวัน เราก็หดหู่ บางครั้งต้องไปนั่งอยู่ในรถคนเดียว ขอเคลียร์อารมณ์ตัวเองก่อนไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นที่ยังรออยู่อีกมากต่อไป”
สถานการณ์เตียงเต็มของผู้ป่วยโควิดยังวิกฤตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตที่บ้านหลายเคส หรือบางเคสก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาล เพราะเข้ารับการรักษาช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า การมีผู้ป่วยหนักต้องรอเตียง ICU ส่งผลตามมาเป็นทอดๆ เพราะเคสที่ต้องรอจะเข้า ICU แต่ยังไม่ได้เข้าก็จะเสียโอกาสในการได้รับการรักษาบางอย่าง เช่น เครื่องช่วยหายใจระดับสูง การใช้ยาบางตัว มันก็จะเป็นทอดๆ ทั้งเคสที่เข้า ICU ไม่ได้ เคสตกค้างที่ห้องฉุกเฉินก็เยอะ มันก็จะเป็นผลเสีย
“ปัจจุบันเราเห็นว่าเคสที่เข้าโรงพยาบาลมีอาการหนักมาจากบ้านเลย ต่างจากการระบาดรอบก่อนหน้านี้ ก็แสดงว่ามีการตกค้างอยู่ในบ้านในชุมชนที่เข้ามาโรงพยาบาลไม่ได้”
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ขณะนี้รุนแรงมาก จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เห็นไม่เป็นตัวเลขจริงแน่นอน มีเยอะกว่านั้นมาก จากการตรวจพบศพติดเชื้อหลายราย เชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ ศบค. รายงานไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะต้องมีมากกว่านี้
โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ตนได้ไปตรวจศพ 4 ราย รายหนึ่งอายุมากแล้ว ทำให้ทราบแน่นอนว่าติดเชื้อโควิดแต่ไม่มีเตียงแอดมิต แล้วก็เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนอีก 3 ราย ทำการ Swab แล้ว ผลออกมาเป็นบวกทั้งหมด โดยเป็นตัวเลขการเสียชีวิตแค่วันเดียว และเฉพาะแค่เขตที่โรงพยาบาลรับเท่านั้น
ผู้ป่วยโควิดเป็นชายสูงอายุ มีโรคประจำตัว อาการเริ่มเข้าขั้นวิกฤต เริ่มหายใจเองไม่ได้ แม้อาการจะหนักขนาดนี้แต่ก็ต้องนอนรอเตียงรักษาอยู่ ทีมอาสาสมัครเราต้องรอดใช้เครื่องผลิตออกซิเจนช่วยประทังชีวิตผู้ป่วยให้รอเตียงต่อไป
ทีมอาสาสมัครเราต้องรอดวัดค่าออกซิเจนผู้ป่วยโควิด ซึ่งพบว่ารายนี้อยู่ในระดับต่ำกว่า 90% สิ่งที่ทำได้คือประเมินอาการและให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย ระหว่างนั้นก็ให้ญาติติดต่อ 1669 ไปเรื่อยๆ เพื่อร้องขอเตียงรักษา
ผู้ป่วยโควิดวัยชรา หายใจเองไม่ได้แล้ว แม้จะมีเครื่องผลิตออกซิเจนที่ทีมอาสามัครเอาไปให้ใช้ก่อนหน้า ญาติต้องโทรมาขอความช่วยเหลือ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ ทีมอาสาเราต้องรอด ทำได้เพียงสอนวิธีการหายใจและให้กำลังใจให้ผู้ป่วยที่อยู่ปลายสาย ขณะที่เสียงหายใจที่ปลายสายรวยรินมากๆ ถือเป็นช่วงเวลาบีบหัวใจของทุกฝ่ายที่อยู่ร่วมเหตุการณ์
ทีมอาสาเราต้องรอดเตรียมใส่ชุด PPE เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่ยังรอเตียงอยู่ที่บ้าน พวกเขาทำหน้าที่แบบนี้ตั้งแต่ช่วงสายจนถึงมืด และช่วงหลังมานี้มีเคสด่วนที่ต้องออกไปช่วยเหลือช่วงหลังเวลาเที่ยงคืนบ่อยมาก
หนึ่งคนสูงอายุ อีกหนึ่งคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ติดเชื้อโควิดและนอนรอเตียงอยู่ในบ้านทั้งคู่ ทีมอาสาสมัครเราต้องรอดเข้าดูอาการเบื้องต้น และให้คำแนะนำระหว่างรอเตียง
ผู้ป่วยโควิดสูงอายุมียังหายใจได้อยู่ แต่เริ่มมีอาการทานอาหารไม่ได้ ส่งผลต่อการทานยาโรคประจำตัวต่างๆ ของตัวเองที่มีอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทีมอาสาเราต้องรอดช่วยให้คำแนะนำเบื้องต้นระหว่างรอเตียง
ทีมเราต้องรอดสอนใช้อุปกรณ์เบื้องต้นกับญาติผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤตให้ดูแลกันไปเองก่อนระหว่างรอเตียง สิ่งที่ยากคือทีมอาสาสมัครต้องบอกผู้ป่วยตรงๆ ว่าเราไม่สามารถหาเตียงให้ได้ และระหว่างนี้ถ้าผู้ป่วยมีอาการวิกฤตขึ้นมาอีกให้รีบโทรหาทีมเราต้องรอดก่อน
สิ่งที่ทำได้คือช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่รอดไปได้ให้นานที่สุด นานจนกว่าพวกเขาจะได้รับเตียงรักษา
ทีมงานต้องรับสายผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่ที่บ้านจำนวนมาก แต่ด้วยทีมงานที่จำกัดเพียง 6 คน และรถฉุกเฉิน 2 คัน จึงต้องคัดเลือกเคสที่ควรเร่งช่วยเหลือก่อน
ระหว่างที่เตรียมตัวใส่ชุด PPE เพื่อลงไปช่วยเหลือเคสผู้ป่วยรอเตียงที่บ้าน อีกสายโทรศัพท์ก็โทรมาแจ้งว่ากำลังรอการช่วยเหลือ
หลังดูแลผู้ป่วยในบ้าน ทีมงานต้องทำความสะอาดป้องกันตัวเองให้ดี เพราะพวกเขาก็มีคนที่รักรออยู่เช่นกัน
ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร ทำให้หลายครั้งการไปช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ทำได้ไม่เร็วมากนักเพราะไม่ชำนาญพื้นที่ แต่แม้เส้นทางจะห่างไกลและลำบากแค่ไหน พวกเขารู้ว่ามีชีวิตที่ลำบากมากกว่ารอการช่วยเหลืออยู่