วันนี้ (2 ตุลาคม) กีโยม ราชู ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save the Children Thailand) กล่าวถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเพิ่มมาตรการป้องกัน และการประเมินความเสี่ยงในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมนอกโรงเรียน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับเด็กทุกคน
ตามข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่คร่าชีวิตเด็กไทยไปแล้วกว่า 26,930 คน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็ก
จากรายงานของ Global Alliance – Cities 4 Children ในปี 2023 ชี้ให้เห็นว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 5-29 ปี โดยมีเด็กเสียชีวิตมากถึง 220,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง เนื่องด้วยความสามารถในการประเมินความเสี่ยงบนท้องถนนยังไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ตัวเลขการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุทางถนนถือว่าเป็นสัญญาณเตือนที่เราต้องรีบแก้ไข อุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กต้องประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียด ตั้งแต่การเดินทางไปโรงเรียน การทัศนศึกษา ไปจนถึงการเข้าค่าย ถ้าเรายังไม่ตระหนักถึงการป้องกันและการเตรียมความพร้อม อนาคตของเด็กไทยก็ยังอยู่บนความเสี่ยง
กีโยมกล่าวต่อว่า การป้องกันอุบัติเหตุไม่ใช่เพียงการสร้างมาตรการเขียนขึ้นบนกระดาษเท่านั้น แต่ต้องนำไปปฏิบัติจริงอย่างเคร่งครัด โรงเรียนและผู้ปกครองจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประเมินความเสี่ยงในทุกรายละเอียด เช่น การคัดเลือกคนขับรถที่ผ่านการอบรม การจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถ การซ้อมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และการมีระบบเฝ้าระวังที่รัดกุม การซักซ้อมแผนอพยพและเอาตัวรอดต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กๆ มีทักษะและความมั่นใจในการเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
นอกจากนี้ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการคุ้มครองเด็กที่แข็งแกร่งในทุกโรงเรียน ซึ่งต้องประกอบด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เด็กๆ เกี่ยวกับสิทธิของตนเอง รวมถึงการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามทางร่างกายและจิตใจ โรงเรียนควรมีนโยบายการคุ้มครองเด็กที่เข้มงวดและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่การเฝ้าระวังเรื่องอุบัติเหตุ แต่รวมถึงการระมัดระวังและป้องกันการถูกละเมิดทั้งทางกายและจิตใจด้วย
ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ผ่านแนวทาง ‘Safe Systems Approach’ ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ ความสามารถของคนขับรถ การตรวจสอบสภาพถนน และการกำหนดความเร็วที่เหมาะสม ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะได้รับความปลอดภัย ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมาแล้วในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้จำนวนเด็กที่บาดเจ็บลดลงถึง 47%
“ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ปกครอง โรงเรียน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถป้องกันอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตของเด็กได้อย่างแท้จริง” กีโยมกล่าว
สำหรับมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของ Save the Children International ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกแห่งแรกที่อุทิศตนเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กและรักษาสิทธิของเด็ก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่เด็กและครอบครัวที่อยู่ในสภาวะยากลำบากที่สุดของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2522 ตลอดช่วงเวลากว่า 45 ปีที่ผ่านมา เราทำงานเพื่อให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยได้รับสิทธิในด้านต่างๆ เช่น สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง สิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และสิทธิที่จะได้รับการดูแลรักษาสุขภาพทั้งกายและใจ