ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ปัญหาที่แย่ไปกว่าความล้มเหลวของการใช้ชีวิตคู่กลับไม่ใช่การหย่าร้าง แต่เป็นการตัดสินใจหย่าโดยที่ฝ่ายหญิงหรือภรรยาไม่ทราบเรื่อง โดยในช่วง 10 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยสถิติที่พบว่า อัตราการหย่าในประเทศเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องถึง 24% จนปัจจุบันตัวเลขการหย่าร้างพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 45%
ด้วยเหตุนี้เองทางการซาอุฯ จึงได้ออกกฎระเบียบใหม่แจ้งสถานะการหย่าให้ฝ่ายหญิงได้ทราบเรื่องด้วย เพื่อรักษาสิทธิ์ของตนผ่านข้อความบนโทรศัพท์มือถือ สอดคล้องกับพิมพ์เขียว ‘Vision 2030’ ในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน
นโยบายใหม่ของกระทรวงยุติธรรม ประเทศซาอุดีอาระเบียมีผลบังคับใช้จริงตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2019 เป็นต้นไป เพื่อแจ้งให้ภรรยาทราบเรื่องผ่านข้อความบนมือถือในกรณีที่ศาลได้พิพากษาการฟ้องหย่าของสามี เนื่องจากทนายความในประเทศระบุว่า ปัจจุบันผู้ชายส่วนใหญ่มักจะยื่นฟ้องหย่าภรรยาของตนโดยไม่แจ้งให้พวกเธอทราบเรื่อง
“มาตรการใหม่นี้จะช่วยให้ผู้หญิงได้รับสิทธิ์ของเธอเมื่อถูกยื่นฟ้องหย่า นอกจากนี้ยังช่วยให้ฝ่ายหญิงได้แน่ใจอีกด้วยว่าหนังสือมอบอำนาจใดๆ ก็ตามที่ทางการเป็นผู้ออกให้จะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด” นิสรีน อัล กัมดี ทนายความชาวซาอุฯ กล่าว
สำหรับ Vision 2030 และการปฏิรูปสังคมของซาอุดีอาระเบียในระยะหลังๆ จะเห็นได้ชัดว่า พวกเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับการพยายามทลาย ‘เส้นแบ่ง’ ทางเพศ และค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปกับสร้างสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ วัดได้จากการปรับเปลี่ยนมาตรการและนโยบายต่างๆ อาทิ ยกเลิกกฎหมายห้ามผู้หญิงขับรถ อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปชมเกมฟุตบอลได้ รวมไปถึงการเปิดอิสระให้ผู้หญิงได้เข้ามาประกอบอาชีพและตำแหน่งที่เคยถูกกีดกันว่าเป็นหน้าที่เฉพาะผู้ชายมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าความพยายามทั้งหมดในการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ยังอยู่ในระยะแรกเริ่มเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบัน ‘เพศหญิง’ ในสังคมซาอุดีอาระเบียก็ยังไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ การใช้ชีวิตในหลายๆ ด้านของพวกเธอยังถูกจำกัดสิทธิ์โดยเพศชายในฐานะผู้ปกครอง (พ่อ, สามี, พี่ชาย, น้องชาย หรือลูกชาย) เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร การขอพาสปอร์ต การเดินทางไปต่างประเทศ การออกจากคุก การแต่งงาน หรือแม้แต่การผ่าตัดศัลยกรรม เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: