ราฮาฟ โมฮาเหม็ด อัล-เคนูน หญิงชาวซาอุดีอาระเบีย วัย 18 ปี ซึ่งถูกกักตัวที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ระหว่างรอเดินทางไปออสเตรเลีย ปฏิเสธการถูกส่งตัวกลับซาอุดีอาระเบียผ่านทางคูเวต พร้อมยืนยันข้อเรียกร้องขอพบเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และขอความช่วยเหลือจากทางการออสเตรเลีย สหรัฐฯ และแคนาดา หลังเธอหลบหนีพ่อแม่จากการถูกบังคับแต่งงานตามหลักศาสนา และละทิ้งศาสนาอิสลาม ซึ่งผิดกฎหมายซาอุดีอาระเบีย
เมื่อเวลา 16.50 น. ตามเวลาประเทศไทย โมฮาเหม็ด อัล-เคนูน ทวีตข้อความพร้อมโพสต์วิดีโอว่า เธอยังคงขังตัวเองอยู่ในห้องที่โรงแรมภายในสนามบิน และกำลังรอคอยความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ (UN) โดยเธอจะไม่ยอมเปิดประตูจนกว่าเจ้าหน้าที่ UN จะมาพบ
ด้าน เมลิสซา เฟลมมิง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของ UNHCR ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า เธอเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว และกำลังติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอพบโมฮาเหม็ด อัล-เคนูน
โมฮาเหม็ด อัล-เคนูน เผยผ่านทวิตเตอร์เมื่อช่วงเช้าว่า เธอถูกกักตัวในสนามบินโดยเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุดีอาระเบีย และถูกยึดหนังสือเดินทางหลังจากเครื่องบินลงจอดที่สุวรรณภูมิ
“ครอบครัวของฉันเข้มงวดและล็อกประตูขังฉันไว้ในห้องนาน 6 เดือนเพื่อจะตัดผมฉัน” โมฮาเหม็ด อัล-เคนูน เผย “ฉันแน่ใจว่าฉันจะถูกขังแน่หากฉันถูกส่งตัวกลับไป และฉันแน่ใจ 100% ว่า พวกเขาจะฆ่าฉันโดยเร็วที่สุด”
นอกจากนี้เธอยังแสดงความหวาดกลัว กังวล และหมดหวังด้วย
ด้าน พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) พร้อมตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้แถลงข่าวการดำเนินการกับนักท่องเที่ยวสาวชาวซาอุดีอาระเบียที่ต้องการเดินทางไปประเทศที่ 3 ณ ห้อง ศปก.บก.ตม. 2 อาคารผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 Row M-N ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันนี้
ด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการส่งตัวหญิงซาอุฯ กลับประเทศว่า “ราฮาฟเสี่ยงจะได้รับอันตรายอย่างใหญ่หลวง หากทางการไทยส่งตัวเธอกลับไปซาอุดีอาระเบียผ่านทางคูเวต” พร้อมตำหนิเจ้าหน้าที่ซาอุฯ กรณียึดหนังสือเดินทางของเธอหลังเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง
“เธอได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกลัวด้านความปลอดภัยของตนเอง หากเธอต้องเดินทางกลับไปหาครอบครัว อาจทำให้เธอถูกดำเนินคดีอาญาในซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากขัดขืนกฎหมายที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ใต้การกำกับดูแลของญาติที่เป็นผู้ชาย (male guardianship) โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้ร้องขอที่จะเข้าพบราฮาฟ แต่ทางการไทยยังไม่ยินยอมตามคำขอ ทางการไทยต้องดำเนินการตามคำขอโดยทันที และประกันให้มีการเคารพต่อสิทธิที่จะแสวงหาที่ลี้ภัย
“ทางการไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อห้าม ไม่ให้ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ใดๆ ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริง ว่าจะถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ราฮาฟมีสิทธิเข้าถึงหลักประกันที่เป็นธรรมและเป็นผล เพื่อคัดค้านการส่งตัวกลับไปประเทศตนเอง และเข้าถึงการคุ้มครองระหว่างประเทศ” UNHCR ระบุ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: