ภาพการเฉลิมฉลองของแฟนบอลในชุดเสื้อลายทางสีขาว-ดำ บ้างมาพร้อมกับพร็อพแต่งกายแบบชาวอาหรับ บ้างสวมหน้ากากกระดาษเป็นรูปชีคผู้มั่งคั่ง และบ้างมาพร้อมกับธงชาติซาอุดีอาระเบีย เป็นภาพที่ชวนให้เกิดความรู้สึกเหนือจริงอยู่ไม่น้อย
แต่มันคือความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เวลานี้นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด มิได้เป็นสโมสรที่มีเจ้าของเป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษอีกต่อไป หากแต่เป็นกลุ่มทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Public Investment Fund หรือ PIF ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 80% ขณะที่อีก 20% คือกลุ่มทุนพันธมิตรที่ร่วมเจรจาด้วยกันมาอย่างบริษัทของ อแมนดา สเตฟลีย์ นักธุรกิจสาวผู้เป็นตัวแทนการเจรจาดีลนี้ในนาม PCP Partners 10% และอีก 10% เป็นของ เดวิด และ ไซมอน รูเบน ในนาม Reuben Brothers
เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ที่มีแล้ว ทีมฟุตบอลทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษได้กลายเป็นทีมฟุตบอลที่มีเจ้าของที่รำ่รวยที่สุดในโลกทันที
นั่นคือที่มาของการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่สำหรับเหล่ากองเชียร์ ‘ทูนอาร์มี’ เพราะนอกจากที่พวกเขาจะสมหวังกับการขับไล่เจ้าของสโมสรคนเก่าอย่าง ไมค์ แอชลีย์ ซึ่งเป็นที่เกลียดชังในหมู่แฟนฟุตบอลจากการบริหารที่เลวร้ายตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา การกลายเป็นทีมที่มีเจ้าของสโมสรรวยที่สุดในโลกนั้นทำให้เกิดสิ่งที่ชวนฝันตามมาอีกมากมาย
อย่างไรก็ดี กว่าเรื่องจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้นั้นต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 18 เดือน
จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เบื้องลึกและเบื้องหลังเป็นอย่างไร และอนาคตข้างหน้าของนิวคาสเซิลรวมถึงวงการฟุตบอลอังกฤษจะเป็นอย่างไร
มาร่วมกันหาคำตอบไปด้วยกัน
มหากาพย์เทกโอเวอร์สาลิกาดง
สำหรับที่มาของการเจรจาครั้งนี้ต้องย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นเมื่อ 18 เดือนก่อน เมื่อทางด้าน อแมนดา สเตฟลีย์ นักธุรกิจหญิงซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการในฐานะ ‘นายหน้า’ ที่ทำหน้าที่ในการเจรจาซื้อขายสโมสรฟุตบอลและอื่นๆ โดยเชื่อมความสัมพันธ์จากกลุ่มทุนในตะวันออกกลางที่เธอคลุกคลีเป็นมือประสาน
ความจริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สเตฟลีย์เจรจากับนิวคาสเซิล เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2017 ได้เคยติดต่อเพื่อขอซื้อทีมจาก ไมค์ แอชลีย์ มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่การเจรจาในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่การเจรจาในเดือนเมษายน 2020 นั้นแตกต่างออกไป
เพราะคราวนี้การเจรจากับนิวคาสเซิลเกิดขึ้นและจบลงอย่างง่ายดาย เนื่องจากแอชลีย์ ในฐานะเจ้าของสโมสรนั้นไม่ต้องการที่จะครอบครองสโมสรอีกต่อไป และอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมานานกว่า 4 ปี หลังพยายามที่จะขายสโมสรมาตั้งแต่ปี 2017 แต่การเจรจาซื้อขายทั้งหมด 7 ครั้งล่มไม่เป็นท่า
สนนราคาซื้อขายที่ตกลงกันได้ระหว่างฝั่งของสเตฟลีย์ ซึ่งมีผู้ลงทุนรายใหญ่สุดคือกองทุน PIF นั้นตกลงกันได้ที่ราว 300 ล้านปอนด์ด้วยกัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่แอชลีย์พอใจแล้ว
เพียงแต่การเจรจาหลังจากนั้นต้องชะงักงัน เนื่องจากทางพรีเมียร์ลีกได้เข้ามาแทรกแซงผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของเจ้าของสโมสรและผู้บริหารที่เรียกว่า Fit and Proper Test ซึ่งตามปกติแล้วกระบวนการนี้จะใช้ระยะเวลาราว 1-2 สัปดาห์ หรืออย่างมากไม่เกิน 1 เดือน
แต่กับกรณีของนิวคาสเซิลมีการดึงระยะเวลาในการตรวจสอบเนิ่นนานมากกว่า 16 สัปดาห์ โดยไม่มีวี่แววว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นได้เมื่อไร
เหตุผลที่ทำให้ทุกอย่างติดขัดนั้นมีการมองกันว่าเกิดหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้อยู่เบื้องหลังทุนคือซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนอกจากจะมีฐานะร่ำรวยมหาศาล และอาจทำให้สถานะของสโมสรใหญ่ลำบากมากขึ้น
หรือเรื่องของภาพลักษณ์ประเทศที่ฉาวโฉ่ติดลบในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีกรณีอื้อฉาวในปี 2019 จากการเสียชีวิตของ จามาล คาช็อกกี ทำให้เรื่องนี้ Amnesty เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพรีเมียร์ลีกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่อีกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นความพยายามที่จะใช้กีฬาเพื่อชำระภาพลักษณ์ของประเทศด้วยวิธีการที่เรียกว่า Sport Washing หรือไม่
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่พรีเมียร์ลีกได้รับการร้องเรียนจากทางด้าน beIN SPORTS ผู้ให้บริการสถานีกีฬาระดับโลกของประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นคู่กรณีโดยตรงกับซาอุดีอาระเบียมานานหลายปี จากกรณีถูกแบนจากการให้บริการในซาอุดีอาระเบีย และเกิดมีผู้ประกอบการเถื่อนในนาม beoutQ ลักลอบนำสัญญาณการถ่ายทอดสดของช่องไปเปิดบริการทั้งในซาอุดีอาระเบียเองและแถบตะวันออกกลาง จนสร้างความเสียหายนับพันล้านปอนด์ให้แก่ beIN SPORTS
หนึ่งในรายการกีฬาที่ถูกลับลอบนำไปฉายคือพรีเมียร์ลีกเอง ทำให้ beIN SPORTS ขอความเป็นธรรมในการขัดขวางไม่ให้ทุนจากประเทศที่เต็มไปด้วยข้อกังขาเช่นนี้เข้ามาซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ เพราะพรีเมียร์ลีกจะตอบคำถามตัวเองไม่ได้ด้วยว่า ทำไมจึงให้ประเทศที่ปล่อยให้มีการลักลอบถ่ายทอดสดฟุตบอลแบบผิดกฎหมายกันเป็นล่ำเป็นสันมาซื้อกิจการสโมสรในประเทศของตัวเอง
เมื่อการเจรจาติดขัดโดยไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทางด้าน PIF จึงตัดสินใจที่จะถอนตัวจากการเจรจาในเดือนกรกฎาคมปีกลาย
ความผิดหวังของ The Magpies
จากการถอนตัวของซาอุดีอาระเบียจากการเทกโอเวอร์ในปี 2020 นั้นอาจถูกมองว่าเป็นชัยชนะของโลกฟุตบอลที่กีดกันทุนที่ไม่ขาวสะอาดมาแตะต้องและใช้พรีเมียร์ลีกเป็นเครื่องมือ
แต่สำหรับแฟนทีม ‘สาลิกาดง’ แล้วข่าวดังกล่าวคือข่าวร้ายที่พวกเขายากจะทำใจยอมรับได้
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในความรู้สึกของแฟนนิวคาสเซิล พวกเขารอคอยความหวังที่จะมีเจ้าของสโมสรใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนกอบกู้สโมสรอย่างจริงจังมายาวนาน หลังสโมสรอันเป็นที่รักต้องตกอยู่ใต้การบริหารของ ไมค์ แอชลีย์ เจ้าของธุรกิจค้าอุปกรณ์กีฬา Sport Direct มานานเกินกว่าทศวรรษ โดยที่ในช่วงเวลาทั้งหมดพวกเขาไม่เคยมีความสุขเลย
แอชลีย์ถูกตั้งสมญาว่าเป็นเจ้าของสโมสรที่เลวร้ายที่สุดด้วยการบริหารแบบไม่บริหาร ไม่มีการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ทำอะไร และไม่สนใจเสียงเรียกร้องของแฟนๆ ที่เจ็บปวดแสนสาหัสด้วย
การมาถึงของกองทุนที่นำโดย PIF จึงเป็นเหมือนไฟที่ถูกจุดบนเทียนที่ดับมอดลงมานาน มันทำให้เหล่าแม็กไพส์กำลังฝันถึงการกลับมาเป็นสโมสรระดับชั้นนำ หรืออย่างน้อยเป็นที่เชิดหน้าชูตาได้เหมือนในวันวานอีกครั้ง
โดยที่พวกเขาไม่ได้สนใจในเรื่องเบื้องหลังหรือที่มาที่ไปที่น่ากังขา เพราะสำหรับชาวทูนอาร์มี บนโลกใบนี้ไม่มีอะไรจะเลวร้ายเท่ากับเจ้าของสโมสรที่ชื่อ ไมค์ แอชลีย์ อีกแล้ว
ข่าวการถอนตัวของทุนจากแดนทะเลทรายทำให้กลุ่มกองเชียร์ ‘Newcastle United Supporters Trust’ ขอคำอธิบายจากพรีเมียร์ลีกว่าอะไรที่เป็นเหตุผลจริงๆ ที่ทำให้การเทกโอเวอร์ประสบปัญหา
ในการสำรวจของกลุ่มพบว่าแฟนสาลิกากว่า 97% ที่เห็นดีกับการเข้ามาเทกโอเวอร์ของกลุ่มทุนใหม่โดย เกร็ก ทอมลินสัน หนึ่งในตัวแทนกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “พวกเราทุกคนตื่นเต้นกับข้อเสนอและโอกาสในการลงทุนในอนาคตของเมือง การถอนตัวจากการเทกโอเวอร์ของกลุ่มทุนจึงเป็นการเสียโอกาสของเมือง และภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือ
“พวกเราทุกคนสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นเวลาเกือบ 17 สัปดาห์ที่เราไม่รู้อะไรเลย และมันชัดเจนว่าแฟนบอลคือส่วนสำคัญน้อยที่สุดในเรื่องของการตัดสินใจ ทั้งๆ ที่มันกระทบกับพวกเรามากที่สุด”
ขณะที่แฟนบอลอย่าง มิเชลล์ จอร์จ เปิดใจถึงความผิดหวังในครั้งนั้นว่า “มันทำให้แฟนๆ ต้องใจสลาย ในฐานะแฟน พวกเราทุกคนใจสลาย มันอาจจะดูเหมือนละครแต่เราทุกคนเจ็บปวดภายใต้แอชลีย์ที่แทบจะไม่สนใจและลงทุนกับสโมสร
“ดังนั้น จากข้อเท็จจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและกรอบระยะเวลาที่เกิดขึ้น และข่าวที่ออกมา เรายังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนทั้งหมด”
ถอยคนละก้าวเพื่อจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน
ความไม่ชัดเจนนั้นยังกินระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานอีกหลายเดือนด้วยกันโดยไม่มีคำตอบใดๆ ในสายลม
อย่างไรก็ดี เริ่มมีสัญญาณในช่วงที่ผ่านมาว่าทางด้านกลุ่มทุนยังไม่ได้ถอดใจ รวมถึงมีกระแสข่าวว่าทางการซาอุดีอาระเบียได้มีการติดต่อมายังรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งนำไปสู่กระแสข่าวการเจรจาที่จะกลับมาอีกครั้ง
สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือครั้งนี้มีการแต่งหน้าแต่งตัวในการเจรจาใหม่ให้สามารถเป็นที่ยอมรับได้ในหลายประเด็น เช่น การลงนามว่าจะไม่มีการแทรกแซงการบริหารโดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มีการกันมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในฐานะประธานของกองทุน PIF ไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเจรจาทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และเหตุผลอื่นๆ
แต่ประเด็นใหญ่ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การเจรจากลับมาเดินหน้าได้อย่างจริงจัง คือการสะสางความขัดแย้งกับกาตาร์ด้วยการยกเลิกคำสั่งแบน beIN SPORTS ภายในประเทศที่มีมาอย่างยาวนานถึง 4 ปีครึ่ง และให้คำมั่นว่าจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับ beoutQ อย่างเด็ดขาด และมีการติดต่อเพื่อจะขอชำระเงินค่าเสียหายราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่กาตาร์ด้วย ทำให้ทางกาตาร์และ beIN SPORTS ไม่มีเหตุผลที่จะขัดขวางอีก
เรื่องนี้ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ทางด้านพรีเมียร์ลีกไม่มีสิ่งที่ติดค้าง และยกมาเป็นเหตุผลในการขัดขวางการเทกโอเวอร์ได้อีก เพราะในส่วนของประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทาง Amnesty หยิบยกมานั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากที่พรีเมียร์ลีกจะนำมาพิจารณาด้วยได้
สุดท้ายเมื่อทุกฝ่ายยอมถอยคนละก้าว ก็ทำให้สามารถเดินหน้าร่วมกันได้อีกครั้ง และนำไปสู่การออกแถลงการณ์จากทั้งฝ่ายของพรีเมียร์ลีก ฝ่าย PIF และสโมสรนิวคาสเซิล ยืนยันเรื่องการเทกโอเวอร์ และยืนยันเจตนารมณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงเจ้าของครั้งนี้มีการตรวจสอบกลั่นกรองอย่างละเอียด และสางทุกปมความสงสัยที่สังคมตั้งคำถามได้ครบถ้วนแล้ว
เป็นการสิ้นสุดกระบวนการเจรจาที่ยืดเยื้อและยาวนานกว่า 18 เดือน
ดีลพลิกโฉมวงการฟุตบอลอังกฤษ?
คำถามสำคัญที่หลายคนอยากรู้คือนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่ได้เจ้าของรวยที่สุดในโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป? เช่นกันกับอนาคตของวงการฟุตบอลอังกฤษว่าจะออกไปในทิศทางใดกันแน่
เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบในเวลาอันรวดเร็วนี้ เนื่องจากยังมีสิ่งที่ทางด้านกลุ่มทุนใหม่ต้องดำเนินการสะสางอีกมากตั้งแต่การเปลี่ยนถ่ายกิจการ ไปจนถึงการเข้ามากำหนดนโยบายทิศทางการบริหารต่างๆ ใหม่ ซึ่งตรงนี้จะใช้ระยะเวลาสักพักหนึ่ง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราพอจะคาดเดาได้คือนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด จะถูกเปลี่ยนเป็น ‘ซูเปอร์ทีม’ อีกหนึ่งสโมสรอย่างแน่นอน ด้วยทุนที่ไร้ขีดจำกัดของเจ้าของสโมสร ไม่ต่างจากในวันที่ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาซื้อกิจการทีมเชลซีในปี 2003, กลุ่มทุนจากอาบูดาบีของ ชีค มานซูร์ ที่เข้ามาซื้อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2008 และกลุ่มทุนจากกาตาร์ที่เข้ามาซื้อปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในปี 2011
โดยเราน่าจะได้เห็นสัญญาณที่ชัดเจนครั้งแรกภายในช่วงตลาดการซื้อขายรอบเดือนมกราคมนี้ทันที ซึ่งแม้ว่าโอกาสที่เราจะได้เห็นการทุ่มเงินมหาศาลเพื่อกว้านซื้อซูเปอร์สตาร์ในทันทีอาจจะเป็นเรื่องที่ยากสักหน่อย แต่อย่างน้อยแฟนนิวคาสเซิลย่อมคาดหวังถึงสตาร์สักชุดได้อย่างแน่นอน
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมด้วย เพราะ สตีฟ บรูซ ซึ่งได้รับงานในการคุมทีมบนโจทย์ ‘เอาตัวให้รอดในพรีเมียร์ลีก’ จากเจ้าของสโมสรเก่าอย่าง ไมค์ แอชลีย์ นั้นไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนฟุตบอล เพราะสไตล์ที่เล่นนั้นอยู่ห่างไกลจากฟุตบอลที่เหล่าทูนอาร์มีต้องการจะเห็นเป็นอย่างมาก
เพราะนิวคาสเซิลเป็นทีมฟุตบอลเดียวในเมือง และมีวิถีของตัวเองด้วยฟุตบอลเกมรุก บุกแหลก ต้องมีศูนย์หน้าโป้งปิดบัญชีเป็น ‘จอร์ดีฮีโร่’ เหมือนในอดีตที่มี มัลคอล์ม แม็คโดนัลด์, เควิน คีแกน, เลส เฟอร์ดินานด์, อลัน เชียเรอร์ หรือแม้แต่ ไมเคิล โอเวน ขณะที่แฟนบอลทูนอาร์มีก็เป็นหนึ่งในกลุ่มแฟนบอลที่ได้รับการยกย่องอย่างมากในความรักและทุ่มเทให้แก่สโมสรมาตลอด ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ตาม
ขณะที่การสร้างทีมใหม่ให้สามารถแข่งขันสู้กับทีมในกลุ่ม Big Six (ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนเป็น Big Seven หรืออาจจะมีบางทีมถูกลดสถานะแทน โดยมีนิวคาสเซิลเป็น New Big Six) จะใช้เวลาบ้างในการรวบรวมขุมกำลัง แต่คาดว่าไม่เกิน 3-4 ฤดูกาลเราจะได้เห็นนิวคาสเซิล ยูไนเต็ดที่พร้อมเหมือนที่แมนฯ ซิตี้ ผงาดขึ้นมาเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2011-12
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันคือการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจในวงการฟุตบอลอังกฤษ จากเดิมที่มีทีมที่มีแบ็กอัพทางการเงินมหาศาลอย่างเชลซี และแมนฯ ซิตี้ ก็จะมีนิวคาสเซิลเพิ่มเข้าไปอีกทีม
นั่นหมายถึงการแข่งขันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยทีมที่จะลำบากคือทีมที่ไม่มีแบ็กอัพทางการเงินในระดับเดียวกันอย่างลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล หรือท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ยังคงแข็งแกร่งทางการเงินและน่าจะพอสู้ได้ไหว
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ตอนนี้ฝ่ายที่มีความสุขที่สุดคือแฟนนิวคาสเซิลที่กำลังอยู่ในดินแดนแห่งความฝัน
ครั้งหนึ่ง เซอร์จอห์น ฮอลล์ และเควิน คีแกน เคยเกือบสร้างเทพนิยายจากทีมที่ใกล้ตกชั้นในระดับดิวิชัน 3 สู่แชมป์พรีเมียร์ลีกได้แล้ว แต่พลาดท่าไปอย่างน่าเศร้า และหลังจากนั้นไม่เคยกลับไปจุดเดิมได้อีกเลย
วันนี้ดูเหมือนนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด จะมีโอกาสครั้งใหม่ และเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมหลายเท่าตัวนัก
สรุปไทม์ไลน์การเทกโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
- 16 ตุลาคม 2017 – ไมค์ แอชลีย์ ประกาศขายสโมสรนิวคาสเซิล
- 14 เมษายน 2020 – อแมนดา สเตฟลีย์ นำกลุ่มทุนเจรจาขอซื้อและข้อเสนอได้รับการตอบรับจากไมค์ แอชลีย์
- 21 เมษายน 2020 – Amnesty เขียนจดหมายถึงพรีเมียร์ลีกเกี่ยวกับการที่ซาอุดีอาระเบียซึ่งมีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงจะเทกโอเวอร์ทีมนิวคาสเซิล
- 24 เมษายน 2020 – beIN SPORTS หนึ่งในผู้ให้บริการที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในหลายประเทศทั่วโลกทักท้วงการเทกโอเวอร์ของชาติที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์รุนแรง
- 21 กรกฎาคม 2020 – มีรายงานข่าวว่าการเจรจาถูกระงับโดยไม่มีกำหนด
- 30 กรกฎาคม 2020 – PIF ประกาศถอนตัวจากการเจรจา
- 9 กันยายน 2020 – นิวคาสเซิลออกแถลงการณ์พรีเมียร์ลีกปฏิเสธข้อเสนอการเทกโอเวอร์
- 10 กันยายน 2020 – พรีเมียร์ลีกออกแถลงการณ์ปฏิเสธ พร้อมชี้แจงว่ามีการให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเจ้าของ และคนที่จะมาทำหน้าที่บริหารหากมีการเทคโอเวอร์เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดขัดและอาจขาดคุณสมบัติ
- 14 กันยายน 2020 – ไมค์ แอชลีย์ แต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อหาทางออกในเรื่องการเทกโอเวอร์
- 6 พฤษภาคม 2021 – ไมค์ แอชลีย์ ยืนยันเตรียมต่อสู้ในกระบวนการทางกฎหมายกับพรีเมียร์ลีก เรียกร้องค่าเสียหายจากพรีเมียร์ลีกที่ขัดขวางการเทกโอเวอร์ผ่านศาล Competition Appeal Tribunal (CAT)
- 1 กรกฎาคม 2021 – นิวคาสเซิลออกแถลงการณ์ขอความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาคดี สถานการณ์เวลานั้นพรีเมียร์ลีกเริ่มที่จะตกที่นั่งลำบากมากขึ้น ขณะที่กระบวนการไต่สวนถูกเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้า โดยที่แฟนบอลนิวคาสเซิลเริ่มประท้วงรุนแรงขึ้นถึงบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง และที่ทำการพรีเมียร์ลีก
- 6 ตุลาคม 2021 – ซาอุดีอาระเบียยกเลิกการแบนช่อง beIN SPORTS ภายในประเทศ หลัง นาสเซอร์ อัล-เคไลฟี ประธานช่องได้ผลักดันเป็นการส่วนตัว และสุดท้ายทำให้มองเห็นทางออกเรื่องนิวคาสเซิล
- 7 ตุลาคม 2021 – กลุ่มทุนที่นำโดยกองทุน PIF จากซาอุดีอาระเบีย เทกโอเวอร์กิจการนิวคาสเซิลได้สำเร็จ
อ้างอิง:
- https://www.forbes.com/sites/grahamruthven/2021/10/06/how-would-newcastle-united-takeover-change-the-premier-league-landscape/?sh=4255e778a628
- https://www.telegraph.co.uk/football/2021/10/06/newcastle-takeover-deal-back-saudi-buyers-clear-biggest-hurdle/
- https://www.chroniclelive.co.uk/news/north-east-news/newcastle-united-takeover-premier-league-21785687
- https://www.thetimes.co.uk/article/7fc85698-26a5-11ec-9d7f-240ccd0a3a50?shareToken=92e7d8d07fa3ece60d5d7b9f1e4e5457
- https://www.thetimes.co.uk/article/newcastle-takeover-what-changed-to-allow-deal-with-saudi-arabia-and-where-does-steve-bruce-stand-now-c623chhz7