×

แม้แต่ ซาอุฯ ก็ไม่วางเฉย! ล่าสุดให้คำมั่นเดินหน้าเข้าสู่ Net Zero ภายใน 2060

23.10.2021
  • LOADING...
Saudi Arabia

ซาอุดีอาระเบีย ในฐานะประเทศผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก ไม่วางเฉยต่อปัญหาภาวะโลกร้อน ล่าสุด มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงประกาศคำมั่นว่าซาอุดีอาระเบียมุ่งมั่นที่ลดการปล่อยมลพิษจนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2060 

 

การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการพลิกจุดยืนที่ชัดเจนสำหรับผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียโต้ตอบอย่างต่อเนื่องว่าจะไม่ลดการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลและตำหนินักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ เนื่องจากปีนี้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นซึ่งเป็นโอกาสทองทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ประเทศในสหรัฐฯ และยุโรปได้กดดันซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดต่อคนของโลก ให้เร่งความพยายามในการควบคุมการปล่อยมลพิษและลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร หารือกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผ่านทางโทรศัพท์ และเปิดเผยข้อคิดเห็นว่า หวังจะได้เห็นซาอุดีอาระเบียมั่งมั่นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจนเป็นศูนย์ 

 

ซึ่งการตัดสินใจของมกุฎราชกุมาร และประกาศเป็นคำมั่นต่อชาวโลกในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมสหราชอาณาจักรก่อนการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญของ COP26 ซึ่งจะเริ่มในเดือนนี้ที่กลาสโกว์

 

“เราประกาศในวันนี้ว่าประเทศได้ตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ผ่านแนวทางเศรษฐกิจคาร์บอนแบบหมุนเวียน ในลักษณะที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศ และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความหลากหลาย” มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด กล่าวในข้อความที่บันทึกไว้ในพิธีเปิดการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ

 

ทั้งนี้เป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไม่ได้หมายความว่าซาอุดีอาระเบียต้องลดปริมาณการผลิตน้ำมันเสมอไป เพราะคำมั่นดังกล่าวมีผลกับการปล่อยมลพิษในประเทศเท่านั้น โดยเชื้อเพลิงหรือคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญเมื่อมีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากรถยนต์ โรงงาน และโรงไฟฟ้า จะไม่นับรวมอยู่ในคำมั่นครั้งนี้ หากอ้างอิงกับหลักการของสหประชาชาติ

 

ในทางกลับกัน รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเองกำลังเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบให้มากขึ้นไปอีก จากเดิม 12-13 ล้านบาร์เรลต่อวัน โครงการนี้คาดว่าจะใช้เวลา 6 ปีและมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

 

เบ็น เคฮิลล์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ กล่าววิจารณ์ถึงคำมั่นดังกล่าวว่า จะมีข้อสงสัยเกิดขึ้นมากมายเพราะการที่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกจะพลิกจุดยืนมาสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจนเป็นศูนย์นั้นค่อนข้างแปลก

 

ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นอันดับสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ G-20 หากประเทียบกับจำนวนประชากร การไปให้ถึงเป้าหมาย Net Zero นั้น จะหมายถึงการย้อนกลับอย่างรวดเร็วของแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

การปล่อยมลพิษของซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถึงกระนั้นเป้าหมายใหม่ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE กลายเป็นประเทศแรกในอ่าวเปอร์เซีย ที่ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 จากนั้นไม่นาน รัสเซียก็ประกาศคำมั่นเช่นกัน โดยประธานาธิบดี ฝวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศเป้าหมายปลายทางในปี 2060 ในภายหลัง

 

ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มองว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นหากโลกจะต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อน

 

คาเรน ยัง สมาชิกของสถาบันตะวันออกกลางในกรุงวอชิงตัน ดีซี ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของซาอุดีระเบียน่าจะเข้ากันได้ดีกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมีความตึงเครียดตั้งแต่เจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวสหรัฐฯ ในปี 2561

 

“เป้าหมาย Net Zero สร้างดุลความมั่นคงให้กับซาอุดีอาระเบียเมื่ออยู่ในกลุ่มประเทศ G-20 ที่มุ่งผลักดันวาระนี้ อีกทั้งยังสร้างความประนีประนอมต่อฝ่ายบริหารของไบเดนด้วย” คาเรน กล่าว

 

นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังให้คำมั่นที่จะเข้าร่วมกลุ่ม Global Methane Pledge ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเธนลง 30% ภายในปี 2030 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นพ้องว่า การลดการปล่อยก๊าซมีเทนเป็นวิธีที่ถูกที่สุดและเร็วที่สุดในการชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ขณะเดียวที่ จิม แครน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ’Energy Kingdoms: Oil and Political Survival in the Persian Gulf’ ตั้งข้อสังเกตว่า ซาอุดีอาระเบียอาจจะมีการต่อรองและพยายามลดข้อเสนอจากประเทศอื่นๆ ที่ขอให้ลดการลงทุนด้านน้ำมันและก๊าซ เนื่องจากการลดการปล่อยก๊าซจนเป็นศูนย์นั้น สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ซาอุดีอาระเบียอย่างมาก

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising