วันนี้ (23 สิงหาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มี 16 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) โหวตสวนมติพรรคด้วยการให้ความเห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ว่า ต้องพิจารณาดู เพราะองค์ประกอบของพรรคประกอบด้วย 3 ส่วน คือ พรรค, กรรมการบริหารพรรค และ สส. แต่การที่ สส. ไปทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียง และไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณจนทำให้เกิดความแตกแยกนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของสมาชิกพรรคจำนวน 20 คน ที่จะเข้าชื่อตั้งกรรมการสอบสวนว่าพฤติการณ์ที่ทำนั้นมีความสูญเสียต่อพรรคมากน้อยอย่างไร
สาธิตกล่าวต่อว่า แม้จะเป็น สส. แต่หากมีพฤติกรรมในลักษณะนี้ ก็มีสมาชิกจำนวนหนึ่งขอให้มีการตั้งกรรมการสอบสวน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการไปเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการจะร่วมรัฐบาลนั้นต้องมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นการดำเนินการของพรรคประชาธิปัตย์มีขั้นตอนอยู่ บุคคลใดที่เป็น สส. หรือทำหน้าที่รักษาการที่ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรง และไม่ได้รับการมอบหมายจากกรรมการบริหารพรรค หากไปเปิดตัวเกินหน้าที่จนพรรคเสื่อมเสีย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องไปดำเนินการจัดการปัญหาภายในของพรรค
สาธิตกล่าวอีกว่า แม้การโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. แต่มติที่ประชุม สส. ของพรรค ก็มีความสำคัญ แม้ไม่ผิดในมติของพรรค แต่ผิดที่ทำให้พรรคเสียหาย ซึ่งในนี้เป็นสิทธิ์และขั้นตอนตามข้อบังคับพรรคการเมือง ส่วนการตรวจสอบนั้นมีข้อมูลอยู่แล้ว ทั้งในแง่การปฏิบัติตัว เช่น การพูดจา ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทั้งหมดมีหลักฐานที่ชัดเจนอยู่แล้ว ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามขั้นตอนที่เราปฏิบัติกันมา ซึ่งทุกคนมีความเข้าใจกันดี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าต้องขับออกจากสมาชิกพรรคหรือไม่ สาธิตกล่าวว่า เป็นไปตามหนักหรือเบา แต่สำหรับตนมองว่าหนักมาก ซึ่งก็อยู่ที่ระเบียบข้อบังคับของพรรคว่ากรรมการบริหารพรรคมีมติร่วมกับที่ประชุม สส. อย่างไร ซึ่งมีการเขียนไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนโทษหนักถึงขั้นต้องขับออกจากพรรคหรือไม่ โทษหนัก สามารถขับออกจากพรรคได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของพรรค จริงๆ ทุกเรื่องสามารถพูดคุยกันได้ แต่หากทำความเสียหายในระดับนี้ หัวหน้าพรรคก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวนก่อน
ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตนได้สั่งให้ชี้แจงในที่ประชุม สส. ในการประชุม สส. ครั้งหน้า และถ้ามีสมาชิกพรรคเข้าชื่อกันร้องให้ตรวจสอบดำเนินการตามข้อบังคับพรรค ตนก็จะดำเนินการ
ส่วนโทษจะเป็นอย่างไรนั้น จุรินทร์กล่าวว่า เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการแล้วก็ให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ถึงแม้การโหวตเลือกนายกฯ จะเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ตามรัฐธรรมนูญ แต่ข้อบังคับพรรคยังมีอยู่ อันนั้นไม่ขอตอบล่วงหน้า แต่ถ้ามีสมาชิกยื่นมาก็จะดำเนินการ ในส่วนกรณีของ ชวน หลีกภัย สส. บัญชีรายชื่อ ที่ลงมติไม่เห็นชอบนั้น ได้ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมพรรคว่าขอใช้สิทธิ์ในการลงมติไม่เห็นชอบ ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครขัดข้อง แต่ในกรณีของ 16 สส. นั้น หลังจากการโหวตไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลกับตน จึงไม่ทราบเหตุผล และตนขอเรียนในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคว่า ในนามพรรค พรรคยังไม่เคยมอบใครไปเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ตนยืนยันมาตลอด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่า 16 สส. มีความจงใจเพื่อให้พรรคขับออกเพื่อย้ายไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ จุรินทร์กล่าวว่า ตนตอบแทนไม่ได้ ก็ต้องสอบถามกับเจ้าตัว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการพูดคุยกันหรือไม่ว่า การที่ 16 สส. โหวตให้เพราะต้องการไปร่วมรัฐบาล จุรินทร์กล่าวว่า ต้องถามคนที่ไปโหวต แต่ตนได้แจ้งแล้วว่าเขาต้องไปชี้แจงต่อที่ประชุม หรือถ้ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน เขาก็ต้องไปชี้แจงกับคณะกรรมการว่าเป็นอย่างไร
“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมขอเรียนตรงนี้ ประชาธิปัตย์มีศักดิ์ศรี เราเคยเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเป็นอะไรก็เป็น ไม่มีปัญหา แต่เราไม่เคยไปเป็นพรรคอะไหล่ และผมคิดว่าเราต้องชัดเจนในเรื่องนี้” จุรินทร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ความขัดแย้งในพรรคมากขึ้นหรือไม่ และจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ จุรินทร์กล่าวว่า ตนตอบล่วงหน้าไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งคือพรรคจำเป็นต้องอยู่ อย่างน้อยตนคิดว่าความเป็นพรรคต้องสูงสุด นอกจากประชาชนที่เราต้องมีหน้าที่ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน พรรคยังต้องอยู่ เพราะพรรคเป็นองค์กร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ายิ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ฟื้นฟูยากหรือไม่ จุรินทร์กล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องอนาคต ไม่เป็นไร ในสถานการณ์นี้เราต้องดำเนินการในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดสำหรับพรรค คิดว่าตนชัดเจนในจุดยืนนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลอาจไม่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เพราะมีสมาชิกพรรคเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้านเองหรือไม่ จุรินทร์กล่าวว่า อันนั้นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และต้องเป็นไปตามข้อบังคับของสภาว่าผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และหากตนจำไม่ผิด ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากในฝ่ายค้าน ส่วนจะมาถึงพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ตนตอบล่วงหน้าไม่ได้ แต่ตรงนี้ต้องถือว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในซีกนี้