×

สว. 67 : สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สว. ผู้ถูกเลือก ขอความเป็นธรรม มองประโยชน์มากกว่า ‘ที่มา’ หมดวาระแล้วกลับไปฮีลสุขภาพกาย-ใจ

21.06.2024
  • LOADING...
สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์

HIGHLIGHTS

  • สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง จากอดีตข้าราชการประจำ สู่ตำแหน่ง สว. ผู้ที่ ‘ถูกเลือก’
  • ขอความเป็นธรรม มองประโยชน์ สว. มากกว่า ‘ที่มา’ ให้คะแนนตัวเอง 8 เต็ม 10 ชี้ประชาสัมพันธ์น้อย จนประชาชนไม่เห็นผลงาน
  • หมดวาระแล้วขอกลับไปดูแลสุขภาพกาย-ใจ เป็นผู้ติดตามการเมืองในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

THE STANDARD ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านการสนทนาพิเศษกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 12 ชุดที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สว. ชุดพิเศษ’ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงผลงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปหลังพ้นวาระ

 

การสนทนาครั้งที่ 6 นี้ เป็นการสนทนาพิเศษกับ ‘สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์’ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ผู้เป็นอดีตข้าราชการประจำ สู่ตำแหน่ง ‘สว.’ ผู้ที่ถูกเลือกให้เข้ามาอยู่ในสภาสูง ได้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดอนาคตประเทศ มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ‘ตามบทเฉพาะกาล’ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

 

 

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา สวมใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีกรมท่า สวมกางเกงสีกากีตัดกับเข็มขัดสีน้ำตาลเข้ม 

ยืนรอที่หน้าปากซอยลาดพร้าว 87
ซึ่งเป็นซอยของที่ตั้งสำนักงานที่เป็นสถานที่สำหรับการสัมภาษณ์พิเศษในครั้งนี้

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ประชาสัมพันธ์น้อย ประชาชนจึงไม่เห็นผลงาน

 

สถิตย์เริ่มต้นการสนทนาด้วยการรีแคปการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวคิดว่า ‘วุฒิสมาชิก’ ทั้ง 250 คน ทำหน้าที่ได้ดี มีเหตุและมีผล โดยคำนึงถึงหลักกฎหมายที่มีอยู่ รวมถึงได้วินิจฉัยเรื่องต่างๆ ตามอำนาจภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกกำหนดไว้ของรัฐธรรมนูญปี 2560

 

เราทำหน้าที่ทั้งการกลั่นกรองกฎหมาย หรือแม้แต่การตั้งกระทู้ต่างๆ ก็ได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีกว่า 90% ขณะเดียวกัน การทำหน้าที่เพื่อเลือกผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็เป็นไปด้วยดี 

 

ผมมองว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่สมกับที่ได้ดำรงตำแหน่ง

 

ส่วนเสียงของประชาชนที่ตั้งคำถามต่อการมีอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของ สว. มีการติดแฮชแท็ก #สวมีไว้ทำไม บนโซเชียลมีเดีย สถิตย์ยืนยันว่าการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ด้วยที่มาของพวกเราทั้ง 250 คน ที่ไม่ได้มีที่มาที่ตรงต่อหลักการทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ จนก่อให้เกิดความคิดเห็นว่า สว. ไม่ได้ทำหน้าที่ 

 

สถิตย์ยอมรับว่าสาเหตุข้างต้นส่วนหนึ่งเพราะอาจมีการประชาสัมพันธ์ผลงานบนโซเชียลมีเดียที่ไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรับรู้ของประชาชน จนประชาชนไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว สว. มีผลงานอะไรบ้าง

 

 

2 สมาชิกวุฒิสภา: ประภาศรี สุฉันทบุตร และ สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

“แล้ว สว. มีหน้าที่ มีผลงานที่แท้จริงอะไรบ้าง” THE STANDARD ถาม

 

สถิตย์กล่าวว่า สว. มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงมีหน้าที่ในการผลักดันการปฏิรูปประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมทราบดีถึงสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามถึงแผนพัฒนาประเทศผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า “20 ปีไม่นานเกินไปเหรอ”

 

เขาอธิบายแผนพัฒนาประเทศผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียว่า ในปี 1991 ที่มี ‘มาฮาดีร์ บิน โมฮามัด’ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้วางวิสัยทัศน์ให้ภายในปี 2020 มาเลเซียจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้เวลาจะล่วงเลยมา เนื่องจากติดวิกฤตทางเศรษฐกิจ จนทำให้การก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วของมาเลเซียล่าช้าออกไปในปี 2025

 

“อย่างน้อยก็ถือว่ามีวิสัยทัศน์ที่จะบรรลุไปสู่เป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งก็เกิดมาจากการวางแนวทางของอดีตนายกรัฐมนตรี”

 

สถิตย์เห็นว่าประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เราได้วางวิสัยทัศน์เมื่อปี 2561 ด้วยการตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2580 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เนื่องด้วยวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเมื่อปี 2562 อาจจะต้องมีความล่าช้าออกไป

 

แต่อย่างน้อยๆ การตั้งเป้าหมายและตั้งวิสัยทัศน์ในลักษณะนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ ดีกว่าขับรถแบบไม่มีเป้าหมาย และไม่รู้ว่าจะก้าวไปทางไหน โดยที่ระหว่างทางอาจมีถนนขาด ถนนเบี่ยง หรืออาจต้องเปลี่ยนเส้นทางก็สามารถทำได้ เพราะยุทธศาสตร์ชาติสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา และไม่ได้ขึ้นกับนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีทุกคน ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

 

ดังนั้นหน้าที่ในการกำกับยุทธศาสตร์ชาติของวุฒิสมาชิกเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายก็ดำเนินการด้วยดีมาโดยตลอดเช่นกัน

 

 

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ขณะนั่งสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD
ภายในออฟฟิศย่านลาดพร้าว

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

THE STANDARD ถามต่อว่า “เป็นไปได้ด้วยดีอย่างไร มีผลงานอะไรที่จับต้องได้บ้าง ประชาชนส่วนใหญ่ยังตั้งคำถามอยู่เลยว่า สว. ทำงานคุ้มภาษีหรือเปล่า”

 

สถิตย์อธิบายผลงานของตนเองว่า ในฐานะคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินของวุฒิสภาก็ได้ร่วมกันผลักดัน ‘One Country One Platform’ ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง เราได้มีการผลักดันไปหน่วยงานราชการทุกภาคส่วน แม้อาจไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์มากนัก แต่ ณ เวลานี้ ‘One Country One Platform’ เกือบจะพร้อมแล้ว

 

อีกตัวอย่างคือคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ได้พยายามผลักดันให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ดึงงานวิจัยที่อยู่บน ‘หิ้ง’ ก้าวไปสู่ ‘ห้าง’ กล่าวคือ การได้นำงานวิจัยที่ปล่อยทิ้งเปล่าได้ออกไปใช้ประโยชน์นั่นเอง

 

“เราส่งเสริมให้นักวิจัยเป็นเจ้าของ ไม่ใช่องค์กรที่นักวิจัยได้สังกัดอยู่ ขณะเดียวกันได้ผลักดันให้มีงบประมาณสำหรับการวิจัยมากขึ้น ซึ่งวุฒิสมาชิกได้มีการอภิปรายเพื่อของบประมาณเพิ่ม และท้ายที่สุดก็ได้งบเพิ่มขึ้นจริงๆ เราเชื่อหากได้รับงบประมาณจากภาครัฐมากขึ้น จะทำให้มีงานวิจัยของภาครัฐและภาคเอกชนถูกต่อยอดให้ประเทศได้เติบโตขึ้น

 

 

ผมทำงานคุ้มภาษีอย่างแน่นอน

“ผมทำงานคุ้มภาษีอย่างแน่นอน” สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ตอบคำถามของ THE STANDARD ที่สะท้อนว่าเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ได้ตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของ สว. ว่าคุ้มกับภาษีของประชาชนหรือไม่

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

‘8 เต็ม 10’ ขอให้มองประโยชน์ สว. มากกว่า ‘ที่มา’

 

สถิตย์ให้คะแนนการทำงานของตนเองตลอด 5 ปีที่ผ่านมาด้วยคะแนน 8 เต็ม 10 เพราะคิดว่าตนเองมีผลงานที่ได้ร่วมจุดประกายเศรษฐกิจกระแสใหม่ รวมถึงได้มีส่วนในการผลักดันงานวิจัยตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น และได้มีส่วนในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วให้เกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกันตนเองในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ก็ได้ให้ความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจในทุกรายงานที่ถูกนำเสนอเข้ามาในที่ประชุมวุฒิสภาด้วย

 

ส่วนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สว. ชุดที่ 12 ทั้ง 250 คน ถูกผู้คนในสังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการทำรัฐประหาร และเป็นทายาทของ คสช. สถิตย์เห็นว่าเรื่องนี้เป็นการเมือง เป็นวิวัฒนาการระหว่างการเลือกตั้งและการรัฐประหาร ในตอนนั้นการรัฐประหารก็มีเหตุผลของการรัฐประหาร ในที่สุดก็กลับสู่การเลือกตั้งแล้ว แต่รอยต่อระหว่างรัฐประหารกับการเลือกตั้งยังมีความเชื่อมโยงกันอยู่ ซึ่งยอมรับว่าการทำหน้าที่ของ สว. ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงของรอยต่อนี้

 

ผมว่าถ้าให้ความเป็นธรรมกับ สว. ก็ควรจะมองว่า สว. ทำประโยชน์อะไรบ้าง ดีกว่ามองว่าเรามาอย่างไร มาจากไหน

 

สถิตย์ยกตัวอย่างกรณี ‘เติ้งเสี่ยวผิง’ อดีตผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ซึ่งพยายามพลิกฟื้นประเทศให้เป็นประเทศที่มีความทันสมัย โดยได้ระบุว่าจะเป็นแมวแดง (สีแดง เป็นสีแห่งคอมมิวนิสต์) หรือแมวขาว (บุคคลทั่วไป) ก็ไม่เป็นปัญหา ขอแค่ให้จับหนูได้ก็เพียงพอ หรืออีกความหมายคือจะเป็นแมวแดงหรือแมวขาว หากทำประโยชน์ได้ก็ขอให้มองประโยชน์ที่ทำได้มากกว่าที่มาของเรา

 

 

แต่หากมองลึกลงไปก็จะเห็นว่าทุกองคาพยพทั้ง สว. และ สส. ก็ล้วนมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นมรดกส่วนหนึ่งของ คสช. ทั้งสิ้น แต่สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การหลุดพ้น ขณะเดียวกัน สว. ชุดผมก็กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ไม่ได้โหวตพิธาเพราะป่วย

 

สถิตย์ยังแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการให้อำนาจ สว. โหวตนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีในแต่ละครั้งของตนเองไม่ได้ถูกรับการติดต่อหรือพูดคุยกับใคร เพราะตนเองวางตัวเป็นนักวิชาการอิสระ

 

แต่ขอยืนยันว่าส่วนตัวจะพิจารณาจากพรรคการเมืองที่สามารถรวมเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นไปตามหลักเสียงข้างมากของรัฐสภาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ เศรษฐา ทวีสิน ก็เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากได้

 

“หากยึดแนวทางว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างมาก แล้วเหตุใดการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ที่ได้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล จึงไม่ถูกเลือก” THE STANDARD ถามต่อ

 

สถิตย์ชี้แจงว่า หากในวันนั้นผมอยู่ ผมก็จะเลือกคุณพิธา แต่วันเลือกผมป่วย ผมไม่สบาย เข้ารับการรักษาตัวเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ ผมได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะลงคะแนนให้กับคนที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ และเรายึดในหลักการตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่ หากในวันนั้นตนเองไม่ได้ป่วย ก็ยืนยันว่าจะโหวตเห็นชอบให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่สามารถรวมเสียงข้างมากได้

 

โดยไม่จำเป็นว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร จะเป็นพิธาจากพรรคก้าวไกลหรือไม่ และส่วนตัวไม่ติดใจนโยบายมาตรา 112 เพราะเชื่อว่าสุดท้ายจะเป็นเรื่องของการพิจารณาในรัฐสภา

 

 

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

เคารพทุกความเห็นต่าง

 

ส่วนการตั้งรับกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น สถิตย์กล่าวว่า เราได้ทำหน้าที่ของเราไปแล้ว เราในระบอบประชาธิปไตยความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องที่สำคัญ เราต้องเคารพในความเห็นต่าง โดยที่ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเคารพความเห็นต่างของเราหรือไม่ แต่ผมเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างของคนอื่น

 

สถิตย์ได้ยกตัวอย่างคำกล่าวของ ‘วอลแตร์’ นักปราชญ์ นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ในยุคเรืองปัญญาของฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงก้องโลก ที่ระบุไว้ว่า “แม้ไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่ผมจะต่อสู้จนสุดชีวิต เพื่อให้ความเห็นของคุณได้ปรากฏอยู่บนโลกนี้ ผมเชื่อในความคิดเห็นที่แตกต่าง และยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นทั้งหลายทั้งมวล”

 

ถึงกระนั้นก็ขอให้การวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขอบเขต แค่ สว. ผู้ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นพอ โดยไม่เห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์ลามไปถึงคนในครอบครัว

 

“ส่วนตัวไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อะไร เพราะผมเองก็ไม่ใช่ตัวตึง และไม่ได้แสดงความคิดเห็นไปทางข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่อ้างอิงจากหลักวิชาการ ดังนั้นทุกความคิดเห็นของผมจะมีหลักวิชาการคอยสนับสนุนตลอด”

 

 

สถิตย์นั่งบนอุปกรณ์ออกกำลังกายจักรยานไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่กลางสำนักงาน

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

หมดวาระแล้ว…กลับไปฮีลสุขภาพกาย-จิตใจ

 

“หลังหมดวาระ มีสิ่งที่กังวลต่อบ้านเมืองอีกไหม” THE STANDARD ถาม

 

สถิตย์ตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า “ไม่เลย ปล่อยวางแล้ว จากนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบุคคลที่จะได้เข้ามาดำรงตำแหน่งชุดใหม่” ส่วนชีวิตหลังจากหมดวาระแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรมาก กลับไปดูแลมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อเป็นสื่อกลางการวิจัยเชิงนโยบาย และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งกลับไปดูแลสุขภาพกายด้วยการออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพจิตใจโดยการอ่านหนังสือพุทธทาสภิกขุ

 

หากทำประโยชน์ต่อสังคมได้ก็พร้อมที่จะทำไปเท่าที่มีความสามารถ แต่ไม่ได้สนใจ และไม่คิดที่จะมาเลือกอยู่บนเส้นทางการใช้ชีวิตนักการเมืองอีกแล้ว จากนี้ขอเป็นผู้ติดตามการเมืองในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

 

 

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร  

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising