×

‘ตระกูลเสถียรธรรมะ’ แห่งคาราบาวกรุ๊ป ซุ่มเงียบเปิดโมเดลใหม่ ‘CJX ขายสินค้าราคาส่ง’ เจาะตลาดที่กำลังแข่งเดือดระหว่าง Makro ของ CP และ GO Wholesale ของ Central

15.01.2024
  • LOADING...

เปิดปี 2567 สมรภูมิของธุรกิจค้าส่งไทยยังเคลื่อนไหวไม่หยุด เมื่อ ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ หัวเรือใหญ่คาราบาวกรุ๊ป รวมถึงบริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด ผู้บริหารเชนร้านค้าปลีก CJ Express และ CJ MORE ได้เปิดตัวโมเดลใหม่ภายใต้ชื่อ CJX วางโพสิชันนิงให้เป็นทั้งร้านค้าส่งและค้าปลีกเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งตอนนี้เปิดไปแล้วกว่า 4 สาขาในต่างจังหวัด 

 

สำหรับร้าน CJX ไม่ต่างจากร้าน CJ Express และ CJ MORE ที่เป็นอาคารตึกแถวชั้นเดียว มีพื้นที่จอดรถ ส่วนไลน์สินค้าภายในร้านจะเป็นสินค้าคอนซูเมอร์เป็นหลัก และมีโซนของร้านกาแฟ บาว คาเฟ่ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม ไว้ในพื้นที่เดียวกัน แตกต่างกันที่การขายสินค้าราคาส่งยกลังเท่านั้น

 

ถือว่าสอดคล้องกับที่ ‘วีรธรรม เสถียรธรรมะ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด เคยกล่าวเอาไว้ว่า บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด จะไม่หยุดที่จะขยายและหาโอกาสการเติบโตทั้งธุรกิจเดิมและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยกลยุทธ์การทำการตลาดแบบป่าล้อมเมือง สร้างฐานลูกค้าในต่างจังหวัดก่อนขยายเข้ากรุงเทพฯ ที่ผ่านมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการรับรู้แบรนด์และสร้างฐานลูกค้า

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เรียกได้ว่าเป็นการค่อยๆ คืบคลานเข้ามาร่วมการแข่งขันในตลาดค้าส่งที่มี GO Wholesale ของค่าย Central กับ Makro ของ CP ที่กำลังเร่งทำตลาดอย่างหนัก แต่ถ้าเทียบขั้นกันแล้ว โมเดลของ CJX ยังถือว่าเล็กมาก ถ้าเทียบกับทั้งสองค่ายใหญ่ เพราะ CJX ยังไม่มีโซนสินค้าที่เป็นของสดและฟู้ดโซลูชันส์ที่เป็นจุดขายของธุรกิจค้าส่ง แต่ต้องจับตาดูในอนาคตว่าจะมีการเพิ่มไลน์สินค้าเข้ามามากน้อยแค่ไหน 

 

สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกเริ่มได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้การซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านลดลง จากนั้นร้านค้าปลีกก็เริ่มผันตัวไปเป็นร้านค้าส่ง เพราะที่ผ่านมาตัวเลขการซื้อสินค้าบ้านเราแข่งขันกันที่การขายสินค้าในปริมาณมากๆ หรือเรียกว่าการหาช่องทางระบายสินค้า เพื่อให้ได้ตามเป้าตัวเลขยอดขายที่ไปรับมา

 

ปัจจุบันในตลาดค้าส่งไทยมีหลายเจ้า ทั้ง Central ที่มาทำ GO Wholesale แข่งกับ Makro ของ CP รวมถึง Big C ก็มีร้านโดนใจ ทุกค่ายต่างมีสินค้าเป็นของตัวเอง และต้องหาพื้นที่แย่งชิงลูกค้า 

 

“อย่างตระกูลเสถียรธรรมะ กลยุทธ์เขาจะเน้นไปเปิดร้านในต่างจังหวัด อาจเพราะเห็นว่าตลาดกรุงเทพฯ มันเต็ม แต่ถ้ามองไปที่เป้าหมายของเขา ไม่ได้มองแค่จะเข้ามาแข่งขันอย่างเดียว เพราะส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้จะมีสินค้าอยู่ในมือด้วย ถึงเวลาก็ป้อนสินค้าเข้าร้านของตัวเอง ไม่มีอะไรซับซ้อน”

 

อีกด้านหนึ่ง หากสังเกตจะเห็นว่าทุกค่ายเริ่มปรับตัวตามเทรนด์ความต้องการของลูกค้า ด้วยการหาพื้นที่ร้านขนาดใหญ่กว่าเดิม มีที่จอดรถตั้งแต่ 10 คันขึ้นไป จะเริ่มไม่เห็นโมเดลร้านในลักษณะของตึกแถวเหมือนเดิมแล้ว 

 

ด้าน มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี วิเคราะห์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ก่อนหน้านี้ CJ Express ได้ขยายร้านสะดวกซื้อไปในหลายๆ จังหวัด และการเปิดโมเดล CJX ร้านค้าส่ง ก็จะช่วยเติมเต็มธุรกิจให้ครบวงจรมากขึ้น คนอื่นทำเขาก็ต้องทำ เพราะทุกอย่างคือมาตรฐานเดียวกัน

 

แต่ต้องมาดูว่า CJ มีจุดเด่นตรงไหน นอกจากสินค้าคอนซูเมอร์แล้ว ในอนาคตจะมีกลุ่มอาหารที่ครบวงจรเหมือน GO Wholesale และ Makro เข้ามาเพิ่มหรือไม่ ซึ่งต้องแยกเป็น 2 ส่วน เรื่องอาหารกับคอนซูเมอร์ ของกินของใช้ 

 

ซึ่งถ้าเทียบกับ GO Wholesale ของ Central หรือแม้แต่ Makro ของ CP ต้องยอมรับว่ามีสินค้าในมือเยอะมาก ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้า ตอนนี้ทั้งสองค่ายแข่งขันกันอย่างดุเดือด หลังจาก Central ได้เปิดตัว GO Wholesale ร้านค้าส่งครบวงจร พร้อมดึงอดีตผู้บริหารฝีมือดีของ Makro อย่าง สุชาดา อิทธิจารุกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด เพื่อปลุกปั้นให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็ว 

 

มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ เล่าย้อนกลับไปว่า เซ็นทรัลมีอาวุธลับคือวัตถุดิบและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกัน ตัวเลขยอดขายก็ไม่ได้เยอะมาก ก็เลยมาเปิด Tops เพื่อหาทางออกในการจำหน่ายสินค้านำเข้า แต่จะเปิด Tops อย่างเดียวก็ไม่พอ 

 

คราวนี้สิ่งที่เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดี กับโอกาสทางธุรกิจมันคนละเรื่องกัน Central ก็มองเห็นโอกาสและไปดึงตัวคุณสุชาดามา แน่นอนว่าคุณสุชาดาจะรู้อยู่ทันทีว่าการบริหารจัดการสินค้าในหมวดไหนได้กำไรมากสุด ซึ่งไม่ใช่กลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ แต่คือกลุ่มฟู้ดโซลูชันส์ พวกของสด หมู ไก่ แซลมอน ชีส ตลาดใหญ่และกำไรเยอะ ซึ่งก็สอดคล้องกับอาวุธที่ Central มี คือการดีลวัตถุดิบนำเข้าหรือแม้แต่แซลมอนไว้อยู่แล้ว 

 

อีกด้านหนึ่งจะเห็นว่า Makro กับ GO Wholesale จะขายสินค้าคอนซูเมอร์น้อยมาก เพราะมีกำไรน้อย และมีการแข่งขันสูง ขณะที่อาหารทำกำไรได้มากกว่า แต่ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าการขยายตัวของ Makro เน้นเปิดตามหัวเมืองหลักๆ นำวัตถุดิบที่หลากหลายมาขาย ก็ได้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจร้านอาหารในตลาดต่างจังหวัด

 

สะท้อนให้เห็นว่าตลาดค้าส่งกลายเป็นที่สนใจของผู้เล่นหน้าใหม่ๆ หลังจากในอดีตที่มีเพียง Makro ทำตลาดเพียงรายเดียวมานาน จนปัจจุบันมีทั้งหมด 148 สาขา จากนั้นก็มี GO Wholesale ของกลุ่ม Central กระโดดเข้ามา ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 5 สาขา ทั้งศรีนครินทร์ เชียงใหม่ นิคมอมตะ ตามด้วยพัทยา จังหวัดชลบุรี และสาขาพระราม 2 โดยมีแผนเปิดสาขาปีละ 10 สาขา พร้อมตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดสาขาให้ครบ 50 สาขาภายใน 5 ปี

 

“หากสังเกตจะเห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่ GO Wholesale เปิดสาขาในพื้นที่ไหน Makro ก็จะรีโนเวตสาขาที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันทันที เรียกได้ว่าไม่ยอมน้อยหน้ากันเลยทีเดียว”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X