เนื่องจากรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการผลิตเบียร์ ทำให้ ‘คาราบาว กรุ๊ป’ ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังของไทย เดินหน้าเผชิญความท้าทายเต็มรูปแบบกับ 2 แบรนด์เบียร์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ สิงห์ และช้าง
“คาราบาวจะเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทเบียร์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไทย” เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ผู้รั้งฉายา ‘เจ้าพ่อคาราบาวแดง’ กล่าวในการสัมภาษณ์พิเศษกับ Nikkei Asia ซึ่งได้ระบุถึงเป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งตลาด 10% ในปี 2567 และเพิ่มเป็น 20% ภายใน 3-5 ปี พร้อมกับมียอดขายเบียร์ทะลุ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เสถียร’ เจ้าพ่อคาราบาวแดง เดินหน้าปั้นร้านถูกดี มีมาตรฐาน และซีเจ พร้อมทุ่ม 4 พันล้านบุกตลาดเบียร์ หวังปั้นรายได้รวมสู่ตัวเลข ‘แสนล้านบาท’
- ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ ทุ่ม 4 พันล้านบาท ต่อยอดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงออกมาเป็น ‘เบียร์’ สะเทือนตลาด 2.6 แสนล้านบาท พร้อมท้าชน ‘ช้างกับสิงห์’ ไตรมาส 4 นี้!
- New Market โจทย์ใหญ่ของแม่ทัพ ‘ไทยเบฟ’ ปี 2567 เล็งทุ่ม 4 พันล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-นอนแอลกอฮอล์ในกัมพูชาเป็นครั้งแรก
การเข้าสู่ตลาดเบียร์ในครั้งนี้มีการลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์การผลิตเบียร์ที่โรงงานในชัยนาท โดยมีแผนที่จะรักษากำลังการผลิตไว้ที่ 200 ล้านลิตรต่อปีก่อน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลิตร ขึ้นอยู่กับผลการตอบรับของตลาด
การขยับตัวครั้งนี้ของเสถียรเกิดขึ้นจากแผนการที่เล็งรุกตลาดเบียร์อย่างเต็มรูปแบบมานานกว่า 20 ปี เพราะ “เบียร์ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของตลาดเครื่องดื่มของไทย ดังนั้นจึงไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้หากคุณต้องการเติบโต” เสถียรกล่าว
ตลาดเบียร์ของประเทศไทยคาดว่าจะขยายตัวเป็น 1.04 พันล้านดอลลาร์ในปี 2570 เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2565 ตามการประมาณการของผู้ให้บริการข้อมูล Statista ด้านข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ในปี 2563 บุญรอดที่มีแบรนด์ในมืออย่างสิงห์และลีโอมีส่วนแบ่งตลาดเบียร์ไทย 57% ตามด้วยไทยเบฟผู้เป็นเจ้าของเบียร์ช้างมีส่วนแบ่ง 34%
อย่างไรก็ตามแม้ว่ากฎระเบียบเกี่ยวกับโรงเบียร์จะผ่อนคลายลง แต่ผู้เล่นรายใหม่รายใหญ่รายแรกของตลาดในรอบประมาณ 3 ทศวรรษยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด เสถียรกล่าวว่าโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกห้าม ดังนั้นผู้เข้ามาในตลาดรายใหม่จึงมีตัวเลือกที่จำกัดในการสร้างการรับรู้ของตัวเอง
ไทยเบฟเวอเรจและบุญรอดได้ปรับตัวเข้ากับข้อจำกัดนี้ด้วยการโฆษณาน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีโลโก้เดียวกันกับเบียร์ของตนอย่างหนัก
“ทั้งสองบริษัทกระตือรือร้นติดตามการส่งเสริมการขายและการสนับสนุนทางเลือกอื่น นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่พวกเขารักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้” คาซูกิ อิเคกามิ จากแผนกวิจัยและที่ปรึกษามิตซูบิชิ ยูเอฟเจของญี่ปุ่น กล่าว
อ้างอิง: