×

ทำความรู้จัก ‘เซียนฮง-สถาพร งามเรืองพงศ์’ ผู้อาจหาญทุ่มเงินกว่า 7 พันล้าน เข้าซื้อหุ้น OR จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 แซงหน้ากองทุนระดับโลก

23.03.2021
  • LOADING...
ทำความรู้จัก ‘เซียนฮง-สถาพร งามเรืองพงศ์’ ผู้อาจหาญทุ่มเงินกว่า 7 พันล้าน เข้าซื้อหุ้น OR จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 แซงหน้ากองทุนระดับโลก

หลังจากหุ้นขวัญใจมหาชนอย่าง บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ได้เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

 

ล่าสุด OR ได้ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อเตรียมจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งปรากฏว่า รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ‘อันดับ 2’ ไม่ใช่นักลงทุนสถาบันจากที่ไหน แต่เป็นนักลงทุนบุคคลธรรมดาที่มีชื่อ ‘สถาพร งามเรืองพงศ์’


บทความที่เกี่ยวข้อง


โดย สถาพร งามเรืองพงศ์ มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ OR ถือหุ้นรวม 244,298,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.04% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,756.49 ล้านบาท คำนวณจากราคาปิดของหุ้น OR ณ วันที่ 22 มีนาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 31.75 บาท 

 

แน่นอนว่าสถาพรซึ่งถือเป็นนักลงทุนบุคคลธรรมดา ย่อมต้องได้รับการจัดสรรหุ้นจาก OR เต็มที่ไม่เกิน 4,500 หุ้น ดังนั้นหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอีก 244,294,400 หุ้น น่าจะเกิดจากการเข้าไปซื้อเพิ่มในกระดาน 

 

โดยจำนวนหุ้นที่สถาพรถืออยู่ ณ ปัจจุบัน ยังเป็นระดับที่สูงกว่าของ GIC Private ซึ่งเป็นกองทุนระดับโลกจากสิงคโปร์ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ OR ถืออยู่ราวๆ 215 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.79%

 

มาถึงจุดนี้อาจมีคำถามว่า สถาพร งามเรืองพงศ์ เป็นใคร ทำไมจึงอาจหาญทุ่มเงินกว่า 7 พันล้านบาท เข้าซื้อหุ้น OR จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 แซงหน้ากองทุนระดับโลกอย่าง GIC Private

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปรู้จักกับ สถาพร งามเรืองพงศ์ กัน

 

สถาพร งามเรืองพงศ์ ถือเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่สาย VI หรือ Value Investor ที่โด่งดังในแวดวงการลงทุน โดยคนในวงการตลาดทุนจะรู้จักเขาในนามว่า ‘เซียนฮง’  

 

ฮงเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อราวๆ ปี 2547 ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100,000 บาท ย้ำอีกทีว่า ‘1แสนบาท’ ซึ่งขณะนั้นเขายังเรียนอยู่เพียงชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

เขาเล่าว่า กว่าจะจับจุดการลงทุนได้ ต้องใช้เวลาราว 2-3 ปี หลังจากนั้นก็ยึดอาชีพ ‘นักลงทุน’ หาเลี้ยงตัวเองมาต่อเนื่องตั้งแต่เรียนจบ 

 

ฮงเคยบอกเอาไว้ว่า ช่วงที่พอร์ตยังไม่ใหญ่มาก เขาเลือกใช้ทฤษฎีการลงทุนด้วยการดูปัจจัยพื้นฐาน 70% ส่วนอีก 30% อาศัยปัจจัยทางเทคนิค โดยดูจากกราฟ  ซึ่งเขาบอกว่า การดูกราฟย้อนหลังจะทำให้เห็น ‘ดีมานด์’ และ ‘ซัพพลาย’ ของหุ้นในอดีต และที่สำคัญจะมองเห็นจุดนิวไฮของหุ้นด้วย 

 

อีกหนึ่งทฤษฎีที่ฮงเลือกใช้เมื่อสมัยที่พอร์ตการลงทุนยังไม่ใหญ่มากนักคือ การเลือกหุ้นที่เพิ่งทำกำไรนิวไฮ พร้อมกับวิเคราะห์อนาคตในไตรมาสที่เหลือของปีนั้นๆ ว่า จะสามารถรักษากำไรในระดับที่ดีได้ต่อเนื่องหรือไม่

 

ส่วนสูตรการเข้าสะสมหุ้นในยุคเริ่มต้น เขาเลือกใช้สูตร 30:30:30:10 กล่าวคือ หากซื้อแล้วหุ้นขึ้นต่อ ก็จะเข้าซื้อเพิ่มเป็นสเตปตามสูตรดังกล่าว แต่ถ้าซื้อแล้วหุ้นปรับลดลงเกิน 8% เขาจะตัดขาดทุนทันที 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพอร์ตการลงทุนเริ่มใหญ่ขึ้นจนเข้าใกล้หลักหมื่นล้านบาท ทำให้เขาต้องปรับกระบวนยุทธ์การลงทุนใหม่ โดยเน้นปัจจัยพื้นฐานเกือบ 100% 

 

ส่วนหุ้นที่เลือกเข้าลงทุนจะเน้นดูว่าหุ้นนั้นมีความสามารถการแข่งขันชัดเจนแค่ไหน ที่สำคัญ ‘เก่งกว่า’ คู่แข่งหรือไม่ โดยมุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ข้อนี้จึงน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฮงยอมทุ่มเงินหลายพันล้านบาทเข้าลงทุนในหุ้น OR จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง

 

ฮงเริ่มโด่งดังจากการเข้าถือหุ้น KTC หรือ บมจ. บัตรกรุงไทย ซึ่งเขาทยอยซื้อลงทุนตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั่งในปี 2563 ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ในหุ้น KTC ด้วยจำนวนหุ้นรวมกว่า 128 ล้านหุ้น ราคาหุ้นช่วงนั้นอยู่ที่ประมาณ​ 31บาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านบาท ก่อนจะเทขายในเวลาต่อมาไม่นานนัก

 

ปัจจุบันพอร์ตลงทุนของฮงมีหุ้นรวม 6 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวม 10,663 ล้านบาท ประกอบด้วย

 

1. บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จำนวน 244,298,900 หุ้น ราคาหุ้นละ 31.75 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 7,756.49 ล้านบาท

 

2. บมจ. โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล (KISS) จำนวน 6,305,300 หุ้น ราคาหุ้นละ 16.90 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 106.55 ล้านบาท

 

3. บมจ. ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) จำนวน 45,252,800 หุ้น ราคาหุ้นละ 9.10 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 411.80 ล้านบาท

 

4. บมจ. โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) จำนวน 44,958,600 หุ้น ราคาหุ้นละ 8.50 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 382.14 ล้านบาท

 

5. บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) จำนวน 17,838,400 หุ้น ราคาหุ้นละ 37.75 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 673.39 ล้านบาท

 

6. บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) จำนวน 29,463,100 หุ้น ราคาหุ้นละ 45.25 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 1,333.20 ล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X