×

ศศินทร์ เผยรายงาน ‘ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัด’ เครื่องมือวัดผลสู่แนวทางการยกระดับสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชน [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
14.09.2022
  • LOADING...
ศศินทร์

เพราะการพัฒนาคนคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ การกำหนดนโยบายและจัดทำโครงการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางสังคมเป็นพื้นฐานของความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงของประเทศ แต่ปัจจุบันการวัดความเจริญและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยตัวชี้วัด GDP ไม่สามารถอธิบายผลความก้าวหน้าทางสังคมหรือความสำเร็จของประเทศได้ทั้งหมด 

 

เมื่อความก้าวหน้าทางสังคมจะกลายเป็นพื้นฐานความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงของประเทศ ด้วยเหตุนี้เอง Sasin School of Management (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มีความตั้งใจที่จะพัฒนาดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัดของประเทศไทยขึ้นมาเป็นครั้งแรก ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทย ภายใต้โครงการ ‘การพัฒนาดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัดของประเทศไทย’ เพื่อให้ผู้นำและผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในโลกธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการวัดผลเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการจัดทำโครงการต่างๆ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย

 

ศศินทร์ได้เริ่มต้นทำโครงการ ‘ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมในระดับจังหวัด’ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยมุ่งหวังให้นำดัชนีนี้เป็นเครื่องมือประเมินความก้าวหน้าของคนในระดับจังหวัด และเพื่อให้จังหวัดต่างๆ ได้ทราบถึงลำดับตำแหน่งความก้าวหน้าของคนในจังหวัดของตน พร้อมทั้งจุดเด่นจุดด้อยในการพัฒนาคนของจังหวัด ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาข้อมูลเชิงลึก เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนในจังหวัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ดัชนีความก้าวหน้าของคนสู่สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมต่อไป

 

Social Progress Imperative องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จับมือกับบริษัท Deloitte, มูลนิธิ Skoll และศาสตราจารย์ ดร.ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ แห่ง Harvard Business School ได้ร่วมกันพัฒนาดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index: SPI) เพื่อให้เป็นมาตรวัดที่สะท้อนความก้าวหน้าทางสังคมที่แยกเด็ดขาดจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

 

โดยผลคะแนนมาจากตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมซึ่งครอบคลุมความก้าวหน้าทางสังคมครบทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Needs) พื้นฐานของการอยู่ดีมีสุข (Foundations of Wellbeing) และโอกาสทางสังคม (Opportunity) ซึ่งดัชนี SPI นี้จะเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยชี้ให้ธุรกิจต่างๆ เห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคม

 

ศศินทร์

 

ดร.เมธาวี ธรรมเกษร หัวหน้าโครงการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เผยภาพรวมที่ได้จากโครงการ ‘ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัด’ พบว่าปี 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 71 จากทั้งหมด 168 ประเทศ และติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เริ่มหลุดพ้นจากความยากจนและกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่ง เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มี 3 องค์ประกอบที่ประเทศไทยได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ การเข้าถึงการศึกษาขั้นสูง ความปลอดภัยของบุคคล และสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งการวัดผลระดับจังหวัดจะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้ตรงจุดและนำไปสู่การขจัดความเหลื่อมล้ำในแต่ละจังหวัด

 

ศศินทร์



สำหรับผลวิเคราะห์ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัดของประเทศไทย มีการจัดอันดับทั้ง 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ) เพื่อนำมาประเมินผลองค์ประกอบทั้ง 12 องค์ประกอบ พบว่าจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวที่สูง หรือ Gross Provincial Product (GPP) Per Capita (เช่น จังหวัดระยอง 962,643 บาทต่อปี) นั้นได้คะแนนดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมของจังหวัดพอๆ กับจังหวัดที่มี GPP Per Capita ที่ต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่จังหวัดมี GPP สูงนั้นมิได้หมายความว่าคะแนนดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมจะสูงตาม การที่คะแนน SPI สูงนั้นเกิดจากความสามารถของจังหวัดในการแปลงทุนเศรษฐกิจให้เป็นทุนมนุษย์ ทุนสิ่งแวดล้อม และทุนสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นจังหวัดนนทบุรีมี GPP Per Capita อยู่ที่ 193,221 บาทต่อปี แต่กลับมีคะแนนความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัดของประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในขณะที่จังหวัดระยองซึ่งมี GPP Per Capita ที่สูง แต่มีคะแนนความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัดอยู่ลำดับที่ 21 จาก 76 จังหวัด

 

“รายงานนี้นำเสนอประเด็นสำคัญให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับจังหวัดและระดับประเทศ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ การจัดสรรทรัพยากร และการวางแผนนโยบายสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมของจังหวัดนั้นๆ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ลดปัญหาสังคม” ดร.เมธาวีกล่าว

 

ศศินทร์

 

ศาสตราจารย์ ดร.เอียน เฟนวิค (Professor Ian Fenwick, Ph.D.) ผู้อำนวยการ Sasin School of Management กล่าวว่า “ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมจะช่วยขับเคลื่อนประสิทธิผลของนโยบาย ทั้งการลงมือทำและการสร้างการเปลี่ยนแปลง เรามั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างศศินทร์กับ Social Progress Imperative และการเปิดตัว SPI Thailand ในวันนี้ จะถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมต่อและเปลี่ยนแปลง เพื่อโลกที่ดีขึ้น ฉลาดขึ้น ยั่งยืนขึ้น และสร้าง Impact ที่สำคัญต่อสังคมโดยรวม”

 

ศศินทร์

 

สุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด กล่าวในฐานะที่ Deloitte เป็นองค์กรที่ร่วมก่อตั้ง Social Progress Imperative ถึงความสำคัญในการสร้างตัวชี้วัดที่ดี ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ภาครัฐและเอกชนเห็นถึงสภาพสังคมที่จะส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

 

“ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ใช้สื่อสารในประเด็นที่มีความสำคัญ และทำหน้าที่เป็นแผนที่นำทางเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้นำในการจัดหาทรัพยากร การทำงานร่วมกัน และการตัดสินใจในการลงทุน สามารถระบุและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาได้อย่างเป็นระบบด้วยใช้ดัชนีชี้วัดความก้าวหน้า ดัชนี SPI จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อเติมเต็มการวัดด้วย GDP เพื่อให้การวัดผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

“เราต้องการเครื่องมือใหม่ในการวัดผลและวิธีคำนวณหาความก้าวหน้าในรูปแบบใหม่ การใช้ข้อมูลเชิงลึกอย่างเต็มที่จะทำให้เรามีพลังที่จะเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น ผู้นำระดับโลกมองไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า การทำธุรกิจที่ดีไม่ใช่แค่การสร้างผลกำไรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับสังคม”

 

 

ไมเคิล กรีน (Michael Green) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Social Progress Imperative ก็เห็นสอดคล้องว่า GDP และการวัดผลทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่ครบถ้วนและครอบคลุมในทุกมิติ ตลอดจนการวัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ให้ข้อมูลในแง่ของความยั่งยืน 

 

“จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นยิ่งทำให้ต้องเพิ่มความเร่งด่วนในการพัฒนาความก้าวหน้าของสังคมให้เร็วขึ้นไปอีก ความก้าวหน้าทางสังคมจึงเป็นพื้นฐานของความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งดัชนี SPI เป็นเครื่องมือในการวัดสิ่งเหล่านี้ และจะมีบทบาทในการช่วยชี้ให้ธุรกิจต่างๆ เห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคม ทั้งนี้ ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งก็ต่อเมื่อผู้นำในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม นำไปใช้ประโยชน์ ผลักดันไปสู่การใช้งานจริงเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชน”

 

ศศินทร์

 

งานเสวนาครั้งนี้ยังเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘การปลดล็อกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนด้วยดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม’ โดยเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนข้อมูลมาร่วมพูดคุยและให้ข้อเสนอแนะ

 

หทัยชนก ชินอุปราวัฒน์ ผู้อำนวยการกองสถิติแห่งชาติ เผยว่า “การมีข้อมูลที่ครบถ้วนจะทำให้ทราบว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร กระทบกับคนกลุ่มใด มีปัญหามากหรือน้อยในแต่ละประเด็น จากนั้นเราจะลำดับความสำคัญของปัญหาได้ แนวทางการจัดทำ ‘ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมในระดับจังหวัด’ ของศศินทร์นั้นต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลของสถิติในอนาคตด้วยว่าจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งการที่ข้อมูลยังไม่ครบอาจไม่ได้เกิดจากหน่วยงานที่ผลิต แต่เกิดจากตัวแหล่งข้อมูลที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่าข้อมูลคืออะไร เข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์ เมื่อเข้าใจแล้วต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนในการให้ข้อมูลแก่ภาครัฐถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง”

 

ในมุมมองของ ดวงกมล วิมลกิจ ผู้อำนวยการกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เห็นพ้องในทิศทางเดียวกันว่า “ข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุมจะสามารถบอกสถานะของประเทศว่าตอนนี้ในประเด็นต่างๆ เป็นอย่างไร และยังสามารถคาดการณ์ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมีผลอย่างมากในการออกนโยบาย”

 

ในขณะที่ตัวแทนสถาบันการศึกษา ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า “เสน่ห์ของ SPI มีจุดเด่นด้านการมองประเด็น หากเราสามารถใช้ข้อมูลนี้ไปประกอบกับข้อมูลอื่นสอดคล้องไปกับเป้าหมายเดียวกันได้ ก็จะสร้างประโยชน์มากขึ้น”

 

เช่นเดียวกับ ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสริมในประเด็นเรื่องปัญหาสังคมไทยว่า “ปัญหาใหญ่ๆ คือความเหลื่อมล้ำ, สังคมสูงวัย, กับดักรายได้ปานกลาง, สิ่งแวดล้อม และการเมือง ข้อมูลน่าจะช่วยทำให้เห็นภาพกว้างว่าในประเทศอื่นๆ ทำไมเขาถึงจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ดีกว่า เพื่อบ่งชี้ว่าแล้วเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งปัญหาของเมืองไทยยังอยู่ที่ Soft Infrastructure เช่น ภาครัฐไม่มีความยืดหยุ่นหรือมิติที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจคือเรื่องของนวัตกรรม เช่น จำนวนสิทธิบัตรที่จดยังน้อย สำคัญที่สุดคือคนไทย เราจะแข่งขันได้ดีแค่ไหนขึ้นกับคนไทยเก่งแค่ไหน อันหนึ่งคือเรื่องทักษะ ใน SPI มีเรื่องของการอ่านออกเขียนได้มีกี่เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ไม่พอแล้ว ต้องจับความสามารถด้านเทคโนโลยีแล้ว หรือมีระบบความคิดเชิงวิเคราะห์แค่ไหน”

 

 

ก่อนจบงานเสวนา อาจารย์นิกม์ พิศลยบุตร รองผู้อำนวยการ Sasin School of Management ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การพัฒนาดัชนีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ข้อมูลเพื่อวัดความก้าวหน้าของสังคมไทยซึ่งอยู่บนพื้นฐานของกรอบการทำงานที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาดัชนีนี้ให้มีความเหมาะสมกับบริบทและเป้าหมายของสังคมไทย ดัชนีนี้คือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถติดตามและพัฒนาความก้าวหน้าทางสังคมของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรไปยังที่ที่มีความต้องการมากที่สุด”

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมของจังหวัดต่างๆ ได้ที่ sasin.edu หรือ https://bit.ly/3e0b3Jb หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ [email protected]

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X