×

ออกหมายเรียกสฤณี ละเมิดอำนาจศาล เหตุเขียนบทความวิจารณ์ศาลตัดสิทธิผู้สมัครพรรคการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
29.08.2019
  • LOADING...
สฤณี อาชวานันทกุล

(28 สิงหาคม) สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ได้รับหมายเรียกเข้าให้การในฐานะผู้ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล จากแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา โดยให้ไปยังศาลฎีกาวันที่ 9 ก.ย. 2562 เวลา 10.30 น. 

 

เหตุของการออกหมายเรียกในครั้งนี้มีที่มาจากบทความเรื่อง อันตรายของภาวะ ‘นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน’ (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562

 

สุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา คือผู้กล่าวหาในกรณีนี้ โดยเขาได้ทำหนังสือบันทึกข้อความ ลงวันที่ 16 ส.ค. 2562 ถึงประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เพื่อชี้ให้เห็นว่าบทความดังกล่าวของสฤณี มีลักษณะที่เป็นการพาดพิงแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา

 

สุประดิษฐ์ให้เหตุผลในบันทึกข้อความว่า ในบทความมีการวิจารณ์ว่า

 

“ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมักง่ายในการตีความกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีบุคคลผู้นั้นเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ว่ารวมความถึงผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิระบุวัตถุประสงค์ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แม้ความเป็นจริงห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยังได้ตีความไปว่า เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แล้วผู้ประพันธ์ได้แสดงความเห็นว่า การตีความเช่นนี้ มักง่าย และอันตรายอย่างยิ่ง

 

นอกจากนี้บทความดังกล่าว ยังได้กล่าวหาว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งใช้กฎหมายแบบตะพึดตะพือ ตีความอย่างเกินเลยโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผู้เขียนบทความไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งโดยสุจริต แต่มีเจตนาโจมตีหรือด่าว่าศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตีความกฎหมายมักง่ายและใช้อย่างตะพึดตะพือ

 

…การที่ผู้ประพันธ์เขียนบทความดังกล่าวจึงมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยานในระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งอาจมีประเด็นอย่างเดียวกันกับคดีที่ผู้ประพันธ์ได้กล่าว หรือแสดงในบทความ”

 

ทั้งนี้ในบันทึกข้อความ สุประดิษฐ์ได้ยกเอาความหมายของคำว่า ‘มักง่าย’ และ ‘ตะพึดตะพือ’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มาประกอบการให้เหตุผลด้วย และในบันทึกข้อความได้ระบุถึง ยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า เป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ด้วย ส่วนกรณีของสฤณีนั้นเห็นว่า เข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2)

 

นอกจากนี้สุประดิษฐ์ได้เสนอขอให้ประธานแผนกคดีเลือกตั้งฯ มีคำสั่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อทำการไต่สวน และพิจารณาคดีฐานละเมิดอำนาจศาล โดยเสนอให้ตั้ง ฉันทวัธน์ วรทัต ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเป็นเจ้าของสํานวน พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ชัยชนะ ตัญจพัฒน์กุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาคดีนี้

 

ด้านสฤณีให้ความเห็นว่า ตนเขียนบทความเพื่อวิจารณ์คำตัดสินที่ออกมาแล้วเท่านั้น ด้วยความสุจริตใจ และด้วยเจตนาดีต่อกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทย เหมือนกับบทความทุกชิ้นที่เขียนตลอดมา แต่กังวลว่าการตีความข้อหาละเมิดอำนาจศาลโดยอนุมานว่าผู้วิจารณ์หมายถึงคดีอื่นๆ ในอนาคตด้วย อาจส่งผลให้การวิจารณ์คำตัดสินของศาลเป็นไปไม่ได้เลยในอนาคต เนื่องจากไม่ว่าจะคดีอะไร กฎหมายอะไร ก็ย่อมมีคดีลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคตทั้งสิ้น

 

ด้าน พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงกรณีการระบุความผิดนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2) ระบุว่า การกล่าวหรือแสดงข้อความที่เข้าลักษณะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายมาตรานี้ จะต้องเป็นการกระทำในระหว่างการพิจารณาคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด เรื่องนี้ สฤณีเขียนบทความวิจารณ์คำพิพากษาของศาลฎีกา ภายหลังที่ศาลได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายมาตรานี้

 

พนัส ระบุด้วยว่า ส่วนจะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 หรือไม่ จะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้มีการสอบสวนดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดดังกล่าวตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดโดยบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา กล่าวคือ จะต้องมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนแล้วส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่

 

“ไม่ใช่ออกหมายเรียกตัวไปไต่สวนว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ดังเช่นในกรณีนี้ เพราะกรณีไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลดังกล่าวข้างต้น” พนัส ระบุ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X