×

‘สารัชถ์’ หวังขยายธุรกิจ Virtual Bank ผ่านฐานลูกค้ากรุงไทยและเอไอเอส เผยดอกเบี้ยไม่สูงเท่ากับที่มีกระแสข่าว

20.03.2024
  • LOADING...
‘สารัชถ์’ หวังขยายธุรกิจ Virtual Bank ผ่านฐานลูกค้ากรุงไทยและเอไอเอส

ธุรกิจ Virtual Bank หรือธนาคารเสมือน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจขอใบอนุญาตตั้งแต่วันนี้ (20 มีนาคม) ไปจนถึงวันที่ 19 กันยายน 2567 ในมุมของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่มีแผนจะร่วมทุนกับอีกสองบริษัท ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ AIS เป็นหนึ่งในกลุ่มทุนที่มีแผนจะยื่นใบสมัครในช่วงหลังจากนี้

 

สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GULF กล่าวว่า ค่อนข้างมีความพร้อมในขณะนี้ เช่นเดียวกับพันธมิตรอย่างกรุงไทยและ AIS ที่มีความเข้าใจดีในธุรกิจ โดยเฉพาะกรุงไทยที่มีประสบการณ์ในเรื่องการทำระบบธุรกรรมการเงินมาค่อนข้างมาก

 

“Virtual Bank จะช่วยให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องมีหลักประกัน แต่อาศัยการพิจารณาข้อมูลเครดิตและความสามารถในการกู้ยืมของลูกค้า ขณะที่ดอกเบี้ยอาจจะไม่สูงเท่ากับที่เห็นตามข่าว”

 

ทั้งนี้ ยอดปล่อยสินเชื่อต่อรายอาจจะไม่สูงนัก เช่น ประมาณ 30,000-50,000 บาท หรืออาจจะ 1-2 แสนบาทต่อราย เพื่อให้คนส่วนมากของประเทศเข้าถึงได้

 

สำหรับโอกาสในการขยายธุรกิจนี้ส่วนสำคัญจะมาจากฐานลูกค้าของกรุงไทยและ AIS และด้วยการใช้งานที่จะอยู่บนโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ทำให้ AIS จะช่วยต่อยอดธุรกิจได้มาก

 

“การแข่งขันในธุรกิจนี้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้ที่ทำระบบได้มีเสถียรภาพ และเปิดให้คนเข้าถึงได้มากที่สุด และเข้าถึงได้ตลอดเวลา”

 

ส่วนกระแสข่าวที่ว่าอาจมีพันธมิตรรายอื่นเข้ามาร่วมทุนด้วย เช่น บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) สารัชถ์กล่าวว่ายังอยู่ระหว่างการเจรจาและยังไม่ได้ข้อสรุป

 

สำหรับเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ Virtual Bank จะเรียกเก็บจากลูกหนี้ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าอาจจะเข้าเงื่อนไขของสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) ซึ่ง ธปท. กำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 33% หรืออาจจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (P-Loan) ที่มีเพดานไม่เกิน 25%

 

ทิศทางธุรกิจของ GULF หลังจากนี้

 

ระหว่างการแถลงข่าว สารัชถ์ได้กล่าวถึงธุรกิจอื่นๆ ของ GULF ที่กำลังมุ่งไปหลังจากนี้ ทั้งในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ร่วมทุนกับ Binance ในการตั้ง Binance TH ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

 

“เราเองก็รู้จักกับ Binance มาหลายปีแล้ว และค่อนข้างคุ้นเคยกับ Changpeng Zhao (ผู้ก่อตั้ง Binance) ตอนที่เราเข้าไปซื้อ INTUCH และสนใจลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ก็พยายามมองหาคนที่มีความรู้จริงที่สามารถให้ความรู้เราได้ และเป็นพันธมิตรกับเราได้ ก่อนหน้านี้ก็มีโอกาสได้คุยกับหลายบริษัทที่ล้มหายไปตามข่าว” สารัชถ์กล่าว

 

ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจเลือก Binance เพราะเห็นว่าเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง “ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลที่สำคัญคือต้องมีความโปร่งใสชัดเจน เพราะเงินจะถูกเก็บไว้ใน “Wallet เกือบหมด ระบบเทคโนโลยีก็ต้องเสถียรมาก ซึ่งระบบเทคโนโลยีของ Binance ค่อนข้างดี

 

“ส่วนตัวเคยถามว่าหากเงินที่ผู้คนนำมาฝากไว้หายไปจะทำอย่างไร เขามั่นใจว่ามีเงินทุนสำรองที่จะรองรับความเสี่ยงในส่วนนี้ได้ และมั่นใจในระบบเทคโนโลยีที่จะป้องกันความเสี่ยงจากเรื่องนี้” สารัชถ์กล่าว

 

เมื่อถูกถามว่ามีความเห็นอย่างไรต่อทิศทางของตลาดคริปโตหลังจากนี้ สารัชถ์กล่าวว่า “ผมไม่ได้ซื้อเหมือนกัน ก็คงจะผิดหวัง เพราะว่าน่าจะไปต่อได้ ตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของคริปโต แต่ก็ตอบไม่ได้ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง

 

“ส่วนตัวไม่ได้ลงทุนใน Bitcoin เพราะไม่มีเวลา แต่มีการลงทุนในเหรียญ BNB ไว้พอสมควร” สารัชถ์กล่าว

 

ด้าน Richard Teng ซีอีโอของ Binance กล่าวว่า หนึ่งในความท้าทายหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยและในประเทศอื่นๆ คือเรื่องของกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการกำกับดูแล หลังจากความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานต่างๆ เข้มงวดมากขึ้น

 

“เราจะบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างไรในขณะที่ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมไปพร้อมๆ กัน ที่ผ่านมาเราได้หารือประเด็นเหล่านี้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทยไปพอสมควร แต่ก็มีหลายประเด็นที่ยังเป็นที่กังวล เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลายประเทศอนุญาต แต่ในไทยยังไม่เป็นเช่นนั้น”​

 

โดยภาพรวม Richard เชื่อว่าการพัฒนาของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐและกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวย ซึ่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ รวมทั้งการให้ความรู้เพื่อสร้างคนที่มีทักษะสูง เพื่อมาต่อยอดเทคโนโลยี

 

มุ่งธุรกิจดิจิทัลและพลังงานสีเขียว

 

สารัชถ์กล่าวต่อว่า ธุรกิจดิจิทัลจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ เช่น AI หรือ Cloud ส่วน GULF ก็เพิ่งลงทุน Data Center ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ AIS และ Singtel ที่น่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568 โดยธุรกิจนี้จะขยายต่อเนื่องตามความต้องการของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น

 

สำหรับธุรกิจพลังงาน GULF จะมุ่งขยายการลงทุนพลังงานสีเขียว สอดคล้องไปกับการสนับสนุนของภาครัฐ อย่างล่าสุดที่รัฐบาลออกนโยบายใหม่คือ Utility Green Tariff เป็นการกำหนดค่าไฟฟ้าคงที่ตลอด 24 ชั่วโมงที่ 4.50 บาทต่อหน่วย ให้กับอุตสาหกรรมต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X