‘บมจ. เซ็ปเป้’ หรือ SAPPE เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้รวม 772.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 85.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% หลังบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รับตลาดต่างประเทศทยอยเห็นสัญญาณฟื้นตัว คาดส่งออกสินค้าได้มากขึ้น เดินหน้าเปิดตัวสินค้าใหม่มากกว่า 20 รายการในช่วงที่เหลือของปี
ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเซ็ปเป้กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 85.0 ล้านบาท เติบโต 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 83.0 ล้านบาท หลังจากปรับกลยุทธ์เน้นให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่ชะลอตัวลงจากปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย โดยมุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าเดิม
ขณะที่รายได้รวมทำได้ 772.6 ล้านบาท ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ซึ่งมีรายได้รวม 844.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานที่ดีเนื่องจากในไตรมาสนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลกระทบให้ยอดขายเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อย่างใด
ปิยจิตกล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการปีนี้จะดีกว่าปีก่อน เบื้องต้นวางเป้าหมายรายได้เติบโต 10% จากกำลังซื้อในต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น รวมถึงปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนที่คลี่คลายลง จะช่วยให้รายได้จากการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศ 55% ครอบคลุม 90 ประเทศทั่วโลก และยอดขายในประเทศ 45%
“เราค่อนข้างมีจุดยืนทางการตลาดที่แข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ แบรนด์หลักคือ โมกุ โมกุ ซึ่งเมื่อวางบนเชลเตอร์แล้วถือว่าเป็นแบรนด์ที่พรีเมียม มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และได้รับการยอมรับจากลูกค้าโดยทั่ว จึงมั่นใจในการแข่งขันในต่างประเทศ”
ขณะเดียวกัน ยอดขายในไทยก็จะเชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศดีขึ้น ซึ่งบริษัทตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Functional Drink โดยในช่วงที่เหลือของปีมีแผนออกสินค้าใหม่ไม่ต่ำกว่า 20 SKUs ซึ่งหนึ่งในสินค้าใหม่นี้จะมีสินค้าแบรนด์ All Coco ที่เพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลีกจากเดิม 2,000 จุด เป็น 8,000 จุด
โดยการออกสินค้าใหม่นั้น บริษัทจะเน้นการนำวัตถุดิบท้องถิ่นทางธรรมชาติมาใช้เพิ่มขึ้น รวมถึงการร่วมมือกับผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็กในท้องถิ่น พัฒนาและต่อยอดวัตถุดิบท้องถิ่นมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ
นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ (Resize) เพื่อให้เหมาะกับการจำหน่ายในระดับท้องถิ่นอีกด้วย
ขณะที่ความคืบหน้าของธุรกิจกัญชง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งบริษัทได้คิดค้นและพัฒนาสูตรสินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว โดยรอความชัดเจนทางด้านกฎหมายต่างๆ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์