×

‘สาปซ่อนรัก’ ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่มาพร้อมการ ‘เล่นใหญ่’ จนล้นจอ

23.09.2022
  • LOADING...
สาปซ่อนรัก

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ข้อดีของ สาปซ่อนรัก คือการเล่าเรื่องที่ค่อยๆ ค้นลึกไปถึงภูมิหลังของตัวละครแต่ละตัว ทำให้เนื้อหาน่าติดตาม รวมทั้งปูความสัมพันธ์ของทายาทรุ่นเล็กว่ารักและผูกพันกันได้อย่างไรและจะพัฒนาไปในทิศทางไหน
  • แต่จุดบกพร่องคือเหตุผลรองรับพฤติกรรมเหล่านั้นที่ยังขาดน้ำหนักในหลายๆ ตอน
  • และที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้คือการแสดงระดับ 10 10 10 ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ไม่ใช่การให้คะแนน แต่หมายถึงการพุ่งจาก 0 แล้วไป 10 เลย จนบางครั้งมันมีแต่อารมณ์รุนแรง แต่ไร้ความรู้สึก โดยเฉพาะเมื่อหงษ์คือตัวดำเนินเรื่องสำคัญ

สาปซ่อนรัก เป็นอีกหนึ่งละครดราม่าที่คอละครสายแซ่บตั้งตารอ เพราะนี่คือการปะทะกันระหว่างสองนักแสดงเบอร์ใหญ่ ใหม่ เจริญปุระ และ แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช กับเรื่องราวพินัยกรรมอำมหิตที่ยังวนเวียนกับ ‘ตลาด’ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจจากคดีดังในอดีต

 

สาปซ่อนรัก เล่าเรื่องของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชา เจ้าของธุรกิจกงสีตลาดยินดีมูลค่านับพันล้านบาท โดยเบื้องหลังความสำเร็จเกิดจาก เจ้าสัวพธู (สุรจิต บุญญานนท์) ลูกชายคนเล็กของตระกูล และ หงษ์ (สะกดแบบนี้ถูกแล้วตามในเรื่อง) (ใหม่ เจริญปุระ) ภรรยาผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเหล่าพี่น้องของสามีอยู่เสมอ โดยเฉพาะ ภัทรา (แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช) น้องสาวคนโต นักการเมืองเมืองท้องถิ่นชื่อดัง แต่ล้มเหลวในการทำธุรกิจ

 

สาปซ่อนรัก

สาปซ่อนรัก

 

เจ้าสัวพธูและหงษ์เคยมีลูกชาย แต่ตายไปตั้งแต่ยังเล็ก จึงรับเอา หนูหนิง (ณิชา-ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) มาเป็นลูกบุญธรรม มีข่าวร่ำลือว่าตระกูลนี้ต้องคำสาปให้เหลือเพียงผู้หญิงและแม่ม่ายที่ดูเหมือนจะกลายเป็นจริงเมื่อ เจ้าสัวพธู ลูกชายคนสุดท้ายของตระกูล ตกตึกตายอย่างมีเงื่อนงำ ซึ่งเมื่อเปิดพินัยกรรมออกมาก็ปรากฏชื่อของ ซัน (กระทิง-ขุนณรงค์ ประเทศรัตน์) เด็กรับใช้ในบ้านที่หงษ์ชังน้ำหน้าและถูกกดขี่ข่มแหงมาตลอด เพราะความจริงแล้วเขาคือลูกนอกสมรสของเจ้าสัวพธู หงษ์พยายามกีดกันซันออกจากกองมรดก ในขณะที่ซันก็ค่อยๆ ค้นพบความชั่วร้ายของหงษ์และเริ่มลุกขึ้นสู้ แต่ก็ยังมีความเกรงใจด้วยสัมพันธ์รักที่มีต่อหนูหนิง

 

เรื่องราวการแย่งชิงสมบัติดำเนินต่อไปพร้อมกับความตายของสมาชิกผู้ชายในบ้าน เรื่องราวของคำสาปจะเป็นจริงหรือไม่ หรือใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด ต้องไปติดตามกันต่อใน สาปซ่อนรัก

 

สาปซ่อนรัก

สาปซ่อนรัก

 

ข้อดีของ สาปซ่อนรัก คือการเล่าเรื่องที่ค่อยๆ ค้นลึกไปถึงภูมิหลังของตัวละครแต่ละตัว ทำให้เนื้อหาน่าติดตาม รวมทั้งปูความสัมพันธ์ของทายาทรุ่นเล็กว่ารักและผูกพันกันได้อย่างไรและจะพัฒนาไปในทิศทางไหน หลังจากที่มีเรื่องสมบัติเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง และที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์คือการเฉลยว่าเหตุฆาตกรรมหลายๆ ครั้งในเรื่อง ตัวละครที่อยู่เบื้องหลังคือใคร นั่นหมายความว่ายังมีเรื่องพีคกว่านี้รออยู่ข้างหน้า

 

สาปซ่อนรัก

 

แต่จุดบกพร่องคือเหตุผลรองรับพฤติกรรมเหล่านั้นที่ยังขาดน้ำหนักในหลายๆ ตอน อย่างเช่น ตัวละครหงษ์ผู้ลงมือวางยาพิษสามี ด้วยข้อหาว่ามีหญิงอื่นจนมีลูกชายด้วยกัน ทั้งที่เรื่องราวผ่านมาหลายปีแล้ว ทำไมถึงมาผูกใจเจ็บเอาตอนนี้ หรือการสั่งฆ่าแม่ของซัน ทั้งที่คนที่เธอควรแค้นฝังหุ่นน่าจะเป็นภัทรามากกว่า เพราะอยู่ในเหตุการณ์ที่ลูกของเธอจมน้ำตาย แต่ไม่คิดที่จะเข้าไปช่วย

 

ในขณะที่ภัทราถ้าจะสูญสิ้นความเป็นคนขนาดไม่คิดช่วยหลานชายตัวเอง ก็น่าจะมีเหตุผลมารองรับสักหน่อย หากจะเกิดจากความโลภก็ควรจะปูพื้นฐานของบ้านยินดีพงษ์ปรีชาว่าเลี้ยงดูกันมาอย่างไร ทำไมสมาชิกในตระกูลถึงกระหายสมบัติจนเหมือนเป็นหลักชัยอย่างเดียวของชีวิตขนาดนี้

 

สาปซ่อนรัก

สาปซ่อนรัก

 

และที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้คือการแสดงระดับ 10 10 10 ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ไม่ใช่การให้คะแนน แต่หมายถึงการพุ่งจาก 0 แล้วไป 10 เลย จนบางครั้งมันมีแต่อารมณ์รุนแรง แต่ไร้ความรู้สึก โดยเฉพาะเมื่อหงษ์คือตัวดำเนินเรื่องสำคัญ มีหลายฉากที่ผู้เขียนค่อนข้างสะดุด อย่างเช่น ฉากที่หงษ์ต้องปลอบใจหนูหนิงเรื่องพ่อเสียชีวิต ใบหน้าของเธอดูนิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่มันควรจะแสดงถึงความรักและเกลียดชังแบบเดียวกับในฉากที่เธอพูดหน้ารูปถ่ายของสามี รวมถึงความรู้สึกพลิกกลับจากเกรี้ยวกราดกลายเป็นอ่อนละมุนเมื่อคุยกับลูกแบบทันทีทันใด ก็ดูไม่มีความต่อเนื่องสักเท่าไร

 

ยิ่งฉากเวลาที่หงษ์ต้องเจอกับซัน ถึงจะดูเต็มไปด้วยความเกลียดชังก็จริงอยู่ แต่มันก็มาแบบพุ่งปรี๊ด จัดเต็ม ไม่มีลำดับขั้นของอารมณ์ ผนวกกับการแสดงที่ใหญ่และรุนแรง บ่อยครั้งที่นักแสดงไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวและน้ำเสียงของตัวเองได้ ถ้าจะบอกว่านี่คือความสมจริง ก็ควรอยู่ในกรอบของการแสดงที่เป็นเครื่องมือสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ถ้ารุนแรงถึงขั้นฟังไม่รู้เรื่องหรือถอดความหมายไม่ได้ ก็แปลว่าการสื่อสารนั้นล้มเหลว

 

สาปซ่อนรัก

 

จากความเข้าใจ ตัวละคร ‘หงษ์’ น่าจะเป็นเศรษฐีใหม่ทรงซ้อที่มีพื้นฐานอารมณ์เกรี้ยวกราดอยู่แล้ว และพัฒนาสู่อาการทางจิต คุ้มดีคุ้มร้าย เพราะสะสมความเครียดมาตั้งแต่สมัยสาวๆ บ่อยครั้งที่เธอปรี๊ดแตกกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง และส่วนใหญ่แสดงอารมณ์ในระดับเลข 10 เท่าๆ กัน จนนึกภาพไม่ออกว่าเมื่อเนื้อเรื่องพัฒนาจนเข้มข้นกว่านี้ การแสดงจะ ‘เล่นใหญ่’ ทะลุจอไปถึงระดับไหนได้อีก

 

ความจริงผู้เขียนเห็นถึงความตั้งใจของ ใหม่ เจริญปุระ เพียงแต่ว่าการแสดงที่ออกมาทางอารมณ์และกายภาพชัดเจนแบบนี้อาจใช้ได้ในยุคสมัยหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมันท่วมท้น เอ่อล้นเกินพอดีจริงๆ จนมีหลายๆ เสียงบ่นว่าละครเรื่องนี้เครียด ดูแล้วอึดอัด 

 

สำหรับการเล่นใหญ่และดูลงตัว ผู้เขียนย้อนนึกไปถึงบท ย่าแย้ม ของ รัดเกล้า อามระดิษ ใน สุดแค้นแสนรัก ที่มีคาแรกเตอร์รักแรงเกลียดแรงใกล้เคียงกับหงษ์ แต่ครั้งนั้นการดีไซน์ตัวละครและการผ่อนอารมณ์ลื่นไหลกว่ามาก จึงทำให้คนดูรู้สึกสนุกกับตัวละครได้มากกว่า

 

อย่างไรก็ดี ละครก็ยังมีช่วงผ่อนคลายด้วยตัวละครที่มีความตลกขบขัน อย่างเช่น เหล่าพ่อค้าแม่ขายในตลาด สลับกับเรื่องราวความรักของหนูหนิงและซัน แต่มันก็อาจจะยังไม่เพียงพอให้ละครกลมกล่อมเท่าที่ควร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X