วันนี้ (13 มีนาคม) ช่างภาพข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจเสาชิงช้า เขตพระนคร หลังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศแผนซ่อมแซมและบูรณะ ‘เสาชิงช้า’ เพื่อเสริมความแข็งแรงและคงไว้ซึ่งคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโบราณสถานสำคัญแห่งนี้ หลังจากมีการตรวจสอบพบว่าตัวเสามีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา
เสาชิงช้าเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 188 ฉบับพิเศษ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 โดยกรมศิลปากรพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า เนื่องจากเสาชิงช้าอยู่ในสภาพชำรุดเสียหายค่อนข้างมาก ควรต้องได้รับการซ่อมแซมโดยเร่งด่วน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 จึงอนุญาตให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองดำเนินการซ่อมแซมโบราณสถานเสาชิงช้า โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังนี้
- การซ่อมแซมไม้ส่วนที่ชำรุด ควรซ่อมปรับปรุง (อุด ปะ) และซ่อมเปลี่ยน (ตัดต่อ) ด้วยไม้ชนิดเดียวกับไม้เดิมตามสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง กาวหรือวัสดุเติมเนื้อไม้ควรใช้ชนิดสำหรับซ่อมไม้โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นของวัสดุใกล้เคียงกับเนื้อไม้
- การต่อชิ้นไม้ด้วยโลหะหรือวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ไม้ ควรใช้ชนิดไร้สนิมที่มีการยืดหดขยายตัวของวัสดุต่ำ หรือยืดหดขยายตัวใกล้เคียงกับไม้ เพื่อลดการชำรุดของไม้บริเวณรอยต่อในอนาคต
- การเสริมกำลังหรือความมั่นคงด้วยวัสดุสมัยใหม่ ควรต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาเชิงวิศวกรรมที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนก่อนกำหนดใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสริมความมั่นคงโดยไม่จำเป็น
- การตกแต่งผิวไม้ ควรหลีกเลี่ยงวัสดุตกแต่งผิวที่มีความทึบน้ำสูง เพื่อยอมให้ความชื้นที่สะสมในเนื้อไม้สามารถระบายออกได้โดยสะดวก ทั้งนี้ วัสดุตกแต่งผิวที่มีความทึบน้ำสูงจะส่งผลต่อการผุชำรุดของไม้โดยตรง
- ดำเนินการสำรวจพร้อมจัดทำแบบสภาพปัจจุบันและความเสียหายที่เกิดขึ้นในองค์ประกอบแต่ละส่วนของเสาชิงช้า โดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อนำมากำหนดวัสดุ เทคนิคและวิธีการซ่อมแซมให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงควรทำการวิเคราะห์วิธีการซ่อมแซมที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเดิม พร้อมส่งให้กรมศิลปากรพิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ครั้งล่าสุดที่กรมศิลปากรร่วมกับ กทม. บูรณะ เสาชิงช้า คือเมื่อเดือนธันวาคม 2560
อ้างอิง: เอ็นบีที คอนเนค สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย