วันนี้ (29 มีนาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุอาคารถล่ม ณ โครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 2
คณะได้มีการพูดคุยประเมินสถานการณ์ ก่อนที่ชัชชาติจะให้สัมภาษณ์ว่า การขนย้ายเศษซากเครนที่พังลงมาทับตัวอาคารเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้รับเหมาที่ต้องดำเนินการ โดย กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยดูแล และจะมีการบูรณาการร่วมกันจาก กทม., การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และวิศวกรรมสถาน เป็นคณะทำงานเพื่อช่วยให้คำแนะนำ ระยะเวลาจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการเปิดทางด่วนขึ้น-ลงช่วงดินแดงคาดว่าใช้เวลากี่วัน ชัชชาติ ระบุว่า ขอให้รอเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจชิ้นส่วนเครนที่ติดอยู่กับอาคารก่อน คาดว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการจัดการ ภายใน 2 วันน่าจะแล้วเสร็จ แต่หากมีอุปสรรคก็จะใช้เวลานานขึ้น และมองว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นจะทำให้ต้องซ่อมแซมทางด่วนอีกมาก และย้ำว่าต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
ด้านอนุทิน กล่าวว่า กรณีอาคาร สตง.ที่ถล่มเป็นอาคารของทางราชการ ไม่ควรโทษ กทม. เพราะอาคารของราชการไม่ต้องอนุญาต กทม.ในการก่อสร้าง มีแต่การแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น เพราะการออกแบบก่อสร้างมีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว
ที่จะต้องไปสืบหาข้อเท็จจริงว่าวิธีการก่อสร้างถูกต้องตามแบบแปลนโครงการหรือไม่ และสืบหาข้อเท็จจริงถึงเหตุผลที่อาคารถล่มทั้งๆ ที่เป็นอาคารก่อสร้างใหม่ เมื่อเทียบกับอาคารเก่า 30-40 ปีไม่มีความเสียหายเลย ส่วนนี้ต้องเข้าไปดูวิธีการก่อสร้าง
“อย่าเพิ่งไปกดดัน กทม. อันนี้ต้องขอความเป็นธรรม” อนุทินกล่าว
อนุทิน กล่าวต่อว่า ทางกระทรวงมหาดไทยได้ประสานไปยังกรมบัญชีกลางขอเพิ่มงบประมาณมาทดรองจ่ายในยามฉุกเฉินวงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งอธิบดีกรมบัญชีกลางยืนยันมาว่าจะเร่งอนุมัติงบประมาณส่วนนี้
ส่วนปฏิบัติการ ณ วันนี้ เน้นทั้งการกู้ซากและกู้ชีวิต โดยเน้นการค้นหาผู้รอดชีวิตเป็นอันดับแรก แต่หากไม่ทำการกู้ซากก็จะเข้าไม่ถึงตัวผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร เนื่องจากอาคารมีความสูง 30 ชั้น เกิดถล่มลงมาเหลืออยู่ 5 ชั้น นั่นหมายถึงอาคารยุบตัวลึกลงไปใต้พื้นดินมาก ประกอบกับมีซากปรักหักพังขวางกั้นการเข้าช่วยเหลือ
สำหรับผู้รอดชีวิต 15 คน ได้มีทีมกู้ภัยจากเออซ่า เป็นทีมที่มีประสบการณ์การกู้ภัยอาคารถล่ม ช่วยดูข้อมูลผ่านอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณชีพ และทีมสภาวิศวกร ร่วมทำภารกิจให้การช่วยเหลือ แต่ต้องประเมินความปลอดภัยตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตราย ซึ่งเป็นการทำงานแข่งกับเวลา พอเครื่องสแกนสัญญาณชีพพบจุดไหนก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปค้นหา แต่อุปสรรคคือสิ่งกีดขวางใต้อาคารที่มีจำนวนมาก
ขณะนี้พยายามใช้เครื่องจักรหนักเปิดทางเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ซึ่งยังไม่สามารถส่งนักกู้ภัยเข้าไประหว่างเครื่องจักรหนักทำงานได้ เพราะไม่ปลอดภัย ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของการทำงาน ไม่ล่าช้า เพราะกำลังพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้
ยอมรับว่าขณะนี้ ครบ 24 ชั่วโมงแล้ว กังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้รอดชีวิต แต่ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างให้เร็วที่สุด สำหรับสัญญาณชีพที่ตรวจพบ 15 คน เจ้าหน้าที่ได้ใช้อุปกรณ์เป่าลมเข้าไปตามช่องและซอกของซากตึกถล่ม เพื่อนำอากาศเข้าไปใต้ซากอาคารให้ได้มากที่สุด
ส่วนสาเหตุของการถล่มของอาคาร สตง. แห่งใหม่ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายใน 7 วัน เพื่อดูว่าวิธีการก่อสร้างเป็นอย่างไร เพราะอะไรถึงเป็นอาคารแห่งเดียวที่เกิดถล่ม ซึ่งจำเป็นจะต้องสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
เมื่อถามอีกว่า ความยากที่สุดของการจัดการคืออะไร ชัชชาติ กล่าวว่า ชิ้นส่วนเครนไม่เสถียร ต้องมีการวางแผ
นกันอย่างรอบคอบเพราะไม่รู้ว่าจุดที่ยึดกับตึกยึดด้วยอะไร และเครนเป็นอุปกรณ์ก่อสร้างชั่วคราวไม่แข็งแรง หากเกิดแผ่นดินไหวก็เป็นไปได้ที่จะหัก
นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีได้ประชุมสั่งการให้ กทม. ดำเนินการ 6 ข้อ คือ
- จัดการดำเนินงานศูนย์บัญชาการส่วนหน้าที่จตุจักร
- เรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะกับต่างประเทศ
- เรื่องการตรวจสอบอาคาร โดยเฉพาะอาคารขนาดสูง และขนาดใหญ่ โดยจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ด้วยตัวเอง
- เรื่องการเยียวยาผู้เสียหายตามกฎหมาย
- เรื่องการตรวจสอบอาคารที่ถล่ม
- การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิสราเอล ในการส่งเครื่องตรวจเอ็กซเรย์ผู้บาดเจ็บที่ติดค้างอยู่ในจุดเกิดเหตุ เบื้องต้นเครื่องจะมาถึงคืนนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศยื่นมือเข้ามาช่วย