ยังคงเกาะติดกันต่อเนื่องสำหรับเหตุการณ์ ตึก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม บทความนี้ทีมข่าว THE STANDARD จะพาไปแกะรอยต้นตอของการถล่มที่แท้จริง
4 ปัจจัยทำตึก สตง. ถล่ม
ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผย 4 ปัจจัยที่ทำให้ตึก สตง. ถล่ม ได้แก่ 1. การออกแบบของอาคาร 2. การควบคุมการก่อสร้าง 3. วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และ 4. แรงสั่นสะเทือนที่กระทำต่อตัวอาคาร
ต้นตอการถล่มมาจากจุดไหน?
สิ่งที่เราสามารถบอกได้จากการดูวิดีโอที่บันทึกภาพวินาทีตึก สตง. ถล่ม คือตัวอาคารนั้นถล่มลงมาอย่างรุนแรงและฉับพลัน
แต่จากการตรวจดูอย่างรอบด้าน ศ. ดร.อมร บอกว่า จุดตั้งต้นของการถล่มของตึก สตง. อยู่ที่บริเวณ ‘ปล่องลิฟต์’ และด้านหลังตัวอาคาร จากนั้นจึงทำให้เสาด้านบน และเสาด้านล่างระเบิด จนนำมาสู่การยุบตัวของอาคาร หรือที่เรียกว่า Free Fall
ปล่องลิฟต์ = กระดูกสันหลังอาคาร
ดังนั้นประเด็นสำคัญที่อาจนำไปสู่การไขปริศนาการถล่มของตึก สตง. อยู่ที่ ‘ปล่องลิฟต์’ เนื่องจากปล่องลิฟต์ถือว่าเป็น Core ของตัวอาคาร ถ้าเปรียบเป็นคนก็เหมือนกับกระดูกสันหลัง
โดยถ้าย้อนดูเหตุการณ์ตึกถล่มที่ผ่านๆ มา เช่น
- 13 สิงหาคม 2536: เหตุตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ถล่ม โดยมีสาเหตุมาจากฐานเสาคอนกรีตเสริมเหล็กเดิม ไม่สามารถรองรับน้ำหนักการต่อเติมได้ เมื่อมีแรงกดดันมาก จึงทำให้อาคารถล่ม
- 11 สิงหาคม 2557: เหตุอาคารคอนโดมิเนียม 6 ชั้น ที่กำลังก่อสร้างย่านคลองหก จังหวัดปทุมธานี เกิดพังถล่มลงมา
แต่ยังเหลือปล่องลิฟต์ ดังนั้นกรณีของตึก สตง. จึงกลายเป็นคำถามใหญ่ที่ถามกันในหมู่วิศวกรว่า ‘ปล่องลิฟต์’ ที่ควรจะเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุด หรือถ้าพังควรจะพังเป็นลำดับสุดท้าย แต่กลับเป็นจุดแรกที่พังถล่มแล้วฉุดส่วนที่เหลือของตึกพังลงมา จึงต้องมีการตรวจพิสูจน์ในทางวิศวกรรมว่ามีการคำนวณความหนาของปล่องลิฟต์ตรงตามมาตรฐานหรือไม่
ความลับชั้น 19
ในขณะเดียวกันทางเพจ 3117 BIM Management ได้โพสต์ภาพแบบก่อสร้างตึก สตง. โดยบอกว่าเป็นแบบ As-built Drawing โดยระบุว่า
“ชั้น 1-19 เป็นระบบผนัง Shear Wall และมาเปลี่ยนระบบโครงสร้างเป็นเสา 1.20 x 1.20 เมตร ตั้งแต่หลังพื้นชั้น 19-29 มีการลดเสาเหลี่ยมเป็นเสากลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 เมตร ที่ชั้น 29 จนถึงชั้นสูงสุด
ทำให้พื้นตั้งแต่ชั้น 19 ถึงชั้นบนสุดยุบลงมาก่อน เสารอบนอกอาคารตั้งแต่ชั้น 19 ถึงชั้นบนสุด เอียงเข้าหาแกนกลางอาคาร พื้นชั้นบนสุดยุบตัวเป็นแอ่งกระทะ ซึ่งกลางอาคารมีเสากลม 0.80 เมตร รับพื้นกลางอาคารอยู่ 2 ต้น”
พื้นไร้คาน-เสา-วัสดุก่อสร้าง
ซึ่ง ศ. ดร.อมร กล่าวว่า เสากับพื้นไร้คานเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องมีการตรวจพิสูจน์
- พื้นไร้คานเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการตั้งข้อสังเกต แต่อย่างไรก็ตาม ศ. ดร.อมร ชี้ให้เห็นว่า บริเวณหัวเสามีการเพิ่มความหนาของพื้นโดยการเสริมแป้นที่หัวเสาและจุดนี้ไม่ได้เป็นจุดที่ถล่มลงมาเป็นจุดแรก จึงยังเป็นการตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน
โดย ศ. ดร.อมร เปิดเผยว่า หากได้ข้อมูลครบถ้วน คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน ในการหาสาเหตุที่แท้จริงของการถล่ม แต่ตอนนี้ติดปัญหาที่ยังไม่มีแบบการก่อสร้างจริง บันทึกการก่อสร้าง รายงานการคำนวณ ขาดผลการทดสอบคอนกรีต และตัวต่อเหล็ก ซึ่งวัสดุการก่อสร้างเป็นปัจจัยที่น่าจะมีการพิสูจน์ได้รวดเร็วมากที่สุด อาทิเช่น คอนกรีต ซึ่งเป็นข้อสงสัยหลักๆ ว่า คุณภาพคอนกรีตได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งสเปกคอนกรีตที่กำหนดไว้คือคอนกรีตกำลังสูง 500 ksc
รวมไปถึงข้อต่อเหล็ก เนื่องจากเหล็กยังมี มอก. แต่ตัวข้อต่อเหล็กยังไม่มี มอก. กำหนดไว้ ดังนั้นต่อให้เหล็กแข็งแรงแต่ข้อต่อเหล็กไม่แข็งแรงก็อาจทำให้ตึกพังทลายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นควรจะมีการพิสูจน์วัสดุให้รอบด้าน
ศ. ดร.อมร กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีตึก สตง. เป็นการถล่มในสภาวะที่ไม่ปกติ เพราะมีเหตุแผ่นดินไหว รวมไปถึงเครนด้านบนที่มีการโยกตัว ซึ่งจะต้องดูควบคู่อีกด้วยว่าเครนมีการสร้างแรงเหวี่ยงหรือแรงกระทำอะไรหรือไม่ โดยจากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจึงทำให้การพิสูจน์หาสาเหตุการถล่มของตึก สตง. ซับซ้อนมาก
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (8 เมษายน) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ 4 สถาบันการศึกษา และกรมโยธาธิการและผังเมือง ทำโมเดลที่จำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 90 วัน เพื่อให้ได้สาเหตุที่แท้จริงของการถล่ม