วันนี้ (10 กันยายน) สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ผมรู้จัก’ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว
โดยระบุว่า ย้อนไปประมาณ พ.ศ. 2535 สมัยยังทำงานอยู่ที่บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ นครหลวงเครดิต จำกัด และได้พบสมคิดครั้งแรกในตอนที่ผมดูแลฝ่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัท กำลังเร่งงานระบบคอมพิวเตอร์ที่สาขาเชียงใหม่ เพื่อให้ทันการเปิดบริการ ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ได้พาสมคิดไปดูงานในฐานะที่ปรึกษาของบริษัท ซึ่งผมก็เห็นเพียงผู้ใหญ่ 2 คน แน่นอนครับว่าสมคิดก็จำผมที่เป็นพนักงานตัวเล็กๆ ไม่ได้แน่นอน
หลังจากนั้นอีก 2 ปี ผมตัดสินใจสมัครเข้าเรียนปริญญาเอกในโครงการ JDBA (Joint Doctoral program in Business Administration) ซึ่งเป็นโครงการนานาชาติ (International Program) ร่วมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) อันนับได้ว่าเป็นหลักสูตรปริญญาเอกในประเทศไทยหลักสูตรแรก และที่ต้องร่วมกัน 3 สถาบัน เพราะยังมีอาจารย์ในระดับปริญญาเอกของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอ
“ในรอบการสัมภาษณ์เข้าเรียนนั้น ผมนอนป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอยู่ที่โรงพยาบาล ในวันสัมภาษณ์จึงต้องขออนุญาตคุณหมอออกจากโรงพยาบาลมา 3 ชั่วโมงเพื่อมาสัมภาษณ์เข้าเรียน วันนั้นมีสมคิด (NIDA) อาจารย์กุณฑลี (จุฬาฯ ปัจจุบันคือ ศ.กิตติคุณ ดร.กุณฑลี รื่นรมย์) และ อาจารย์พิพัฒน์ (ธรรมศาสตร์) เป็นผู้สัมภาษณ์ และกรรมการทั้ง 3 ท่าน คงเห็นความตั้งใจจริงของผม จึงรับผมเข้าเรียนในหลักสูตรและให้ทุน CIDA (Canadian International Development Agency) ซึ่งเป็น Merit Grant เรียนจนจบหลักสูตร ในสาขาวิชาการเงินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่นเป็นครั้งที่ 2 ที่ผมได้พบกับสมคิด อีกครั้งหนึ่ง แน่นอนครับ อาจารย์ก็จำผมไม่ได้แน่นอน” ข้อความส่วนหนึ่งในเฟซบุ๊กระบุ
ทั้งนี้ระหว่างเรียนปริญญาเอกได้พบกับอุตตมโดยบังเอิญ ขณะที่กำลังอ่านเรื่อง CAPM (Capital Asset Pricing Model) ด้วยความไม่เข้าใจ เพราะเป็นการอ่านงานวิจัยครั้งแรกในชีวิต ซึ่งอุตตมเพิ่งจบปริญญาเอก ด้านการเงิน กลับมาเมืองไทย ได้ชี้ประเด็นแหลมคมใน CAPM ให้ผมได้เห็น ทำให้เข้าใจมาจนถึงทุกวันนี้ และได้ใช้วิชาความรู้ด้านการเงินสอนหนังสือในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลังจากที่เรียนจบปริญญาเอก
จากนั้นทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้เติบโตขึ้นมาจนถึงระดับรองผู้จัดการ ดูแลสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ และสายงานผู้ลงทุน (2 สายงานพร้อมกัน) ในช่วงนั้น สมคิดเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลเศรษฐกิจ ก็ได้มีโอกาสพบกับสมคิดอีกหลายครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองานของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือจัดงาน Thailand Focus แล้ว สมคิดก็จะต้องมาเปิดงานปาฐกถาให้นักลงทุนที่มาจากทั่วโลกสร้างความมั่นใจในการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทย ฯลฯ มีหลายครั้งที่สมคิดเรียกผมใช้งานต่างๆ ในฐานะของรองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ
แต่งานหนึ่งที่ทำให้ใกล้ชิดสมคิดมากขึ้นคือ ช่วงที่ตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นมีปัญหา มีตราสารหนี้ระยะสั้นจำนวนไม่น้อยที่จะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ สมคิดได้เรียกผมเข้าไปพบที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เวลา 07.00 น. หลายวัน หลายครั้ง เพื่อนำข้อมูลไปเสนอ แล้วก็สั่งการแก้ไขต่างๆ จนทำให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนั้นไปได้ เป็นช่วงเวลาที่ทำหน้าที่รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น
ได้เห็นความมุ่งมั่นในการทำงาน ความรู้ลึก รู้จริงในระบบเศรษฐกิจไทยของสมคิด และเมื่อย้อนกลับไปดูงานต่างๆ ที่อาจารย์ได้ทำในด้านเศรษฐกิจ ก็ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าอาจารย์มุ่งมั่นในการทำงานโดยไม่ได้สนใจว่าขั้วการเมืองจะเป็นอย่างไร ขอเพียงให้ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาที่ดีขึ้น สมคิดก็พร้อมที่จะเสียสละทั้งแรงกายแรงใจเพื่อใช้โอกาสนั้นพัฒนาประเทศไทย
แน่นอนครับว่าความไม่สนใจขั้วการเมืองของอาจารย์จึงสร้างความไม่เข้าใจให้คนจำนวนไม่น้อยที่คิดเรื่องแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยไม่มองไปที่เนื้อหาสาระของการทำงานเป็นหลัก และกลายเป็นเรื่องกล่าวหาโจมตีอาจารย์ ทั้งที่ไม่ทราบความจริงเบื้องหลัง
“หลังจากที่ผมลาออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะแพ้การสรรหาเป็นผู้จัดการ ผมก็ตั้งใจว่าจะเลิกทำงาน และใช้ชีวิตเงียบๆ ทำสิ่งที่อยากจะทำต่อไป แต่แล้วก็แปลกใจ เพราะสมคิดเรียกผมเข้าไปหาที่ทำเนียบฯ อีกครั้งหนึ่ง แล้วถามว่าจะทำอะไรต่อไปหลังจากออกจากตลาดฯ ผมก็เรียนความตั้งใจไปว่าจะเลิกทำงานแล้ว ก็ถูกอาจารย์ดุว่า อายุยังน้อย จะเลิกทำงานได้อย่างไร (ตอนนั้นผมอายุ 56 ปี) โดยอาจารย์บอกว่าอาจารย์อายุมากกว่าผมยังทำงานอยู่ เพราะประเทศยังจำเป็นต้องมีคนช่วยกันทำงาน”
“ในที่สุด ผมก็ได้มาพบกับอุตตมที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อุตตม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น) และเสนอ ครม. แต่งตั้งผมเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม (ผลงานสำคัญของผมขณะนั้นคือ การตั้ง InnoSpace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการสนับสนุนสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นได้ โดยผมไม่ได้ใช้เงินราชการ แต่เดินสายขอทุนจากภาคเอกชนเพื่อมาจัดตั้งให้เกิดเป็น Incubator และทำหน้าที่ CVC ไปพร้อมกัน) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผมก้าวเข้ามาในวงการบริหารราชการแผ่นดิน หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสร่วมเป็นกลุ่มคนที่ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ และเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดแรก
ด้วยความอ่อนหัดทางการเมือง บวกกับความตั้งใจในการทำงานอย่างจริงจัง ผมร่วมงานกับอาจารย์สุวิทย์ในการพัฒนานโยบายสำคัญหลายเรื่อง โดยหวังว่าจะเป็นนโยบายที่สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และร่วมไปกับอาจารย์สุวิทย์เพื่อเดินสายหาเสียงในต่างจังหวัดทุกวันอย่างเข้มข้นช่วงของการเลือกตั้ง แต่น่าเสียดายว่านโยบายดีๆ เหล่านั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ แต่กลับมีกลุ่มคนที่นำเสนอนโยบายแปลกๆ ที่ไม่สร้างความเจริญเข้ามาแทนที่ นับเป็นการเรียนรู้ทางการเมืองอย่างสำคัญของผมว่าอะไรเป็นอะไร
“จำได้ว่าตอนที่กรรมการบริหาร พปชร. มีมติให้เสนอ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น ก็มีมติให้เสนออาจารย์สมคิดและอาจารย์อุตตมเป็นแคนดิเดตนายกฯ รวมเป็น 3 ชื่อ แต่หลังจากนั้นก็มีอำนาจลึกลับให้กรรมการบริหารเปลี่ยนมติใหม่ให้เสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เพียงชื่อเดียวเท่านั้น และนั่นก็เป็นบทเรียนสำคัญทางการเมืองอีกบทหนึ่งของผม
“ผมได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 สังกัด พปชร. โดยเป็นสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อ และได้เรียนบทเรียนทางการเมืองอีกมากมาย แม้จะเป็น ส.ส. เหมือนกับ ส.ส. เขต แต่การได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างในพรรคก็เป็นอีกบทเรียนสำคัญทางการเมืองของผมอีกเช่นกัน
“เพียงแต่ผมใช้เวลาของการเป็น ส.ส. นั้นทุ่มเทการทำงานในหน้าที่นิติบัญญัติ เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในงานสภา งานในคณะกรรมาธิการฯ ทั้งสามัญและวิสามัญหลายคณะ ซึ่งก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ผมได้ทำหน้าที่โดยใช้พื้นฐานทางวิชาการที่มีติดตัว เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แก้ไขกฎหมายทางเศรษฐกิจและธุรกิจหลายฉบับ ได้ทำหน้าที่เลขานุการ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหลายครั้ง จนทำให้เข้าใจในกระบวนการสำคัญๆ ติดตัวมา ซึ่งก็แตกต่างจาก ส.ส. หลายคนที่ไม่ได้ตั้งใจในการทำงานอย่างที่ผมตั้งใจ น่าเสียดายที่ไม่ใช้เวลาที่มีค่านั้นในการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ที่มีโอกาสยากที่จะได้เรียนรู้ และทำหน้าที่ของตนเองอย่างตรงไปตรงมา
“มาถึงวันหนึ่งที่อุตตม (หลังจากถูกพิษทางการเมือง ออกจาก พปชร. และการเป็นรัฐมนตรี) เรียกผมไปคุยด้วย และบอกว่าจะตั้งพรรคการเมือง เพื่อทำงานการเมืองโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศเป็นหลักให้เกิดขึ้นได้จริงๆ พร้อมกับถามว่าสนใจจะมาร่วมงานกันไหม ผมมีคำถามที่ถามไปในขณะนั้นว่าไม่อิงขั้วอำนาจเก่าที่ไล่เราออกมาใช่ไหม ก็ได้รับคำตอบว่าใช่ และอีกคำถามหนึ่งคือ ถ้าถึงเวลาจะเสนอสมคิดเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก็ได้รับตอบว่าแน่นอน
“2 คำถามกับ 2 คำตอบนั้น เป็นจุดตัดสินใจให้ผมลาออกจาก พปชร. และสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. โดยผมไม่มีความลังเล เพราะผมเชื่อมั่นในแนวทางการใช้น้ำดีเจือจางน้ำเน่า และมั่นใจว่าในที่สุดจะมีน้ำดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้น้ำเน่าหมดไปในที่สุด แม้ผลสำเร็จดังกล่าวอาจจะไม่เห็นในช่วงที่ผมยังมีแรงทำงาน หรือไม่เห็นในช่วงชีวิตของผม แต่ถ้าไม่เริ่ม ก็คงไม่สามารถจะเริ่มสิ่งดีๆ ได้ Tomorrow is Now
“จะเห็นได้ว่า อาจารย์สมคิดที่ผมรู้จักนั้น ผมไม่ได้เคารพนับถืออาจารย์เพราะความสัมพันธ์อะไรกับอาจารย์เลย อาจารย์ไม่เคยสอนหนังสือผม อาจารย์ไม่เคยเอื้อประโยชน์อะไรให้ผม มีแต่ใช้ผมทำงาน ผมไม่ใช่คนสนิทใกล้ชิดกับอาจารย์ แม้จนทุกวันนี้ก็ไม่ใช่คนที่อาจารย์จะนึกถึงหรือรู้จัก เพียงแต่ผมเห็นความทุ่มเท ความจริงใจในการทำงานของอาจารย์เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
“ยอมเหนื่อยทั้งกายและใจ ยอมถูกด่า และอีกสารพัด เพียงเพื่อประโยชน์ของประเทศ ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว หากอาจารย์จะใช้ความรู้ ความสามารถ การได้รับการยอมรับในระดับสากล ทัศนคติ ความคิดที่ใหม่เสมอ ไม่ได้แก่ไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่อายุที่เพิ่มขึ้นนั้นกลับกลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้อาจารย์มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ซึ่งคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวของอาจารย์ทั้งหมดนี้ หากอาจารย์จะใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ของตัวเองก็คงได้เห็นสมคิดที่ร่ำรวย (เหมือนกับคนที่มีชื่อเสียงระดับอาจารย์หลายคนรุ่นราวคราวเดียวกัน) แต่ในความเป็นจริง วันนี้สมคิดก็เพียงมีฐานะพอมีพอกิน ไม่ปรากฏความร่ำรวยให้เห็น ไม่มีเรื่องด่างพร้อย และนี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมมีความเคารพนับถือสมคิด
“สมคิดที่ผมรู้จัก อาจจะไม่เหมือนกับสมคิดที่คนอื่นรู้จัก ผมก็เพียงอยากแบ่งปันความคิด ความเห็น และมุมมองที่ผมได้เห็นประจักษ์ด้วยตัวเองเท่านั้นครับ”