ถึงตอนนี้ทุกคนน่าจะพอรู้จักชื่อของ ‘แสนปิติ สิทธิพันธุ์’ หรือในชื่อเล่นว่า ‘แสนดี’ บุตรชายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คนปัจจุบันกันบ้างแล้ว และคงพอจะทราบว่าเขาเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องด้านการได้ยิน จนต้องเข้ารับการผ่าตัดประสาทหูเทียม และต้องอาศัยความพยายามของครอบครัวที่จะฝึกฝนเขา จนเขาสามารถสื่อสารได้ด้วยภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
แสนปิติเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา พร้อมกับการที่เขากลายเป็นที่รู้จักของสังคมไทยมากยิ่งขึ้น หลังพ่อของเขาชนะเลือกตั้ง กลายเป็นผู้ว่าราชการเมืองหลวงของประเทศ
แต่แสนปิติในวัย 22 ปี มีมุมมองการใช้ชีวิตอย่างไร และในบทบาทต่างๆ ของชีวิต ทั้งการเป็นลูกชายของพ่อแม่ ลูกชายของนักการเมือง บุคคลที่มีปัญหาด้านการได้ยิน ไปจนถึงเยาวชนที่เคยใช้ชีวิตในเมืองกรุง และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ทำให้เขาเห็นและมีแนวคิดอะไรในชีวิต
THE STANDARD ชวนแสนปิติมาสัมภาษณ์เปิดตัวตนกับคำถามต่างๆ โดยเราขอให้เขาถ่ายทอดคำตอบผ่านตัวอักษรซึ่งต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่เราจะแปลถ้อยความทั้งหมดให้เป็นภาษาไทยดังที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้
คุณนิยามตัวเองว่าอย่างไร?
ผมคิดว่าการนิยามตัวเองเป็นสิ่งที่ยากมากที่สุด เราทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์ และเราก็สามารถให้อะไรกับโลกได้มากมาย เพราะเราก็มาจากพื้นเพที่หลากหลาย เราอยู่ในที่ทางของตัวเอง บนประเภทและคำจำกัดความที่แตกต่างหลากหลาย
สำหรับตัวผมเอง ผมจะขออธิบายลักษณะของตัวเองว่าเป็นคนมีอิสระ ชอบสำรวจสิ่งใหม่ๆ และกล้าหาญ ผมเปิดรับความท้าทายทุกสิ่ง แต่ก็มุ่งมั่นที่จะแสดงความเป็นตัวเองด้วย
ภาพ: แสนปิติ สิทธิพันธุ์
อะไรคือความสนใจของคุณ คุณจัดสรรเวลาให้กับหลากหลายกิจกรรมในชีวิตคุณอย่างไร และงานอดิเรกอะไรที่คุณชอบทำบ้าง?
สำหรับผม ความสนใจของผมคือการเขียนและการถ่ายภาพ แล้วก็กาแฟด้วย ส่วนการจัดสรรเวลา ผมเองก็ไม่ได้คิดอยู่ตลอดเวลาหรอกว่าเวลาไหนควรจะทำอะไร มันง่ายกว่าที่จะไหลไปตามจังหวะ ปล่อยให้อะไรเป็นไปเองอย่างราบรื่น ผมค่อนข้างเป็นคนชอบเสี่ยง ดังนั้นผมจึงอยากเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ และดูว่าชีวิตจะพาผมไปจุดไหน
ส่วนงานอดิเรกของผมส่วนใหญ่คือดูกีฬา ซึ่งก็มีกีฬาเยอะแยะหลากหลายประเภทมากๆ อย่างฟุตบอล, ฟอร์มูล่าวัน, บาสเกตบอล, เบสบอล, ฮ็อกกี้ และคริกเก็ต
ในฐานะลูกชายของพ่อแม่ อะไรคือบทเรียนชีวิตที่สำคัญที่สุดที่พ่อแม่มอบให้กับคุณ?
ในการอบรมเลี้ยงดูผม พ่อกับแม่มักจะให้บทเรียนที่มีค่ากับผมเสมอ แต่ไม่มีคำไหนสำคัญเท่ากับคำคำเดียวที่พวกเขาเน้นย้ำกับผมตลอด นั่นคือคำว่า ‘Empathy’ (ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น หรือรู้สึกร่วมไปกับผู้อื่น) ผมรู้สึกว่า Empathy เป็นแง่มุมหนึ่งที่เรามักมองไม่เห็นค่าของสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ มันคือแก่นของการมีปฏิสัมพันธ์กับคนและสังคมอื่น การให้ความสำคัญกับ Empathy ก็คือการที่เราต้องยอมเปราะบาง ต้องยอมรับฟังทั้งผู้อื่นและตัวเอง การมอบ Empathy ให้กัน ก็คือการแสดงความเห็นอกเห็นใจให้กันในยามทุกข์ยาก
ในฐานะลูกชายของนักการเมือง คุณเคยคิดจะทำงานการเมืองบ้างหรือไม่? ถ้าเคยคิด แล้วบทบาทไหนที่คุณคิดหรือเคยคิดจะทำ?
ตอนที่พ่อของผมเป็นนักการเมืองเมื่อนานมาแล้ว ผมเองไม่ได้มีความต้องการที่จะเข้าสู่การเมืองเลย และตอนนี้เมื่อพ่ออยู่ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ผมก็ไม่คิดว่าท่าทีของผมจะเปลี่ยนไป ผมรู้สึกว่าการเมืองไทยเป็นสังเวียนที่มีความผันผวนสูง จึงเป็นพื้นที่ที่ยากที่จะสำรวจมันไปแบบไม่มองหน้ามองหลัง โดยไม่มีประสบการณ์ใดๆ เลย
ในฐานะที่คุณเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องด้านการได้ยิน คุณมีเรื่องราวหรือประสบการณ์สักเรื่องเกี่ยวกับปัญหาความบกพร่องด้านการได้ยินที่คุณเคยประสบ แล้วอยากจะแชร์ให้คนทั่วไปได้ทราบ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิของผู้บกพร่องทางการได้ยินในสังคมไทยไหม?
ผมคิดว่ามีเรื่องราวเยอะมาก ซึ่งผมบอกได้เลยว่าอาจจะแยกเป็นบทความต่างหากได้เลย อย่างไรก็ตาม ผมก็มักจะเล่าให้คนอื่นฟังเสมอถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเมื่อตอนที่ผมยังเด็ก ในช่วงเวลาที่ผมมีปัญหากับความมั่นใจในตนเอง กับการรับมือการสูญเสียการได้ยินของตัวผมเอง
ที่โรงเรียนผมมีช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่งในการสื่อสารด้วยคำพูด เนื่องจากผมออกเสียงบางเสียงไม่ได้ เพราะความไม่คุ้นเคยกับมัน ผมพูดตะกุกตะกักและติดอ่างเล็กน้อย รวมถึงตื่นเวที เพราะความคิดของผมจะล่วงหน้าไปก่อนคำพูดของผม ผมต้องทำงานร่วมกับนักบำบัดการพูดและครูพิเศษ เพื่อช่วยผมในความพยายามที่จะถ่ายทอดคำพูดของผมเอง ผมต้องใช้ความทุ่มเทและเวลาเพื่อจะได้รับผลตอบแทนจากความอดทนในการจัดการกับความพิการของผมนี้
ตอนที่ผมอายุน้อยกว่านี้ก็ยังมีปัญหาในการเล่นกีฬาด้วย เพราะว่าธรรมชาติของการสัมผัสโดนตัวในการเล่นกีฬาจะทำให้ผมเสี่ยง เพราะเครื่องช่วยฟังของผมอาจจะเสียหายได้
ภาพ: แสนปิติ สิทธิพันธุ์
ในฐานะเยาวชนที่เคยใช้เวลาในชีวิตอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และประเทศไทย คุณอยากเห็นกรุงเทพฯ และประเทศไทยพัฒนาไปในทิศทางใดมากที่สุด?
ผมเติบโตขึ้นมาอย่างเด็กที่เติบโตในวัฒนธรรมที่ต่างจากพ่อแม่ (Third Culture Kid) ผมชื่นชมกรุงเทพฯ ในด้านความหลากหลาย และความเป็นธรรมชาติของเมืองที่แผ่ออกไปและไม่มีที่สิ้นสุด ผมคิดว่าการใช้ชีวิตในเขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ ได้สอนให้ผมตระหนักถึงปัญหาและความกังวลเกี่ยวกับการวางผังเมือง และการวางแผนชุมชนเมืองมากขึ้น กรุงเทพฯ มีศักยภาพและมีวิถีการดำรงชีวิตอยู่มากมาย ผมจึงอยากให้เมืองนี้มีความรื่นเริงและเฉลิมฉลองกันมากขึ้น เราเพิ่งจัดขบวนพาเหรด LGBTQIA+ ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ดังนั้นผมจึงอยากเห็นกิจกรรมที่นำทุกคนมาอยู่ด้วยกันอย่างครอบคลุม กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง
ในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ มีส่วนใดบ้างของระบบการศึกษาสหรัฐฯ ที่คุณคิดว่าสามารถนำมาปรับใช้กับระบบการศึกษาไทย เพื่อทำให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้นได้?
แม้ว่าผมจะพูดแทนระบบการศึกษาของไทยไม่ได้ทั้งหมด แต่ผมคิดว่าหนึ่งหรือสองสิ่งที่สามารถนำมาจากสถานศึกษาในสหรัฐฯ ก็คือ ควรมีการเปิดสอนวิชาต่างๆ ที่หลากหลายในโรงเรียนไทย นักเรียนควรมีอิสระที่จะไล่ตามความสนใจและความหลงใหลของตนเอง โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ในหลักสูตรเฉพาะ ในสหรัฐฯ ผมได้เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิด สังคมวิทยา และสุขภาพจิต รวมทั้งชั้นเรียนเต้นรำ สถาปัตยกรรม และปรัชญาการศึกษา ผมคิดว่าการศึกษาไทยควรมีสิ่งที่จะมอบให้มากกว่านี้ เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองและดูว่าสิ่งใดเหมาะสมที่สุด ในแง่ของวิชาเรียนนะ
ในฐานะบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์ อะไรคือคุณค่าของการศึกษาวิชานี้ สำหรับทั้งคนที่ทำงานและไม่ได้ทำงานในด้านที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์?
มีคุณค่าหลักสามข้อที่ผมพิจารณาแล้วรู้สึกว่าสำคัญมากต่อวิชาประวัติศาสตร์ หลักการที่หนึ่งคือความเป็นไปได้ ประวัติศาสตร์คือความเป็นไปได้ที่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่มีอิทธิพลต่อเงื่อนไขที่เคยมีอยู่ก่อน การตระหนักรู้ถึงความเป็นไปได้ ก็คือการที่เรารับรู้ว่าการที่ผู้คนและสังคมในอดีตได้มารวมตัวและสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นร่วมกันได้อย่างไร เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ กระแสสังคม และแบบแผนต่างๆ ถูกร้อยเรียงด้วยตัวแปรที่ซับซ้อนและความไม่แน่นอนจำนวนมากที่ประกอบเข้าด้วยกัน
หลักการที่สองคือความหลากหลาย ประวัติศาสตร์โดยตัวมันเองคือความหลากหลาย และรุ่มรวยด้วยเรื่องราวและมุมมองทัศนคติของสังคมและผู้คนในห้วงเวลาที่แตกต่าง มันมีทั้งช่วงเวลากำหนดประวัติศาสตร์ และมีทั้งเหตุการณ์เล็กๆ ที่นำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ มีหนทางมากมายที่จะตีความและเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งผมมองว่าค่อนข้างทำให้เราย้อนคิดถึงภาพในอดีตได้
วิธีการที่เรามองอดีต ไม่ใช่แค่เพื่อจำกัดไว้เฉพาะการจดจำเหตุการณ์หรือตัวเลขเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำความเข้าใจบุคลิกลักษณะและประสบการณ์ที่ทั้งแตกต่างและมีเอกลักษณ์ เพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของอดีตอันกว้างใหญ่ไพศาล
หลักการสุดท้ายที่ผมรู้สึกว่าควรถูกเน้นมากกว่านี้ คือ ประวัติศาสตร์ช่วยในการพิจารณาปัจจุบันตามบริบทของมัน การจะทำความเข้าใจว่าสังคมและมนุษย์วิวัฒนาการผ่านช่วงเวลาเป็นเส้นตรง เข้าสู่ช่วงเวลาปัจจุบันของประวัติศาสตร์มนุษย์ได้อย่างไรนั้น อย่างแรกก็ต้องเข้าใจว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร และสภาวะแวดล้อมแบบไหนพาเรามาอยู่ตรงนี้ หากไม่ศึกษาอดีต เราก็จะไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าทำไมเหตุการณ์นั้นๆ ถึงเกิดขึ้นได้ เช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หรือภาวะถดถอยของโลกที่ถูกโรคระบาดทำให้รุนแรงกว่าเดิม
อดีตคือเครื่องมือสอนที่เราเรียนรู้จากมัน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่วนกลับไปทำความผิดพลาดแบบเดิมซ้ำๆ และหล่อหลอมหนทางข้างหน้าให้ดีกว่าเดิม อดีตให้บทเรียนที่เรามักมองข้าม เมื่อต้องพูดถึงความกระจ่างชัดในเชิงประวัติศาสตร์ และการทำความเข้าใจปัจจุบันแบบที่มันเป็นอยู่ตอนนี้
ภาพ: แสนปิติ สิทธิพันธุ์
เป้าหมายสูงสุดในอาชีพและชีวิตของคุณคืออะไร?
ผมรู้สึกว่าความมุ่งมั่นปรารถนาสูงสุดของผม ต้องเป็นสิ่งที่ผมลงทุนกับมันอย่างแท้จริง และต้องการทำมันอย่างจริงใจ ผมนึกภาพไม่ออกว่าจะทำอะไรอย่างอื่นนอกจากการเขียน การถ่ายภาพ และมีส่วนร่วมในเรื่องเกี่ยวกับกาแฟ และสิทธิด้านการศึกษาหรือสิทธิของผู้พิการ ผมเองยังไม่ได้กำหนดเส้นทางที่ชัดเจนนัก แต่มันจะมาเอง เมื่อถึงเวลาและถึงพร้อมด้วยภูมิความรู้