วานนี้ (10 มีนาคม) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาระยะสั้น กลาง และยาว หลังมีกระแสประเด็นสังคมเรื่องพื้นที่ปัญหาที่ยังไม่ส่งมอบงาน จนเป็นข้อวิจารณ์ว่ากรุงเทพมหานครปล่อยให้ ‘คลองโอ่งอ่าง’ หมดคุณค่าแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่
ศานนท์กล่าวว่า จากข้อวิจารณ์ว่ากรุงเทพมหานครปล่อยให้คลองโอ่งอ่างหมดคุณค่า โดยมีประชาชนส่งรูปรถที่จอดอยู่ริมคลองโอ่งอ่างมานั้น ขอชี้แจงว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของงานก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ทำเพิ่มและยังก่อสร้างไม่เสร็จของสำนักการระบายน้ำ ซึ่งกรุงเทพมหานครยังไม่ได้รับมอบจากผู้รับเหมา
อย่างไรก็ตาม เขตได้กำชับผู้รับเหมาแล้ว รวมถึงสำนักการโยธาจะรับช่วงต่อในการปรับปรุงทางเดินเท้าให้สวยงาม ซึ่งงานส่วนต่อขยายเฟสนี้จะทำให้คลองโอ่งอ่างเดิมเดินเชื่อมไปยังคลองบางลำพูทางทิศเหนือได้ เชื่อมย่านสะพานหัน พาหุรัด ไปถึงสามยอด ประตูผี บางลำพู เข้าด้วยกัน เป็นเส้นทางที่จะทำให้สามารถเดินเชื่อมย่านกันได้ต่อเนื่อง เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว นอกจากนี้ หากเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทั้งหมดเส้นทางคลองโอ่งอ่างจะเป็นเส้นทางเดินเชื่อมมาจากฝั่งธนบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และไปจบที่ถนนข้าวสารได้ ซึ่งขณะนี้ในส่วนของสวนและทางเดินเชื่อมย่านปากคลองตลาด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีสถานที่ที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น สำนักสิ่งแวดล้อม, สำนักวัฒนธรรม กีฬา และ การท่องเที่ยว, การไฟฟ้านครหลวงเขตวัดเลียบ, สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง, กรมเจ้าท่า, กรมทางหลวงชนบท ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการรวบรวม ประสานงานการดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างเป็นเส้นทางเชื่อมกับคลองโอ่งอ่าง โดยใช้งบประมาณปี 2568 ในการดำเนินการ
ศานนท์กล่าวต่อไปว่า หัวใจคือการมีอัตลักษณ์ที่เกิดจากคนในชุมชนในพื้นที่เอง หากเอาร้านค้านอกพื้นที่มาจัดเป็นอีเวนต์ จัดเป็นตลาด ก็คงไม่ยั่งยืนในระยะยาว ทำได้เป็นเพียงการกระตุ้นระยะสั้นบางครั้งบางคราวเท่านั้น ดังนั้นการรวมตัวของคนในพื้นที่เพื่อสร้างอัตลักษณ์จึงสำคัญ เช่น คลองโอ่งอ่างช่วงสะพานหันที่รวมตัวกันเปิดร้านอาหารอินเดีย จัดงาน Little India ดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือย่านทรงวาด ปากคลองตลาด สำเพ็ง เยาวราช ตลาดน้อย กะดีจีน บางโพ บางมด หัวตะเข้ และอีกมากมาย ในนโยบายย่านสร้างสรรค์ที่นักท่องเที่ยวคึกคัก ไม่ใช่เกิดจากการจัดอีเวนต์ แต่เป็นเพราะมีอัตลักษณ์ของตนเอง ล่าสุดได้มีการสร้างสรรค์ Street Art จากศิลปินไอร์แลนด์ที่คนในชุมชนฝั่งสะพานเหล็กร่วมกันด้วย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครน้อมรับทุกความเห็นและจะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป ส่วนแผนการกระตุ้นและการพัฒนาในอนาคต เขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์จะร่วมมือกันพัฒนาต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการบูรณาการจัดการพื้นที่บริเวณคลองโอ่งอ่าง รวมทั้งมาตรการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ ตามที่มีข้อสังเกตว่าคลองโอ่งอ่างถูกปล่อยทิ้งร้างนั้น สำนักงานเขตพระนครได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับแกนนำ เช่น ผู้ค้าเดิมในพื้นที่สะพานเหล็ก ผู้ประกอบการในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อวางแผนฟื้นฟูถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ได้มีมาตรการในการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยวางแผนไว้ 3 ระยะ คือ
ระยะสั้น: ภายใน 2 เดือน เริ่มต้นเปิดตัวดึงอัตลักษณ์ของสะพานเหล็กในการจัดเทศกาลและกิจกรรมในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้
ระยะกลาง: ภายใน 4 เดือน ใช้การประเมินและปรับรูปแบบกิจกรรมหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมระยะสั้น พร้อมประชุมร่วมกับแกนนำและผู้ค้าถึงแนวทางการต่อยอดถนนคนเดินให้ยั่งยืน เช่น การทดลองจัดกิจกรรมสั้นๆ ช่วงสุดสัปดาห์ โดยให้แกนนำขับเคลื่อนทั้งหมด และสำนักงานเขตเป็นที่ปรึกษา
ระยะยาว: ภายใน 6-8 เดือน ทดลองเปิดโอกาสให้แกนนำบริหารจัดการด้วยตนเอง เมื่อครบ 8 เดือนจะประเมินครั้งสุดท้าย ก่อนถอดบทเรียนและขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป
ในส่วนของบริเวณทางเท้าริมคลองด้านหลังโรงแรมมิราม่า ซึ่งมีผู้นำรถยนต์มาจอด ทั้งที่ทางเท้าบริเวณดังกล่าวเพิ่งปรับปรุง รวมถึงมีคนไร้บ้านมาอาศัยหลับนอน ตั้งวงดื่มสุรา และตกปลา ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกังวลเรื่องความปลอดภัยนั้น การแก้ไขปัญหาจอดรถยนต์บนถนนหรือทางเท้าคลองโอ่งอ่าง ขณะนี้สำนักการโยธาอยู่ระหว่างปรับปรุงและยังมิได้ส่งมอบงาน ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เทศกิจได้ประชาสัมพันธ์งดการจอดในพื้นที่ดังกล่าว และในอนาคตทางผู้รับจ้างจะพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์กั้นรถยนต์เข้ามาจอด สำหรับปัญหาคนเร่ร่อนนอนบนทางเดิน เจ้าหน้าที่จะเพิ่มความถี่และกำชับตรวจตราไม่ให้มีการหลับนอนในที่สาธารณะ พร้อมจัดระเบียบอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นการนั่งดื่มสุราและตกปลา เจ้าหน้าที่จะขอความร่วมมือ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะว่ากล่าวตักเตือน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร และสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน
ในส่วนของสภาพน้ำในคลองโอ่งอ่าง ตามที่มีข้อสังเกตพบว่ามีขยะลอย น้ำเริ่มเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น สำนักงานเขตพระนครและสำนักการระบายน้ำได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจคลองโอ่งอ่างเพื่อตรวจสอบท่อระบายน้ำเสียที่ปล่อยลงคลองโอ่งอ่างโดยตรง ซึ่งได้ตรวจพบจุดปล่อยน้ำเสีย ทราบถึงปัญหาและพร้อมดำเนินการปรับปรุง เพื่อนำน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำต่อไป
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครในส่วนของสำนักการระบายน้ำได้มีการพัฒนาคลองรอบกรุงหรือคลองโอ่งอ่าง โดยการก่อสร้างเขื่อนและปรับภูมิทัศน์ริมคลอง พร้อมก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียคลองโอ่งอ่าง ช่วงที่ 1 จากบริเวณสะพานดำรงสถิต บริเวณถนนเจริญกรุง ถึงแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งใต้ บริเวณสะพานพระปกเกล้า ความยาวคลองประมาณ 750 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 และก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมทางเดินคลองโอ่งอ่าง ช่วงที่ 2 จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงสะพานดำรงสถิต บริเวณถนนเจริญกรุง ความยาวคลองประมาณ 1,000 เมตร ได้รับงบประมาณกรุงเทพมหานครปี 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2567
สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองรอบกรุงหรือคลองโอ่งอ่าง สำนักการระบายน้ำกำลังดำเนินการถ่ายเทและหมุนเวียนน้ำในคลองที่น้ำเริ่มเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ขณะเดียวกันก็มีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าจัดเก็บขยะและวัชพืชภายในคลองอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งตรวจสอบท่อระบายน้ำและท่อรวบรวมน้ำเสีย และดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำเพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวกอยู่เสมอ