×

ทุกชุมชนมีศักยภาพ รอการเจียระไน เปิดใจ ‘รองผู้ว่าฯ ศานนท์’ ย้ำชัชชาติรับฟังจริง ไม่ใช่แค่ได้ยิน

13.06.2022
  • LOADING...
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ในบรรดาทีมงาน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ศานนท์ หวังสร้างบุญ คือหนึ่งในทีมรองผู้ว่าฯ ที่ถือว่ามีอายุน้อยที่สุด เพียง 33 ปี แต่ได้รับความไว้วางใจจากชัชชาติให้เป็นรองพ่อเมือง กทม. ร่วมทีมงานที่เข้ามาดูเรื่องการศึกษา การท่องเที่ยว และการสร้างความมีส่วนร่วมให้นโยบายสามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น

 

ศานนท์เป็นหนุ่มไฟแรง เขาเป็นนักธุรกิจ และนักเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมก่อนที่จะมารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ในยุคของชัชชาติ สิทธิพันธุ์  

 

THE STANDARD ขอชวนทุกคนไปทำความรู้จัก ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ ศิษย์เก่าร่วมสถาบันผู้ว่าฯ ชัชชาติ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ มาทำความรู้จักคนรุ่นใหม่ ในวัยที่หลายๆ คนบอกว่าเขายังอายุน้อย แต่ภาระที่ต้องรับผิดชอบไม่น้อยเลยทีเดียว 

 

ก่อนจะมาเป็นรองผู้ว่าฯ มีการทาบทามจากอาจารย์ชัชชาติมาก่อนหรือไม่   

 

ไม่รู้เลย จริงๆ ผมทำเบื้องหลังมาโดยตลอด รู้จักอาจารย์ชัชชาติจากโครงการในคณะวิศวะ จุฬาฯ ผมจบวิศวะเหมือนกัน มีโครงการที่ต้องเมนเทอร์น้องวิศวะ ทำให้เราได้รู้จักกัน อาจารย์มาเยี่ยมเพราะเห็นเราทำเรื่องพัฒนาเมือง พัฒนาชุมชน หลังจากนั้นมีโควิด ผมทำโรงแรม ทำโฮสเทล ก็เลยตกงานช่วงนั้น ก็เลยมาช่วยอาจารย์ มาทำงานกิจกรรมหลังบ้าน 

 

อาจารย์ชัชชาติใช้วิธีไม่ทำการเมือง แต่มาทำงานเมือง พอได้ทำงานเมืองก็เหมือนที่เราทำปกติอยู่แล้ว พอมาทำร่วมกับอาจารย์ก็ทำให้มีวิธีคิดที่แหลมคมขึ้น มีวิธีการจัดการที่ชัดเจนขึ้น แล้วก็สนุกขึ้น

 

อาจารย์ชัชชาติบอกตอนไหนให้มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. 

 

คล้ายๆ อาจารย์ทวิดา (ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.) คือได้รับการทาบทามจากพี่ต่อศักดิ์ (ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.) ก่อน พอวันนับคะแนน ผมทำวอร์รูมอยู่ ค่อนข้างหัวหมุนเลย อาจารย์บอกให้มานี่ก่อน นึกว่าจะสั่งงานอะไรเพิ่ม แกก็กอดคอไป แล้วก็ชวน

 

อาจารย์ให้เวลาตัดสินใจกี่วัน

 

ตอนแรกเป็นพี่ต่อศักดิ์มาคุยก่อน รู้ตัวก่อนแป๊บหนึ่ง ผมก็ถามคำแรกว่าต้องอายุ 35 ปีไม่ใช่เหรอ ผมเข้าใจว่าอายุต่ำกว่านั้นมันเป็นไม่ได้ แล้วอาจารย์ก็มาคอนเฟิร์ม 

 

ผมก็โทรถามภรรยาก่อน เพราะบ้านอยู่ต่างจังหวัด ต้องคุยก่อน ภรรยาบอกที่ผ่านมาทำงานหนักขนาดนั้น ถ้าไม่ทำต่อก็คงเสียดายโอกาส ภรรยาก็สนับสนุนเต็มที่ เราก็มีเรื่องติดค้างในใจที่อยากทำอยู่แล้ว เลยตัดสินใจทันทีหลังจากที่ภรรยาตอบตกลง โอเคก็ลองดูสักตั้งว่าจะเป็นอย่างไร ก็ตื่นเต้นมาก     

         

กดดันไหม เมื่อมีตำแหน่งและถูกจับตาอายุน้อยด้วย 

 

เป็นความรู้สึกหลายๆ อย่างผสมกัน ที่เปลี่ยนมากๆ คือเราไม่เคยทำงานเป็นโครงสร้างที่ชัดเจนแบบข้าราชการ แต่ก่อนทำงานก็เป็นทีม ชอบให้ทุกคนมาร่วมคิดร่วมสร้าง พอมาทำงานเป็นระบบที่ค่อนข้างชัดเจนเราก็ต้องปรับตัวเยอะ 

 

แล้วเรื่องความเข้าใจต่างๆ เราเคยอยู่อีกฝั่ง เคยต่อสู้กับ กทม. ด้วยซ้ำ เคยเดินร่วมกับชุมชน จึงเป็นความท้าทาย เราอยากรู้ว่าตอนนั้นทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น มีจุดประสงค์อยากให้ กทม. ดีขึ้นเหมือนกัน ทำไมคิดต่างกันขนาดนั้น เป็นความท้าทายที่ผมต้องเข้าใจมากขึ้น แล้วเรามีสิ่งติดค้างในใจที่อยากทำเรื่องชุมชน เรื่องพัฒนาสังคม ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาทำในบทบาทนี้  

 

หน้าที่ของรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้รับมอบหมาย

 

ของผมจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคน มีสำนักพัฒนาสังคม เกี่ยวข้องกับชุมชน กลุ่มเปราะบางต่างๆ แล้วก็เรื่องการฝึกอาชีพต่างๆ มีสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เป็นสำนักที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมต่างๆ 

 

สำนักการศึกษา มีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ ทั้งหมด, สำนักพาณิชย์ของ กทม. ประกอบไปด้วยตลาด เช่น จตุจักร สถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำ, สำนักที่อยู่อาศัย ดูแลที่อยู่อาศัยของคนใน กทม. แล้วก็ดูเรื่องข้าราชการ

 

ได้ไปคุยกับข้าราชการประจำใน กทม. หรือยัง ฟีดแบ็กเป็นอย่างไร

 

ได้คุยกับข้าราชการ ยกตัวอย่างสำนักการศึกษา ตั้งแต่อาจารย์ชัชชาติได้คะแนนอย่างไม่เป็นทางการ สำนักการศึกษาก็โพสต์ในเพจของสำนักเอง โดยเอานโยบายของอาจารย์มาแมตช์กับโครงการที่เขาจะทำทันที 

 

ผมก็เลยรู้สึกว่า จริงๆ แล้วความตื่นตัวมันไม่ใช่เป็นแค่ประชาชนทั่วไป แต่ข้าราชการทุกคนก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่างที่อาจารย์ทวิดาพูด เราได้รับอานิสงส์พลังความแข็งแกร่งของท่าน ทำให้ข้าราชการทุกคนตื่นตัวมาก เราเองก็ตื่นตัวไปด้วย 

 

พอรับตำแหน่งวันที่ 1 มิถุนนายน วันที่ 2 ได้เจอกับสำนักครบเลย ทุกท่านมานำเสนอ เห็นดวงตา ความหวังจากพี่ๆ เขามีความตั้งใจอยากจะทำให้มันดี ซึ่งตอนแรกผมมาด้วยความกังวล พอผมออกจากห้องประชุมรู้สึกทุกคนเอาจริง 

 

เรามีงานดนตรีในสวน มีงานอะไรเยอะมาก ผมเจอท่าน ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ทุกวันเลย ท่านก็ลุยไปกับเรา ฟีดแบ็กดีมาก เราเอางานเป็นตัวตั้ง ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ทำอย่างไรให้เมืองดีขึ้นได้บ้าง 

 

สิ่งที่ กทม. ต้องทำเร่งด่วนคืออะไรบ้าง

 

เบื้องต้นเราอยากสร้างกลไกของคนที่ทำงานในแต่ละเรื่องก่อน ทางอาจารย์ชัชชาติก็พูดถึงนโยบายอาสาสมัครเทคโนโลยีในชุมชน ผมคิดว่าเป็นงานสำคัญมาก เพราะก่อนที่เราจะทำอะไร จำเป็นต้องมีคนเข้าใจเทคโนโลยีและเก็บข้อมูลได้ ทุกวันนี้เราจะเอาข้อมูลอะไรทีเราต้องลงทะเบียนใหม่ มีแอปใหม่ มีอะไรใหม่ แต่สิ่งแรกๆ ที่ควรทำคือ เราควรจะมีอาสาสมัครที่ดูแลเทคโนโลยีให้กับประชาชนหรือชุมชนที่เราดูแล เราก็ตั้งเป้าเดือนนี้ต้องสร้างกลไกนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้

 

นอกจากนั้นมีงานอื่นๆ อย่างผมมาจากภาคประชาสังคมมาก่อน จะมีความรู้สึก อย่างที่อาจารย์ชัชชาติพูดว่า เปลี่ยนความหวังเป็นความร่วมมือ เพราะความร่วมมือปัจจุบันมันผ่านคอนเน็กชัน แต่เราจะทำอย่างไรให้มีกลไกที่จะรับความร่วมมือที่มากขึ้น พอดีมีหนึ่งในนโยบายคือ Open Bangkok ที่อาจารย์ชัชชาติพูดไว้ คนจะชอบคิดว่า Open Bangkok คือการ Open Data เฉยๆ แต่จริงๆ แล้วมันคือการเปิดให้ กทม. มีส่วนร่วมกับคนที่หลากหลายด้วย การสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายมีความสำคัญมาก

 

เคยต่อสู้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ มาจากข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ กทม. มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องพื้นที่เยอะ หลังรับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ แล้วอยากจะทำอะไร 

 

กลไกที่พูดไปต้องมีชุมชนหรือชาวบ้านมาอยู่ด้วยในทีมทำงานของ กทม. แต่ก่อนที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้ยินใครพูด คือเรามักจะได้ยินเฉพาะกลุ่มคนที่เสียงดัง 

 

แต่ว่าคนที่เป็นคนจนเมือง คนในชุมชน มักจะถูกมองเป็นปัญหา เป็นแหล่งเสื่อมโทรม คนติดยาเสพติด ถูกมองเป็นปัญหาสังคม 

 

แต่จริงๆ แล้วทุกชุมชนมีศักยภาพ แล้วก็มีสิ่งที่อาจารย์ชัชชาติพูดว่า รอการเจียระไนให้ดีขึ้น 

 

ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือการดึงการมีส่วนร่วมของคนทุกประเภท ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะรวยหรือจน ต้องมาอยู่ในกลไกของการพัฒนา เรื่องนี้เป็นเรื่องข้อถกเถียง บางคนบอกว่าควรจะรื้อ ไม่รื้อ ผมว่ามันมีแน่ แต่จะตอบได้ต้องมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่ม แล้วเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ผลประโยชน์ในวันนี้คืออะไร 

 

ตอนนี้อาจารย์ชัชชาติและทีมเป็นความหวังที่จะทำให้ กทม. เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อาจกดดัน แต่มีความเชื่อมั่นหรือไม่ว่า 4 ปี กทม. เปลี่ยนแปลงไปแน่นอน 

 

อาจารย์ชัชชาติชอบพูดว่าเปลี่ยนความหวังเป็นความร่วมมือ ผมรู้สึกว่าอันนี้ชัดเจนมาก จริงๆ ก็แสดงให้เห็นในหลายๆ งาน อย่างเช่นงานดนตรีในสวนที่ผ่านมา กทม. เราแทบจะช่วยน้อยมากเลย แต่เป็นความร่วมมือจริงๆ อย่างทีมอาจารย์สุกรี เจริญสุข หรือทีมที่มาช่วยกันจัด 

 

กทม. สนับสนุนเรื่องสถานที่ เรื่องแบบนี้มีมิติของคนที่ทำเชิงประเด็นเยอะมาก ผมเป็นทีมประชาสังคมมาก่อน ผมรู้เลยว่าจริงๆ แล้วมีความเชี่ยวชาญ มีแพสชันของประชาชนในเรื่องต่างๆ อยู่เต็มไปหมด วันนี้ทีมอาจารย์ชัชชาติและทุกคนเข้ามาเพื่อเปิดพื้นที่ ใช้คำว่า Open Bangkok คือ Open จริงๆ เรามาเปิดทรัพยากร เปิดความร่วมมือ แล้วก็ดึงเอาศักยภาพของ กทม. มาสร้างความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งอันนี้คือความหวังที่เป็นความร่วมมือ

 

อีกส่วนหนึ่งที่เราทุกคนเห็น สิ่งที่อาจารย์ชัชชาติพยายามทำคือ การ Facebook Live ทำให้เห็นว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งปกติเราจะรอให้ท่านผู้นำทำแล้วก็ดูผลลัพธ์ แต่ว่าสิ่งที่อาจารย์ชัชชาติทำคือ ทำให้เห็นว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร ทำให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำ เราเดินถูกทางไหม ถ้าเดินผิดทางก็สามารถคอมเมนต์หรือทักท้วงมาได้ระหว่างทาง เพื่อให้เราเปลี่ยนวิธีเพื่อให้มันถูกต้อง ผมคิดว่าวิธีคิดนี้คือการร่วมกันจริงๆ ไม่ใช่การทำให้ กทม. เป็นเมืองปิดหรือมีความลับเยอะ แต่เราเปิดทุกอย่างให้เห็น 

 

มีคนจับผิดว่า Over PR ประชาสัมพันธ์เก่ง บางคนบอกว่าการ Live ทำให้ข้าราชการที่เขาไม่ถนัดพูดหน้ากล้องเขาตกใจเตรียมตัวไม่ทัน ในทีมได้คุยเรื่องฟีดแบ็กไหม

 

จริงๆ ยังไม่มีโอกาสได้คุยเลย ประชุมกับลงพื้นที่ตลอดเวลา แต่อย่างที่ผมบอก มันเป็นการทำให้โปร่งใส ให้เห็นว่าเรากำลังทำอะไร และเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งมันก็ทำให้ทุกคนตื่นตัว ขณะเดียวกันก็ทำให้ทุกคนตั้งใจทำงานตัวเองให้ดี ถ้าใครทำงานดีแล้วก็เป็นคล้ายๆ Merit เป็นการชื่นชมผ่านงานของเขา ก็มีทั้งบวกทั้งลบ แต่ว่าในแง่บวกก็มีอยู่มาก

 

คนชอบเปรียบอาจารย์ชัชชาติ กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในเรื่องการสื่อสาร การทำงาน การตอบคำถาม คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ 

 

โอ้โห ยิงคำถามยากเลย (หัวเราะ) ก็เห็นๆ กันอยู่ จริงๆ เปลี่ยนไม่ใช่แค่ตอนนี้ แต่เปลี่ยนตั้งแต่ช่วงหาเสียง รู้สึกว่าหลายๆ อย่างเป็นวิธีคิดใหม่หมดเลย รวมถึงทีมที่มาร่วมกันด้วย ต้องบอกว่าก่อนที่จะเลือกตั้งจบ มีทีมคนรุ่นใหม่ทั้งเซ็ตประมาณ 30 คน แล้วก็เป็นเพื่อนๆ กัน เป็นรุ่นน้องรุ่นพี่ที่ทำงานด้วยกัน ทุกคนมีวิธีคิดแบบมาจากคนนอก ไม่รู้จักการเมือง การหาเสียง ทุกอย่างเป็นวิธีคิดใหม่ ไวนิลเป็นกระเป๋า จริงๆ เราไม่ได้เพิ่งมา แต่มานานแล้ว 

 

แล้วก็สิ่งที่เป็นประเด็นคือ ผมว่าอาจารย์ชัชชาติเป็นคนฟังจริงๆ ไม่ใช่แค่ได้ยิน คือ เป็นคนที่ฟัง และทำให้ทุกคนที่แกไปหา อยากจะมาช่วย อย่างงานเครือข่ายคนพิการ ตอนแรกนัดไว้ชั่วโมงครึ่ง แต่แกให้เวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมง แล้วก็นั่งพูดคุยรับฟัง ฟังทุกกลุ่ม ฟังทุกคน ตอนจบทุกคนบอกว่า ไม่ได้อยากมาเฉพาะวันนี้ ไม่ได้อยากมาพูดอย่างเดียว แต่อยากมาร่วมทำด้วย เป็นตัวอย่างที่ความร่วมมือจะดีขึ้นมากๆ เพราะพวกเราฟังจริงๆ แล้วแกจะชอบพูดว่า ปกติคนใช้ไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้ใช้ ผมว่านี่คือครั้งแรกที่คนใช้จริงๆ จะมาช่วยกันทำให้เปลี่ยนแปลง 

 

ทีมอาจารย์ชัชชาติมีแต่เสียงชื่นชม สมมติว่าวันหนึ่งตอบสนองความคาดหวังเหล่านั้นไม่ได้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานเข้ามา จะรับมือกับจุดนั้นไหวหรือไม่

 

ผมว่าถ้าเราทำไม่ได้ก็ไม่ควรมาเป็นผู้นำให้ทุกคน คือ ก็ต้องรับฟังว่าอะไรที่ผิดพลาด อะไรที่ทำได้ดีหรือไม่ดี ซึ่งผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการถกเถียง อย่างที่อาจารย์พูดเมื่อวันประกาศคะแนน บอกว่า อยากให้มาช่วยกัน ชื่นชมและติติงกัน ช่วยกันฟีดแบ็ก ไม่ใช่ความเกลียดชัง แต่ช่วยกันพัฒนาไปสู่เป้าหมาย ซึ่งผมคิดว่าอันนี้แหละคือหัวใจว่า ถ้ามีอะไรที่เราคิดไม่ถูก ก็มีช่องทางมากมาย แกก็ Live ทุกวัน หรือช่องทางทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) หรือในอนาคตเราจะทำเว็บไซต์หรืออะไรที่อาจจะรับฟังเสียงของทุกคนให้ได้มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าทั้งหมดคือคำสั่งประชาชน  

 

ถ้าเราทำได้ไม่ดี ก็ควรจะต้องให้คนที่ทำได้ดีกว่ามาทำ เพราะเมืองเนี่ยมันรอไม่ได้ เมืองต้องดีขึ้น 

 

มีอะไรอยากเมาท์อาจารย์ชัชชาติไหม เอาแรงมาจากไหน รองผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องมีพลังเยอะตาม

 

คือเข้าใจว่าอาจารย์ชัชชาติเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่ถ้าจะพูดอะไรสักอย่างคือ อยากให้แกพักผ่อนมากขึ้น  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising