×

มหาเถรฯ สางปมพระผิดวินัย เร่งคัดกรอง-คุ้มครองศรัทธา-ปกป้องพระศาสนา

โดย THE STANDARD TEAM
13.07.2025
  • LOADING...

วันนี้ (13 กรกฎาคม) เวลา 16.00 น. ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในการประชุมคณะมหาเถรสมาคม ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นการประชุมตามกำหนด โดยปกติจะประชุมทุกวันที่ 10, 20 และ 30 ของทุกเดือน แต่วันนี้เลื่อนประชุมมาจากวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากตรงกับวันอาสาฬหบูชา ซึ่งปกติจะมีคณะกรรมการมหาเถรสมาคม 21 รูปเข้าร่วม โดยต้องมีองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่งถึงจะประชุมได้ ส่วนการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมในวาระทั่วไป รวมถึงกรณีของพระผู้ใหญ่ที่เป็นข่าว โดยมีพระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นคณะกรรมการฯ มาร่วมประชุมด้วย โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง

 

หลังประชุมเสร็จ อินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รักษาราชการแทน ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้แถลงข่าวถึงแนวทางดำเนินการ กรณีพระภิกษุกระทำผิดและถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ

 

รศ.ดร.ชัชพล กล่าวว่า โดยการประชุมมหาเถรสมาคม วาระพิเศษ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมมีมติดังนี้

 

1. มหาเถรสมาคม น้อมรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ที่มีข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

 

ทั้งนี้ มหาเถรสมาคม มีหน้าที่ธำรงรักษาพระธรรมวินัยและจริยาของคณะสงฆ์ หากความปรากฏว่า รูปใดต้องอาบัติปาราชิก ถือว่าสิ้นสุดความเป็นพระภิกษุทางวินัย และต้องสละสมณเพศตามกฎหมายโดยทันที

 

ส่วนในกรณีที่แม้อาบัติยังไม่ถึงขั้นปาราชิก แต่มีความร้ายแรงรองลงมา เช่น อาบัติสังฆาทิเสสทั้ง 13 ข้อ หากผู้ต้องอาบัตินั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการ หรือเป็นผู้ได้รับสมณศักดิ์ เมื่อความปรากฏ หรือกระบวนการนิคหกรรมพิสูจน์แล้วว่าต้องอาบัติดังกล่าว แม้จะยังคงสถานะภิกษุอยู่ ก็ถือว่าเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง มหาเถรสมาคมจะดำเนินการปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกรูป และจะมีมติขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดสมณศักดิ์ต่อไป

 

2. ในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะใหญ่ จนถึงเจ้าอาวาส ตลอดจนพระวินัยาธิการ ต้องสำนึกในหน้าที่และทำตามหน้าที่ให้สมกับตำแหน่งที่ดำรงอยู่ โดยให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ทุกระดับ ดำเนินการตรวจสอบ ดูแล และกำกับพฤติกรรมของพระภิกษุในปกครองอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง มติคณะสงฆ์ และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หากปรากฏพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายละเมิดพระธรรมวินัย ให้เร่งดำเนินการสอบสวนตามกฎมหาเถรสมาคมโดยมิชักช้า แล้วรายงานต่อมหาเถรสมาคมโดยเร็ว

 

3. นโยบาย กรณีพระภิกษุ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ ดังนี้

 

3.1 กรณีพระภิกษุ กระทำความผิดทางพระธรรมวินัย หากปรากฏว่ามีมูลหรือเข้าข่ายละเมิดพระวินัย ให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับชั้น ออกคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของมหาเถรสมาคม และพระสังฆาธิการ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 24-27 โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานและสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว

 

3.2 ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มิใช่เจ้าคณะพระสังฆาธิการตำแหน่งหน้าที่ปกครอง หรือมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยกิจการพระพุทธศาสนาและการคณะสงฆ์ แต่พบเห็นพยานหลักฐาน หรือพฤติการณ์ กรณีพระภิกษุกระทำความผิดทางพระธรรมวินัย และมีกุศลเจตนาต่อการปกป้อง คุ้มครองพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ เข้าบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าคณะพระสังฆาธิการ พระวินัยาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อจักได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางพระธรรมวินัย กฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคม

 

3.3 ในกรณีที่ยังไม่มีคำพิพากษา การลงโทษตามกระบวนการนิคหกรรม หรือหลักฐานยืนยันความผิดอย่างชัดเจน ทั้งตามกฎหมายบ้านเมืองและพระธรรมวินัย พึงระมัดระวังการให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนและสาธารณชน ด้วยเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาย่อมถูกสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะต้องคำพิพากษา หรือคำตัดสินว่ากระทำความผิด

 

4. ให้เร่งปรับปรุงกลไกการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างเข้มงวด รวดเร็ว รอบคอบ และรัดกุม โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานหลักระหว่างคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับพระภิกษุ ผู้ถูกกล่าวหา ชอบด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่รับเรื่องราว ประมวลข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมเสนอแนวทางการดำเนินการต่อมหาเถรสมาคม เพื่อประกอบดำริในการตรากฎหมาย กฎระเบียบ ออกคำสั่ง หรือมีมติ หรือนำความกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อขอประทานพระวินิจฉัย

 

5. กระบวนการทั้งปวง ต้องจัดลำดับความสำคัญของการตรากฎหมาย กฎระเบียบ ออกคำสั่ง หรือมีมติ ตามหลักความสำคัญเชิงนโยบาย ดังนี้

 

5.1 หลักพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักการสูงสุดสำหรับวินิจฉัย กรณีพระภิกษุผู้กระทำละเมิดพระวินัย

 

5.2 หลักความยุติธรรม ปราศจากอคติ รอบคอบ รัดกุม รวดเร็ว เป็นอิสระ คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

5.3 หลักการปกครองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง และมติโดยชอบ โดยเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับ สิ้นสุดที่มหาเถรสมาคม และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

 

ทั้งนี้ การปกครองบังคับบัญชาคณะสงฆ์ ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจตามพระธรรมวินัย และกฎหมายเท่านั้น

 

5.4 หลักการบังคับใช้พระธรรมวินัย กฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง และมติ อันเป็นส่วนปกครองคณะสงฆ์ อย่างเข้มงวดจริงจังต่อผู้ละเมิดพระวินัย โดยได้ดุลยภาพกับการปกป้อง คุ้มครองผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ถูกสันนิษฐานว่ายังบริสุทธิ์ มิให้ได้รับผลร้ายจากกระบวนการอันมิชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง และมติคณะสงฆ์ อีกทั้งความเสียหายจากกระแสข้อมูลข่าวสารอันคลาดเคลื่อน

 

6. แนวทางการทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบของคณะสงฆ์ ว่าด้วยการกระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ มหาเถรสมาคมเห็นควร ขอประทานพระวินิจฉัยสมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาโปรดให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษ เพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนาขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีหน้าที่ศึกษาและทบทวนกฎมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องกับนิคหกรรม อำนาจตามกฎหมายของพระสังฆาธิการ พระวินยาธิการ และข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน แนวทางการสื่อสารกับสาธารณชน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพระภิกษุ ผู้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือถูกสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมถึงแนวทางบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising