รอบอาทิตย์ที่ผ่านมา Samui Song หนังยาวเรื่องใหม่ของ เป็นเอก รัตนเรือง เพิ่งเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ประจำปี 2017 (Venice Film Festival) ในเซกชัน ‘เวนิส เดย์ส’ นอกจากสื่อนอกจะให้ความสนใจ ฟีดแบ็กก็ออกมาดี ช่วงนั้นเองที่เฟซบุ๊กทางการของหนังยังเปิดเผยทั้งโปสเตอร์และตัวอย่างแรกในเวอร์ชันต่างประเทศ และเท่าที่ติดตามจากตัวอย่างแรก Samui Song เต็มไปด้วยบรรยากาศแบบ ‘ฟิล์มนัวร์’ ซึ่งเป็นแนวที่เป็นเอกสนใจต่อเนื่องมาตั้งแต่ Invisible Waves และ ฝนตกขึ้นฟ้า ซึ่งก็มีความเป็นหนังฟิล์มนัวร์ด้วยเช่นกัน
“ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) เป็นจุดเริ่มต้นเลย
“พอรู้ว่าจะเล่าเรื่องเชิงอาชญากรรม ฮิตช์ค็อกก็เป็นอย่างแรกที่ผมนึกถึง” เป็นเอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Samui Song ไว้กับ cineuropa.org ที่สัมภาษณ์เขาในเทศกาลเวนิส
“ผมดูหนังของเขาทุกเรื่อง และผมชอบวิธีการทำหนังเชิงอาชญากรรมของเขา เพราะมันมีเรื่องดราม่าปนเข้ามาด้วย นอกจากนั้นยังรวมไปถึงอิทธิพลอื่นๆ ที่มาจากหนัง crime-noir อเมริกัน เกรดบี ในช่วง 40-50s ที่สร้างง่ายๆ ไวๆ ซึ่งผมเป็นแฟนหนังเหล่านี้เลย”
นอกจากนั้นยังถูกสร้างเพื่อเป็นการคารวะต่อหนังและผู้กำกับที่เขาชอบ เช่น งานของผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลกเชื้อสายสเปนอย่าง ลุยส์ บูญวยล์ ปอร์โตเลส (Luis Buñuel Portolés) ไปจนถึงหนังไทยในยุค 60s
โดยเนื้อหาของเรื่องที่ถูกเปิดเผยออกมา พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ซึ่งเคยรับบทเด่นในหนังของเป็นเอกใน Last Life in the Universe จะกลับมาร่วมงานกับเขาอีกครั้งสำหรับบท ‘วิยะดา’ นักแสดงสาวที่กำลังกลุ้มใจ เมื่อเธอพบว่าสามีชาวต่างชาติ (สเตฟาเน่ เซดนาอุย) กำลังลุ่มหลงหมกมุ่นอยู่กับลัทธิประหลาด ตัวเธอซึ่งได้ถูกชักนำเข้าไปอยู่ร่วมในสถานการณ์ชวนอึดอัด โดยเฉพาะกับผู้นำลัทธิที่ดูน่าเลื่อมใส แต่ก็เต็มไปด้วยความลึกลับ น่าหวาดหวั่น แต่แล้วอยู่ๆ ก็มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งมาเสนอตัวเพื่อจะช่วยกำจัดปัญหาของเธอให้ …แต่เหมือนนับวันจะยิ่งแย่ ลงท้ายกลายเป็นว่าชีวิตของเธอจะยิ่งจมดิ่งไปสู่หนทางที่มืดมนขึ้นอีก
นอกจากนั้นหนังยังเต็มไปด้วยนักแสดงระดับคุณภาพอย่าง วิทยา ปานศรีงาม จาก Only God Forgives และ เพชฌฆาต โดยจะรับบทเป็นผู้นำลัทธิ และ เดวิด อัศวนนท์ ที่โด่งดังจากหนังเรื่อง Countdown ซึ่งเรื่องนี้เขารับบท กาย สเปนเซอร์ ชายแปลกหน้าที่เข้ามาในชีวิตของเธอ
เป็นเอกเล่าถึงที่มาของเรื่องราวใน Samui Song ไว้ว่า “ไอเดียเกิดจากวันหนึ่งผมไปช้อปปิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วไปเจอกับนักแสดงสาวคนหนึ่ง ที่ประเทศไทยเธอค่อนข้างดังทีเดียว เธอมากับสามีที่เป็นชาวต่างชาติ พวกเขาดูดีมากตอนที่อยู่ด้วยกัน แล้วไม่รู้ทำไม ผมสงสัยเอามากๆ เพราะว่าเขาพูดกับเธอเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเธอก็ตอบกลับไปเป็นภาษาไทย เขาก็พูดกลับมาเป็นภาษาอังกฤษอีก ผมว่ามันมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจมาก ผมก็เลยเดินตามพวกเขาไปทั่วซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อจะดูว่าพวกเขาซื้ออะไร
“หลังจากนั้นผมก็ไปว่ายน้ำต่อ ตอนที่กำลังว่ายน้ำอยู่ผมก็คิดขึ้นมาว่าชีวิตพวกเขาจะเป็นอย่างไรตอนอยู่ที่บ้านนะ แล้วผมจินตนาการไปจนกลายเป็นสคริปต์ขึ้นมา (หัวเราะ) แต่ทั้งหมดเป็นจินตนาการของผมนะ เพราะจริงๆ พวกเขาก็น่าจะมีชีวิตที่แฮปปี้ดี”
ส่วนไอเดียเรื่องลัทธิความเชื่อในผู้คนยุคสมัยใหม่ เป็นเอกเล่าไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งคำอธิบายของเขาก็น่าจะทำให้คนไทยเก็ตได้ดีกว่าชาวต่างชาติแน่ๆ
“ตอนที่ผมเขียนสคริปต์ก็มีประเด็นนี้ที่เพิ่มเข้ามา เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นใหญ่ในไทย การคอร์รัปชันในวัด คุณต้องเข้าใจว่าในเมืองไทย ศาสนาพุทธได้กลายเป็นธุรกิจบางอย่างไปแล้ว เพราะว่าบางวัดในเมืองไทยมีการหาเงิน มีกระบวนการจัดการใหญ่โตด้วยยอดเงินบริจาคจำนวนมาก แล้วพระหลายรูปก็คล้ายๆ กับร็อกสตาร์ ศาสนาเหมือนการเล่นกับความไม่แน่นอนของชีวิต เมื่อเราไม่รู้ว่าชีวิตจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นพระสงฆ์เลยเหมือนเป็นความมั่นคงทางจิตใจ
“อย่างเช่น เราควรใส่สีดำในวันพุธ เพราะจะนำโชคดีมาให้ เพื่อนผมซื้อรถใหม่ก็จะไปถามพระว่าซื้อรถสีอะไรดี พระก็จะถามวันเดือนปีเกิด แล้วคำนวณจนได้คำตอบว่าให้ซื้อรถสีเขียว แล้วยังไงล่ะ คุณอยากได้รถสีขาว แต่คุณก็ต้องเชื่อพระ เพราะถ้าคุณอยากรวย คุณก็ต้องใช้รถสีเขียว แล้วไม่น่าเชื่อว่าบางคนที่ขับรถสีขาว แต่พระบอกว่าต้องขับรถสีแดง คุณก็จะต้องไปซื้อสติกเกอร์ที่เขียนว่า ‘รถคันนี้สีแดง’ มาติดเอาไว้บนรถสีขาว แล้วรถคุณจะเป็นรถสีแดง คุณจะได้โชคดี”
ล่าสุดหลังจากจบเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส Samui Song จะเดินทางต่อสู่เทศกาลหนังนานาชาติเมืองโทรอนโต ครั้งที่ 42 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 กันยายนนี้ ส่วนโปรแกรมฉายในไทยคงต้องติดตามกันต่อ มีข่าวแว่วมาเมื่อไร THE STANDARD สัญญาว่าจะรีบนำมาบอกอย่างแน่นอน
อ้างอิง:
- www.facebook.com/samuisongfilm/
- cineuropa.org/vd.aspx?t=video&l=en&did=333689
- theplaylist.net/samui-song-trailer-20170901/
‘ฟิล์มนัวร์’ เป็นชื่อเรียกแนวทางด้านภาพยนตร์ประเภทหนึ่ง คำว่า ‘Noir’ เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า มืด หรือดำ ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อสาร นั่นคือแทบทุกสิ่งที่เกิดขึ้นใน ‘ฟิล์มนัวร์’ มักจะเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม ฆาตกรรม กิเลสตัณหา ความโลภ การแย่งชิง หักหลัง และ ‘ผู้หญิง’ (ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทางเพศ) มักจะเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก ซึ่งทั้งหมดสะท้อนถึงด้านมืดของความเป็นมนุษย์
แต่ในเวลาเดียวกัน เสน่ห์ของหนังฟิล์มนัวร์หลายต่อหลายเรื่องจะทำผู้ชมรู้สึกว่าตัวละครที่กำลังติดตาม ไม่มีใครดีหรือเลวไปเสียหมด ทุกคนล้วนแล้วแต่มีมุมของด้านสะอาดและด้านที่สกปรกในจิตใจด้วยกันทั้งนั้น
ลักษณะเด่นอีกอย่างที่ถือเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวคือการเล่าเรื่องด้านภาพ เหตุการณ์ส่วนใหญ่ในเรื่องมักจะเกิดในเวลากลางคืน การจัดแสงที่ให้อารมณ์ขาว-ดำ มืดทึบ มุมมองของภาพมักอยู่ในที่แคบ ชวนอึดอัด หรือการเฝ้ามองที่มักจะสะท้อนผ่านวัตถุ หรือเต็มไปด้วยม่านหมอก…
ฟิล์มนัวร์รุ่งเรืองสุดขีดในช่วงทศวรรษ 1940-1950 แต่ขณะเดียวกัน มันก็ถูกสร้างออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หนังดังในโลกฟิล์มนัวร์อย่าง Rebecca (1940), Citizen Kane (1941), The Third Man (1941), The Big Sleep (1946), Chinatown (1974), Body Heat (1981), L.A. Confidential (1997), Memento (2000), Sin City (2005) และหนังชั้นดีอีกหลายเรื่องสองพี่น้องโจเอลกับอีธาน ‘โคเอน’ อย่าง Fargo (1996), The Man Who Wasn”t There (2001), Blood Simple (1984)
หลายปีก่อนในช่วงโปรโมตหนังเรื่อง ฝนตกขึ้นฟ้า เป็นเอกเคยเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกที่เขามีต่อหนังฟิล์มนัวร์ว่า
“หนังประเภทนี้ ถ้าเป็นเรื่องที่เราชอบๆ เนี่ย มันมักเป็นเรื่องที่เวลาดูจบแล้ว เราจะไม่เห็นว่าใครเป็นคนเลวจริงหรือดีจริง พระเอกมันก็ไม่ได้ดีจริง แต่มันก็ไม่ได้ชั่ว ไอ้ผู้ร้ายมันก็มีเหตุผลว่าทำไมมันถึงทำชั่วๆ คือถ้าเราเป็นมัน เราอาจจะทำเหมือนมันก็ได้ มันไม่ใช่หนังแบบที่มีคนเลว-คนดีแบบขาวดำชัดเจน
“มันทำชั่วก็เพราะว่ามันต้องทำ มันถูกบีบให้ต้องทำออกมา ส่วนความดีเนี่ยไม่ต้องพูดถึงหรอก เพราะคนเราถ้าใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร มันก็สามารถทำความดีได้ไม่ยาก แต่พอถึงเวลาคับขันหรือมีอะไรมาบีบคั้น ตรงนี้แหละที่มันจะพิสูจน์ว่ามึงเป็นคนดีจริงหรือเปล่า”