×

บิ๊กเทคแข่งขัน AI ด้วย LLMs แต่ Samsung แข่งด้วยฮาร์ดแวร์ พร้อมหรือยังกับยุค ‘Screens Everywhere’ และ AI ในทุกอุปกรณ์

04.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ท่ามกลางการแย่งชิงข้อมูลของบิ๊กเทคตะวันตกเพื่อฝึกฝน AI บริษัท Samsung กลับเลือกเดินเกม AI ด้วยวิธีที่ต่างออกไปด้วยการใช้จุดแข็งในระบบนิเวศอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของตัวเองที่มีอยู่หลากหลายประเภท
  • “ในกรอบเวลาปัจจุบัน Samsung เป็นผู้นำการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานผู้ใช้งานที่แข็งแรง เราจึงอยากใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้คนกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล On-Device AI จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ” Daehyun Kim หัวหน้าฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ประจำศูนย์วิจัย Samsung กล่าว
  • โมเดล AI ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในระบบนิเวศ Samsung อย่าง Galaxy AI ก็เกิดขึ้นจากการตัดสินใจจับมือร่วมกับ Google ทั้งที่บริษัทเองมี ‘Gauss’ โมเดล AI ที่สามารถประมวลผลอินพุตและเอาต์พุตได้ทั้งภาษา โค้ดดิ้ง และภาพ (Multimodal AI) เป็นของตัวเองอยู่แล้ว ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า Samsung กำลังตามหลังคู่แข่งอยู่หรือไม่?
  • “Screens Everywhere” ฟังดูแล้วเป็นอนาคตที่น่าจะชวนบางคนตั้งคำถามว่า “ทุกวันนี้ยังมีหน้าจอให้ดูไม่พออีกเหรอ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป หรือทีวี?” เพราะผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Samsung อย่าง ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาอบอาหาร นั้นต่างมีหน้าจอทั้งหมดเลย อะไรจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนยอมเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์สมาร์ทเหล่านี้?

ในช่วงปี 2006 นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ Clive Humby เคยกล่าวไว้ว่า “ข้อมูลคือน้ำมันแห่งโลกยุคใหม่” ซึ่งสถานการณ์ในโลกเทคโนโลยีปัจจุบันก็สะท้อนคำกล่าวนั้นได้เป็นอย่างดี เมื่อบริษัทจำนวนมากต่างแข่งกันเพื่อชิงการครอบครองข้อมูล โดยเฉพาะกับกลุ่มบริษัทบิ๊กเทคที่กำลังเร่งแข่งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีข้อมูลเป็นดั่งเชื้อเพลิงที่เข้ามาเติมไฟให้กับความอัจฉริยะในตัว AI

 

ถามว่าข้อมูลนั้นสำคัญขนาดไหน? ก็สำคัญถึงขั้นที่บริษัทบิ๊กเทคยอมเสี่ยงที่จะได้ข้อมูลมาฝึก AI แม้ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับข้อพิพาททางกฎหมายจากการฟ้องร้องของเจ้าของข้อมูลก็ตาม

 

กรณีตัวอย่างที่เราได้เห็นคือการเดินหน้าฟ้อง Google เมื่อปลายเดือนมีนาคม โดยองค์กรต่อต้านการผูกขาดในการดำเนินธุรกิจประจำประเทศฝรั่งเศส (Autorité de la concurrence) ฐานใช้ข้อมูลติดลิขสิทธิ์ของสำนักข่าวท้องถิ่น หรือในปลายปีที่แล้วที่เกิดขึ้นระหว่าง OpenAI กับสำนักข่าว The New York Times

 

ท่ามกลางโอกาสและความท้าทายนี้ หนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้ Samsung ได้เลือกเดินเกม AI ด้วยกลยุทธ์ที่ใช้จุดแข็งของระบบนิเวศอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของตัวเองที่มีอยู่หลากหลายประเภท ซึ่งต่างออกไปจากบริษัทเทคโนโลยีฝั่งตะวันตกที่เน้นพัฒนาโมเดลภาษาเป็นหลักเมื่อเทียบกับซัมซุง

 

SmartThings

SmartThings แพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้งานติดตามสถานะของเครื่องใช้ไฟฟ้าสมาร์ทโฮมได้

 

Hybrid AI ตำรากลยุทธ์ปัญญาประดิษฐ์ของซัมซุง

 

ข้อแตกต่างของ Samsung ในสังเวียนการแข่งขัน AI จากบิ๊กเทครายอื่นคือการที่ผสมผสานระหว่างการนำ AI เข้ามาประมวลผลบนผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (On-Device AI) ร่วมกับการดึง AI จากคลาวด์มาใช้ ซึ่งโดยรวมเรียกว่า Hybrid AI เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน และทำให้ฟังก์ชันบางอย่างเช่น การแปลภาษาหรือปรับแต่งภาพสามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้

 

“ในกรอบเวลาปัจจุบัน Samsung ถือได้ว่าเป็นผู้นำการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานของผู้ใช้งานที่แข็งแรง เราจึงอยากใช้ข้อได้เปรียบส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้คนกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล On-Device AI จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และแม้ว่าการประมวลผลบนเครื่องจะไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่ผู้ใช้งานสามารถอุ่นใจขึ้นได้ว่าข้อมูลบางประเภทจะอยู่แค่ในตัวเครื่องและไม่รั่วไหลออกไป” Daehyun Kim หัวหน้าฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ประจำศูนย์วิจัย Samsung กล่าวกับสื่อมวลชนจากประเทศไทยรวมถึง THE STANDARD WEALTH ที่ได้ไปเยือนถึงบ้านเกิด

 

Daehyun Kim หัวหน้าฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ประจำศูนย์วิจัย Samsung

 

นอกเหนือจากสมาร์ทโฟนซีรีส์ Galaxy ที่ได้รับการโปรโมตด้านฟังก์ชัน AI อย่างล้นหลาม Samsung ยังมีตู้เย็น เครื่องซักผ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ที่บริษัทผนวกเทคโนโลยี AI เข้ามาเสริมเพื่อตอบรับเทรนด์สมาร์ทลิฟวิ่ง (Smart Living) โดยเป้าหมายของ Samsung ถูกแถลงไว้อย่างชัดเจนในงานว่า ‘Personalized AI for Everyday Life’ ที่ต้องการให้ AI เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน

 

ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ Samsung สาธิตให้ดูประกอบไปด้วย ตู้เย็น Bespoke 4-Door Flex™ ที่มากับฟังก์ชัน AI สำหรับแจ้งเตือนสิ่งของที่มีอยู่ในตู้เย็น วันหมดอายุ หรือแนะนำสูตรอาหารจากสิ่งที่มีภายในตู้ที่จะแสดงออกมาผ่านจอขนาด 32 นิ้วบนตู้เย็น ซึ่งสามารถเปิดวิดีโอยูทูบ เลือกเพลงบน Spotify และเชื่อมต่อปฏิทิน Google หรือ Outlook ได้อีกด้วย

 

ตู้เย็น Bespoke 4-Door Flex™ ที่มีทั้ง YouTube, Google และแอปพลิเคชันอื่นๆ

 

อีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่น่าสนใจคือ โทรทัศน์ Samsung Neo QLED 8K ซึ่งมีการใช้ AI เข้ามาปรับให้ภาพคมชัดมากสุดในระดับความชัด 8K ด้วยชิป NQ8 AI Gen3 เพราะหลายครั้งคอนเทนต์ต้นทางอาจมีปัญหาด้านความคมชัดในการแสดงผล แม้ว่าศักยภาพโทรทัศน์จะดีมากก็ตาม ซึ่งฟีเจอร์ 8K AI Upscaling Pro ก็สามารถมาช่วยเพิ่มประสบการณ์การรับชมได้ แต่ข้อจำกัดยังอยู่ในรูปแบบคอนเทนต์บางประเภทที่ยังไม่รองรับ เช่น การเชื่อมต่อจากพีซี และการใช้งานในโหมดเล่นเกม

 

บางคนอาจมีคำถามว่าฟังก์ชัน AI จำเป็นขนาดไหนในการนำมาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน? ประเด็นนี้เรามีข้อสงสัยเช่นเดียวกันว่าชีวิตของมนุษย์จะสะดวกขึ้นได้อีกแค่ไหน

 

Moohyung Lee หัวหน้าฝ่ายประสบการณ์ลูกค้าประจำ Samsung อิเล็กทรอนิกส์ตอบในประเด็นนี้ว่า “ตอนนี้เรามีระบบที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์ม SmartThings ที่สั่งการด้วยเสียงได้โดย Bixby (ผู้ช่วยที่คล้ายกับ Siri ของ Apple) ให้ส่วนต่างๆ ของบ้านเชื่อมถึงกัน สิ่งที่เรามองกับบทบาทของ AI ในบ้านคือการเข้าใจความต้องการของผู้อยู่อาศัย และทำให้งานบ้านง่ายขึ้น ซึ่งในอนาคตเรามีวิสัยทัศน์ที่อยากทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าสื่อสารกันเองได้ รู้ได้ว่ามีอะไรต้องทำเพื่อลดภาระให้เจ้าของมีเวลาไปสร้างประโยชน์กับชีวิตและงานของตัวเองมากขึ้น”

 

ทำไม AI ที่ดีไม่จำเป็นต้องพัฒนาเองทั้งหมด?

 

สำหรับโมเดล AI ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในระบบนิเวศ Samsung อย่าง Galaxy AI ก็เกิดขึ้นจากการตัดสินใจจับมือกับ Google ทั้งที่บริษัทเองมี ‘Gauss’ โมเดล AI ที่สามารถประมวลผลอินพุตและเอาต์พุตได้ทั้งภาษา โค้ดดิ้ง และภาพ (Multimodal AI) เป็นของตัวเองอยู่แล้ว ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า Samsung กำลังตามหลังคู่แข่งอยู่หรือไม่?

 

Daehyun Kim กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “เรามีโมเดล Gauss เป็นของตัวเองก็จริง แต่เหตุผลที่ Samsung พัฒนาโมเดลนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อการแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่น แต่เพื่อให้พนักงานเข้าใจกลไกการทำงานของ AI และใช้ประมวลผลข้อมูลความลับทางธุรกิจให้อยู่ภายในสิ่งที่บริษัทควบคุมได้ผ่านการสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง และสำหรับการร่วมมือกับ Google เรามองว่าเป้าหมายของ Samsung คือการให้โซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งาน ไม่ว่าโซลูชันนั้นจะเป็นของเราหรือของคู่ค้าเราก็ตาม”

 

นอกจากนี้ การใช้งาน AI ก็จำเป็นต้องอาศัยชิปที่สามารถประมวลผลร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ได้ โดย Samsung เลือกจับมือกับ Qualcomm เพื่อร่วมกันออกแบบและสร้างชิปที่เป็นตัวขับเคลื่อนสินค้า Samsung อย่างสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ททีวี

 

การร่วมมืออย่างเปิดกว้างของ Samsung กับพันธมิตรอย่าง Google และ Qualcomm ทำให้ Samsung สามารถเข้าถึงจุดแข็งของคู่ค้าได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและทรัพยากรในการพัฒนาเอง โดยเฉพาะในโลกของ AI ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด การทำงานร่วมกันอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการปรับตัวและนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดเข้ากับจุดแข็งเรื่องสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองให้ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

 

การตัดสินใจบนเส้นทางนี้ของ Samsung เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่แสดงให้เห็นว่า การสร้างนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นงานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่โจทย์สำคัญคือการเน้นประสบการณ์ผู้ใช้งานให้ได้ดีที่สุด

 

โลกในยุคที่ทุกอย่างสมาร์ท ตลาดประเทศไทยพร้อมให้ Samsung หรือยัง?

 

หลังจากเราได้พอเห็นทิศทางกลยุทธ์ AI ของ Samsung ที่กำลังมุ่งไปสู่ยุคที่บริษัทเรียกว่า ‘Screens Everywhere’ ฟังดูแล้วเป็นอนาคตที่น่าจะชวนบางคนตั้งคำถามว่า “ทุกวันนี้ยังมีหน้าจอให้ดูไม่พออีกเหรอ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป หรือทีวี?” ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่แปลกเพราะผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Samsung อย่าง ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาอบอาหาร นั้นต่างมีหน้าจอทั้งหมด

 

หน้าจอบนเครื่องซักผ้า Samsung ตอกย้ำพันธกิจบริษัท ‘Screens Everywhere’

 

หากแต่ถ้ามองในมุมของพฤติกรรมเราทุกวันนี้ ที่บางคนจำเป็นต้องมีสมาร์ทโฟนติดตัวในระหว่างที่ทำอาหารหรือซักผ้า การมาของหน้าจอในเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอื่น อาจเป็นวิธีที่ทำให้เราไม่ต้องมือติดกับสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลาก็ได้ แต่ยังสามารถเปิดสื่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์หรือสั่งการเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ผ่าน Bixby เพราะระหว่างทำงานบ้าน การใช้สมาร์ทโฟนก็อาจไม่สะดวกสักเท่าไร

 

อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย ความท้าทายของสินค้าสมาร์ทโฮมในปัจจุบันคืออัตราการใช้งานที่ถือได้ว่ายังจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยข้อมูลคาดการณ์รายได้รวมของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าสมาร์ทโฮมจาก Statista พบว่า รายได้รวมของตลาดนี้ในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 233.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าที่น้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์

 

มากไปกว่านั้น ฐานเศรษฐกิจเคยรายงานไว้ว่า สินค้าสมาร์ทโฮมที่คนไทยใช้ในปัจจุบัน 3 อันดับแรกคือ 1. อุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด 2. อุปกรณ์หลอดไฟ และ 3. อุปกรณ์บันเทิง เช่น ลำโพงอัจฉริยะหรือกล่องสตรีมมิง ซึ่งไม่ใช่สินค้าใหญ่เหมือนกับที่ได้ยกตัวอย่างมาในส่วนของ Samsung โดยข้อจำกัดที่ยังไม่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายสำหรับสินค้าขนาดใหญ่ อาจมาจากความเข้าใจและเรื่องของราคา

 

ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่น่าจับตาดูต่อไปคือ กลยุทธ์ของ Samsung ที่จะสื่อสารให้กับลูกค้าชาวไทยอย่างไรให้พวกเขาเข้ามาสู่ระบบนิเวศสมาร์ทโฮม เพื่อให้เป้าหมาย ‘Personalized AI for Everyday Life’ ที่บริษัทวางไว้ผ่านการนำ AI เข้ามาใช้ร่วมกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นบรรทัดฐานชีวิตประจำวันของคนในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising