×

SAMART ลุ้นพลิกมีกำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี พร้อมศึกษาการกลับมาจ่ายปันผล ปีนี้มีแผนรุกธุรกิจพลังงานสะอาดและ Carbon Credits

20.01.2025
  • LOADING...
samart-returns-profit

บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธินับตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 จากหลายปัจจัย รวมถึงผลกระทบจากโรคโควิดที่แพร่ระบาดในไทย

 

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2567 จะพลิกกลับมามีกำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี อีกทั้งจะพิจารณากลับมาจากเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท


“หลายๆ ปีที่ผ่านมาเราซัฟเฟอร์มาจากหลายอย่าง ทั้งผลกระทบจากโรคโควิด ทำให้บริษัทขาดทุน หรือกว่าจะปั้นธุรกิจขึ้นมาได้ต้องใช้เวลา ตอนนี้เป็นช่วงที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลงานที่ทำไว้แล้ว ที่ผ่านมาบริษัทปรับตัวรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ มีการรุกไปสู่ธุรกิจใหม่และสร้างการเติบโตในธุรกิจเดิม” วัฒน์ชัยกล่าว

 

นอกจากแผนธุรกิจของบริษัท ที่ผ่านมาได้เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลายด้านมาให้บริการให้กับลูกค้าแล้วทั้ง AI, Cloud และ Big Data เป็นหนึ่งในโซลูชันที่นำเสนอให้บริการกับลูกค้า เช่น กรมที่ดิน และมีระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) มาให้บริการกับลูกค้า

 

“ในปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว แต่ผลการดำเนินงานของเรายังอยู่ในระดับที่ดี ส่วนปีนี้จะเป็นปีที่ดีที่สุดของกลุ่มสามารถในรอบ 10 ปี ในทุกๆ สายธุรกิจเชื่อว่าจะมีกำไรได้อย่างแน่นอน จากแผนการรุกไปในธุรกิจใหม่และรักษาการเติบโตในธุรกิจเดิม ที่สำคัญเรามีแผนใหญ่ โดยจะขยายธุรกิจพลังงานที่อยู่ในบริษัท เทด้า จำกัด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ จัดหาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ให้ครอบคลุมเรื่องพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม รับกับเทรนด์ที่ภาคธุรกิจให้ความใส่ใจกับความยั่งยืนมากขึ้น โดยกำลังศึกษาเกี่ยวกับ Carbon Credits ซึ่งหวังว่าธุรกิจใหม่จะสร้างรายได้ประจำให้กับกลุ่มสามารถต่อไป” วัฒน์ชัยกล่าว

 

ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 โต 30%

 

ขณะที่ทิศทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 1.35 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2567 พร้อมทั้งมีแผนในการสร้างสัดส่วนของรายได้ประจำเพิ่มขึ้น 25% อีกทั้งคาดว่ามีโอกาสเห็นการเติบโตของกำไรในปีนี้ดีขึ้นจากปี 2567

 

สำหรับในสายธุรกิจ Digital ICT Solutions นำโดยบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL ในปีนี้มุ่งเพิ่มฐานลูกค้าและพันธมิตรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมลดความเสี่ยงจากปัจจัยรอบด้าน โดยเน้นการสร้างโครงการใหญ่ เพื่อช่วยให้ลูกค้าลดภาระด้านงบประมาณ ด้วยรูปแบบ Outsource Services สร้างรายได้ประจำระยะยาว เพื่อความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ

 

ปัจจุบันมีงานในมือแล้วมูลค่ากว่า 5.5 พันล้านบาท คาดว่าทยอยรับรู้รายได้ในปีต่อไป โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2568 อยู่ที่ 6.5 พันล้านบาท มั่นใจว่าปีนี้สายธุรกิจ ICT จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 40% ด้วยโอกาสจากหลายโครงการที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว ประกอบกับโครงการใหม่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ จากภาครัฐ เพื่อต่อยอดการให้บริการด้านต่างๆ คาดว่าในปีนี้มีการเซ็นสัญญารับงานใหม่มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะมีโครงการใหม่ๆ ที่เข้าร่วมประมูล ทั้งโครงการรูปแบบ Outsource Services ขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่ามีการเซ็นสัญญาได้งานที่มีมูลค่าสูงสุดในรอบประมาณ 10 ปี

 

ภายใต้การดำเนินงานของ 3 สายธุรกิจ ได้แก่

 

  1. สายธุรกิจ Network Solutions ให้บริการโซลูชันครบวงจรด้านโครงข่ายพื้นฐานสื่อสารความเร็วสูง
  2. Enhanced Technology Solutions โซลูชันครบวงจรที่ผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย
  3. Business Applications แอปพลิเคชันที่สนับสนุนด้านการประกอบธุรกิจด้วยซอฟต์แวร์และแอปชั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของลูกค้า

 

มูลค่างานโครงการรวมของ บมจ.สามารถเทลคอม ในปี 2568

มูลค่างานโครงการรวมของ บมจ.สามารถเทลคอม ในปี 2568

 

ทั้งนี้ สายธุรกิจทั้งสามสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนในวงกว้าง ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลได้อย่างฉับไว ด้วยเทคโนโลยี FTTx, MPLS หรือ VSAT ในด้านการบริหารจัดการ Operation ขององค์กร ด้วยระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร หรือ ERP และในด้านการพัฒนาบุคลากรด้วย e-Learning Solutions

 

อีกทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มด้วยนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานเฉพาะด้าน เช่น โซลูชันด้านสาธารณูปโภคไฟฟ้า เช่น AMR, AMI และ Smart Meter, ระบบงานด้านการเงินและการธนาคาร เช่น Core Banking Solutions และ e-Payment Solutions, บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการในธุรกิจภาคการขนส่ง เช่น Electronic Data Interchange (EDI) และ Supply Chain Management

 

นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครือที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิต Tailor-Made Software ที่นำเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง AI และ Machine Learning เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโซลูชันที่นำเสนอบริการแก่ลูกค้า

 

SAV ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 แตะ 6 พันล้านบาท

 

สายธุรกิจ Utilities & Transportations นำโดยบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้ที่ 6 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 9% ด้วยโอกาสทางธุรกิจหลายด้าน โดย SAV เป็นผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาภายใต้ CATS คาดว่ารายได้จะเติบโตกว่า 8% ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจการบินเริ่มขยายตัวเต็มที่หลังวิกฤตโรคโควิด โดยรัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

 

โดยช่วงปลายปี 2566 ได้มีการเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ดาราสาคร ที่เกาะกง และภายในปีนี้จะมีการเปิดสนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารมากถึง 7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเที่ยวบินโดยรวมเพิ่มขึ้นถึงกว่า 100,000 เที่ยวบิน ซึ่งจะส่งผลให้ SAV มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่เป็นบวกอย่างโดดเด่นในปีนี้

 

SAMART ลุ้นพลิกมีกำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี

จำนวนเที่ยวบินของสนามบินกัมพูชาในปี 2567

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจด้าน Power Construction & Services โดยมีบริษัทในกลุ่มคือ บริษัท เทด้า จำกัด และบริษัท ทรานเส็ค เพาเวอร์ เซอร์วิส จำกัด ปัจจุบันมีงานในมือรวมกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง แต่ยังมีแผนรุกเข้าสู่การให้บริการอัปเกรดสถานีไฟฟ้าแบบเดิมให้เป็น Digital Substation ด้วย โดยมีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ ในปีนี้กว่า 3 พันล้านบาท

 

เล็งรุกธุรกิจ Carbon Credits

 

อีกทั้งยังมีแผนขยายออกไปลงทุนธุรกิจใหม่ที่เป็นเทรนด์ของธุรกิจในอนาคต คือกลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy & Environment) รวมทั้งการขยายธุรกิจพลังงานให้ครอบคลุมเรื่องพลังงานสะอาดภายใต้บริษัท เทด้า จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาทั้งการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด, ธุรกิจเกี่ยวกับ Carbon Credits รวมทั้งการศึกษาหาโอกาสในการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะที่ในปีนี้คาดว่าภาพของกลุ่ม Energy & Environment จะชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากธุรกิจเติบโตภายใน 2-3 ปีข้างหน้าอาจพิจารณา Spin-Off แยกธุรกิจกลุ่ม Energy & Environment เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ด้านโครงการ Direct Coding ปัจจุบันยังเหลือสัญญาอีก 5 ปี เฉลี่ยรายได้ปีละกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทยังมีแผนที่จะขยายฐานธุรกิจบริการระบบพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ หรือ Direct Coding ไปสู่การจัดเก็บภาษีสินค้าอื่นๆ เช่น ยา, อาหารเสริม, น้ำมัน และซอฟต์ดริงก์อีกด้วย

 

คาด SDC หยุดขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปี

 

ส่วนสายธุรกิจ Digital Communications ที่ดำเนินธุรกิจโดยบริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SDC ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ไว้ที่ 1 พันล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 50% อีกทั้งจะเป็นปีแรกในรอบ 10 ปีที่ SDC จะหยุดการขาดทุน และกลับมามีผลการดำเนินงานเป็นบวก จากการวางรากฐานทางธุรกิจที่เริ่มแข็งแรง เพื่อโอกาสสร้างรายได้ประจำให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อไป โดยเฉพาะโครงการ DTRS มีการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายเครื่องวิทยุลูกข่ายและค่าใช้บริการ Airtime ประมาณ 800 ล้านบาท และพุ่งเป้าขยายจำนวนผู้ใช้บริการไปยังหน่วยงานผู้ให้บริการประชาชนทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การปกครองส่วนท้องถิ่น, บรรเทาสาธารณภัย และการแพทย์ฉุกเฉิน โดยตั้งเป้าจะมีผู้ใช้บริการ 90,000 รายในปีนี้ และ 120,000 รายในปี 2569

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising