×

Sam Smith กับคอนเสิร์ตครั้งแรกในไทย ที่มีมากกว่าเสียงทรงพลัง แต่คือความจริงใจที่เปี่ยมล้น

29.10.2018
  • LOADING...

ความสามารถ ความซาบซึ้ง ความสนุก ความเป็นกันเอง ความเป็นอิสระ เราคงเขียนต่อไปได้อีก 80 บรรทัดเพื่อชื่นชมคอนเสิร์ตแรกในประเทศไทยของ แซม สมิธ กับทัวร์ The Thrill of It All ที่เพิ่งจบเมื่อคืนนี้ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายของเอเชีย ก่อนที่แซมจะไปทัวร์ที่นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย

 

 

ตลอดกว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่งของคอนเสิร์ต แซมได้ขนเพลงจากสองอัลบั้ม In The Lonely Hour (2014) และ The Thrill Of It All (2017) พร้อมกับแทรกผลงานเพลงที่ไปร้องฟีเจอริงกับศิลปินสายอิเล็กทรอนิกส์ แคลวิน แฮร์ริส กับเพลงอันดับหนึ่งล่าสุด Promises ที่แซมปลดปล่อยความขี้เล่นโชว์ท่าเต้น Vogueing เล็กน้อย และยังมีเพลง Latch แบบเวอร์ชันอะคูสติก ที่เขาทำกับสองพี่น้อง โฮเวิร์ด และ กาย ลอเรนซ์ แห่ง Disclosure ที่ช่วยทำให้แซมแจ้งเกิดในปี 2012 ส่วนอีกเพลงที่ทำกับ Disclosure เหมือนกัน Omen แซมก็มีลีลาโยกย้ายที่ทำให้เรานึกถึง จอร์จ ไมเคิล อยู่ไม่น้อย

 

คอนเสิร์ตเปิดด้วยเพลง One Last Song ซิงเกิลที่สองจากอัลบั้มล่าสุด ก่อนจะเข้าเพลง I’m Not The Only One ที่ร้องกันได้ทั้งฮอลล์ ต่อด้วย Lay Me Down ซิงเกิลแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวของแซมที่ถ่ายทอดได้อย่างตราตรึงใจ และตอกย้ำวลีภาษาอังกฤษที่ว่าเขาคือหนึ่งใน ‘Voice of Our Generation’ ที่ใช้บทเพลงและเส้นเสียงขับเคลื่อนวัฒนธรรมดนตรีและสังคมอย่างต่อเนื่อง

 

เช่นเดียวกับ Him เพลงกลิ่นอายกอสเปล ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของผู้ชายรักเพศเดียวกันกับพระเจ้า สำหรับเราคือการแสดงที่ดีสุดของค่ำคืน เพราะแซมสามารถผสมผสานความเกรี้ยวกราด ความอ่อนไหว และกระชากอารมณ์ในเพลงได้อย่างมีชั้นเชิง รวมไปถึงเพลงฮิตต่างๆ ของเขาเช่น Too Good At Goodbyes, Like I Can หรือที่เป็นอมตะไปแล้วอย่าง Stay With Me ที่หลายคนต่างต้องกอดคอกันร้องตาม หรือโบกมือถือที่เปิดแฟลชเป็นแสงไฟ

 

แม้ภาพลักษณ์ของแซมภายนอกจะดูนิ่งและมีเพลงที่ไม่เหมาะสำหรับคอนเสิร์ตพลังเยอะๆ แต่ดีไซเนอร์ เจสัน เชอร์วูด ก็ได้สร้างสรรค์เวทีออกมาเป็นรูปทรงอวกาศที่มีความเรียบหรูและเข้ากับการดีไซน์ไฟของ ทิม รูตเลดจ์ และสีสันเสื้อผ้าที่แซมใส่ อย่างของแบรนด์ Dior และ Dries Van Noten

 

และแม้ว่าการออกแบบเวทีจะลดขนาดมาจากทัวร์ในอเมริกาและยุโรป แต่เรารู้สึกว่าการครีเอตลูกเล่นต่างๆ ด้านดีไซน์ของโชว์ก็สะกดคนดูได้จนไม่เห็นช่วงโหว่อะไรเลย แถมแซม สมิธ ยังคอยแทรกบทสนทนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความกันเองเช่น “ผมอยากให้ฮอลล์นี้เหมือนคลับเกย์ที่ใหญ่สุดที่คุณเคยเดินเข้า” ก่อนเข้าเพลง Promises การแนะนำวงดนตรีและนักร้องแบ็กอัปที่ดูไม่เหมือนท่องสคริปต์มา หรือตอนที่เขาชี้ไปยังกลุ่มพนักงานเสิร์ฟจากร้านอาหาร Gaggan ที่เพิ่งไปกินคืนก่อน และเชิญมานั่งอยู่โซนหน้าเวที

 

ซึ่งจากทั้งหมดที่ว่ามา อย่างหนึ่งที่เราสัมผัสได้ชัดและรู้สึกดี คือในช่วงแรกที่แซมเข้าวงการ เขามีความเกร็งและไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตัวเอง แถมต้องแบกภาระการเป็นศิลปินกระแสหลักรุ่นใหม่ที่เปิดตัวเป็นเกย์และมาพร้อมกฎระเบียบมากมายที่ซับซ้อน แต่ในวันคอนเสิร์ตเขาได้ทลายกำแพงของตัวเอง และสนุกกับชีวิตในการเป็นศิลปินอายุ 26 ปีอย่างเต็มที่

 

 

พูดได้ว่า ‘คุณภาพ’ ของศิลปินคนนี้ที่เติบโตมาในเมืองเล็กๆ ชื่อ บิชอปส์ สตอร์ทฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และเป็นเจ้าของ 4 รางวัลแกรมมี่ หนึ่งรางวัลออสการ์ พร้อมขายอัลบั้มแรกในชีวิตได้ 12 ล้านก๊อบปี้ (ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นภายในเพียง 6 ปี) คุณภาพเหล่านั้นได้แสดงออกมาในคอนเสิร์ตครั้งนี้อย่างเต็มที่

 

เราไม่แปลกใจว่าทำไมบทบาทความสำคัญของเขาถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการวางตัวและความจริงใจกับทุกถ้อยคำที่เขาพูด ทุกคำที่เขาร้องบนเวที สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลว่า เราโชคดีมากๆ ที่ยังมีนักร้องอย่างแซมที่เตือนสติว่า ‘คุณค่า’ ของดนตรีคืออะไร และทำไมการเป็นศิลปินมีความหมายมากกว่าเปลือกนอกที่ปรุงแต่งอย่างดิบดีจนเราไม่สามารถสัมผัสตัวตนที่แท้จริงของเขา ซึ่งกับแซมเราคงไม่ต้องห่วงอีกต่อไป

 

ภาพ: Live Nation BEC-Tero

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising