ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากเหตุการณ์วินาศกรรมการกราดยิงที่ประเทศนิวซีแลนด์ วงการบันเทิงต่างประเทศเองก็เจอมรสุมรายวันที่หนักหน่วงรอบด้าน ทั้งยังเปิดเผยให้เห็นด้านมืดของ ‘การมีชื่อเสียง’ ที่หลายคนยังพยายามดิ้นรนไขว่คว้า ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสารคดี Leaving Neverland ที่ทำให้ผลงานเพลงของ ไมเคิล แจ็คสัน ถูกแบนเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น หรืออีกประเด็นหนึ่งที่อเมริกาเกี่ยวกับการจับกุมและเปิดโปงนักแสดง ลอรี โลลิน และ เฟลิซิตี ฮัฟฟ์แมน จากซีรีส์ Desperate Housewives ที่โกงและจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ลูกตัวเองผ่านเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ส่วนที่เกาหลีใต้ก็มีประเด็นของ ซึงรี สมาชิกวง BIGBANG ที่มีปัญหาพัวพันเกี่ยวกับการค้าประเวณี
แต่ในสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยความมืดมน ก็มีแสงสว่างออกมาจากบทสัมภาษณ์ของนักร้องหนุ่ม แซม สมิธ กับ จามีลา จามิล พิธีกรและนักกิจกรรมทางสังคม ชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียกับปากีสถาน ผ่านทางแพลตฟอร์ม IGTV ‘@I_Weigh’ ซึ่งในบทสัมภาษณ์กว่า 30 นาที แม้สิ่งที่แซมได้บอกเล่าเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ จะถือว่าหนักหน่วงสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง แต่ก็ถือว่าทรงพลังและมีคุณค่าแก่ทุกคนที่ได้ดู โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ยังคงอยู่ในกรอบและสร้างความกดดันต่างๆ ว่า ‘ความสวย’ ‘ความหล่อ’ หรือ ‘จะประสบความสำเร็จ’ เราต้องดูดีเหมือนคนในป้ายโฆษณาสินค้าที่ติดอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง
แซมเล่าว่าตั้งแต่เด็กเขาเผชิญแรงกดดันด้านภาพลักษณ์ร่างกายหรือ Body Image เพราะรูปร่างที่อ้วนกลม ตอนอายุ 8 ขวบเขาขอให้คุณแม่เขียนจดหมายส่งให้อาจารย์ เพื่อจะได้ไม่ต้องว่ายน้ำในวิชาพลศึกษา และเมื่ออายุได้ 11 ปี ปัญหาด้านการโดนล้อและความไม่มั่นใจในตัวเองก็รุนแรงขึ้น จนเขาต้องไปพบแพทย์ และมีการดูดไขมันที่หน้าอกตอนอายุ 12 เพราะร่างกายเขาผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป (ฮอร์โมนหลักของเพศหญิง) แต่นั่นทำให้เขารู้สึกดีได้ไม่นาน และน้ำหนักก็กลับมาภายในสองสัปดาห์ เพราะเขายังไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของฮอร์โมนและการควบคุมอาหาร
หลังจากนั้นช่วงมัธยมปลายแซมลดน้ำหนักลงไปมาก และถึงแม้เขาจะ Come Out และเปิดเผยกับครอบครัวว่าตัวเองเป็นเกย์ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ แต่พออายุ 16-18 ปี เขาตัดสินใจใส่เสื้อผ้าผู้หญิงและแต่งหน้าไปโรงเรียน Bishop’s Stortford โรงเรียนประจำหมู่บ้านที่มีประชากรไม่ถึง 40,000 คน พออายุได้ 18 ปี แซมย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน ซึ่งเขาก็บอกว่าไม่ได้สวยหรูตามภาพที่คิดไว้ และตอนอายุ 20 ปี ช่วงที่ซิงเกิลเพลง Latch ที่ทำกับ Disclosure ออกมา น้ำหนักเขาก็กลับขึ้นมาและต้องปิดบังหุ่นด้วยการใส่สูทที่หลายคนคงจำภาพได้ ช่วงที่อัลบั้มแรกของเขา In The Lonely Hour ออกมาไล่เลี่ยกัน
แซมได้บอกเหตุผลที่เขาออกมาพูดถึงเรื่องภาพลักษณ์ร่างกาย (Body Image) ในตอนนี้ ก็เพราะผู้ชายที่มีชื่อเสียงในกระแสหลักของฮอลลีวูดและวงการเพลง Top 40 มักถูกตีกรอบว่าต้องดูดีเพอร์เฟกต์อยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้เองจะสร้างปัญหาและแรงกดดันที่เรียกว่า ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับการที่สื่อต่างๆ เริ่มยอมรับผู้หญิงหลากหลายรูปแบบมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังสร้างความฮือฮาก็คือ แซมได้บอกว่าเขาเป็นคนประเภท Non-Binary ที่ไม่แบ่งแยกเพศว่าเป็นหญิงหรือชาย โดยบอกว่า “เหมือนมีสงครามขนาดย่อมอยู่ในร่างกายและความคิดฉันเสมอ…บางครั้งฉันก็คิดเหมือนผู้หญิง และบางครั้งก็ถามตัวเองว่า อยากแปลงเพศไหม”
แซมยังพูดติดตลกอีกด้วยว่า “ฉันอยู่รอบตัวผู้ชายที่ชอบเพศตรงข้ามมาเยอะ จนรู้ว่าพวกที่ชอบบอกว่าชอบเพศตรงข้าม จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างที่พูด” โดยก็มีคนดังอีกหลายคนที่ได้ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองเป็น Non-Binary หรือ Gender Fluid ในสองสามปีที่ผ่านมา ทั้ง ไมลีย์ ไซรัส, คารา เดเลวีน, เอซรา มิลเลอร์ และ อแมนด์ล่า สเตนเบิร์ก ซึ่งก็ต้องบอกว่าด้วยการเดินหน้าของสังคมและการยอมรับที่มากขึ้นโดยเฉพาะในวงการบันเทิง การที่ผู้คนจะออกมาเปิดเผยสถานะเหล่านี้ก็ถือว่าง่ายขึ้น ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่แค่ออกมาบอกว่าตนเป็นเกย์ก็จะกลายเป็นข่าวใหญ่โต
ต้องขอชื่นชม แซม สมิธ ที่กล้าออกมาเปิดใจเรื่องราวเหล่านี้ และรู้ว่าตัวเองได้เป็นกระบอกเสียงสำคัญของคนยุคใหม่ที่มีอิทธิพลพร้อมขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ แม้ว่าก่อนหน้านี้แซมก็เคยโดนโซเชียลถล่ม โดยเฉพาะจากกลุ่ม LGBTQ+ เอง หลังเขาขึ้นรับรางวัลออสการ์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 2016 และกล่าวบนเวทีว่าเป็นเกย์คนแรกที่ได้รับออสการ์ ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่แซมเข้าใจผิดจากการอ่านบทสัมภาษณ์ของ เอียน แม็กเคลเลน ที่ระบุว่าไม่เคยมีเกย์ชนะรางวัลออสการ์สาขานำชายยอดเยี่ยมมาก่อน และด้วยกระแสที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงเวลานั้น แซมจึงหยุดเล่นโซเชียลไปเกือบปี แต่เราก็เชื่อว่าเพราะการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ แซมจะได้รับคำยกย่องมากมาย และหวังว่าเขาจะไปให้สุด สร้างจุดยืนใหม่ๆ ที่ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกันทั่วโลก โดยเฉพาะกับคนที่กำลังค้นหาตัวเองและไม่ได้ยืนอยู่บนบรรทัดฐานเดิมๆ
สำหรับแอ็กเคานต์อินสตาแกรม @I_Weigh ที่บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นก็ช่วยผลักดันให้คนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ดีๆ กับเรื่องราวรูปร่างหน้าตา (Body Positive) โดยผู้ก่อตั้ง จามีลา จามิล ริเริ่มเพจนี้ในปี 2018 หลังจากที่ตัวเองไปพบภาพในช่อง Explore ของอินสตาแกรมที่เป็นรูปครอบครัวคาร์ดาเชียน พร้อมน้ำหนักของแต่ละคนพร้อมแคปชันที่เขียนว่า ‘คิมเธอดูน้ำหนัก 56 เหรอ?’ ซึ่งเพราะภาพนี้จามีลาเลยทนไม่ไหว และอยากปลุกระดมให้คนรักตัวเองผ่าน ‘I Weigh’ ที่ทุกวันนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 460,000 คน และยังชักชวนให้ทุกคนร่วมกิจกรรมด้วยการนำภาพขาวดำของตัวเอง พร้อมใส่เทมเพลตคำว่า ‘I’m Not Ashamed’ ซึ่งจามีลาที่เป็นนักแสดงซีรีส์ The Good Place ทางช่อง NBC ได้บอกว่าเธออยากให้รูปเหล่านี้ “มีชีวิตเป็นของตัวเอง และรวมตัวกันเป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความรักตัวเอง”
Cover Photo: Facebook: Sam Smith / James Barber
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์