×

ออกประกาศหักเงินเดือนข้าราชการ-ลูกจ้างประจำรัฐใช้หนี้ กยศ. แล้ว คาดเริ่มตุลาคมนี้

โดย THE STANDARD TEAM
07.08.2018
  • LOADING...

สืบเนื่องมาจากประกาศพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

 

สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้องค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุน กยศ.

 

ล่าสุดวันนี้ (7 ส.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการหักเงินได้พึงประเมินเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560

 

มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรม สำนักงาน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม หักเงินได้พึงประเมินของข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ

 

แล้วนำส่งผ่านระบบของกรมบัญชีกลางตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่ายเพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินดังกล่าวให้กรมสรรพากร ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี กรมสรรพากร 1 เพื่อรับชำระเงินคืนกองทุน เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

 

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่ากฎหมายเปิดทางให้หักเงินเดือนคืนกองทุนได้ กรมบัญชีกลางจึงปรับระบบการจ่ายตรงเงินเดือน (อีเพย์โรล) ช่วงแรกจะหักได้เฉพาะข้าราชการและลูกจ้างประจำ ยังไม่ครอบคลุมถึงพนักงาน ลูกจ้าง และลูกจ้างชั่วคราว

 

ขณะที่จากการตรวจสอบของระบบกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างประจำของรัฐพบว่าค้างชำระหนี้ กยศ. มากกว่า 60,000 คน จากจำนวนลูกหนี้ กยศ. ที่เป็นข้าราชการ 195,000 คน โดยจากนี้จะเตรียมขยายผลไปยังกลุ่มบริษัทเอกชนตามลำดับ

 

จากนี้จะเริ่มส่งจดหมายไปยังหน่วยงานราชการทั้ง 224 แห่งเพื่อแจ้งรายชื่อลูกหนี้ และขอดำเนินการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ โดยแจ้งให้ลูกหนี้ปรับตัวไม่น้อยกว่า 60 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 คาดว่าจะเริ่มหักเงินเดือนครั้งแรกในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2561

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising