ปฏิบัติการสังหารภูมิใจไทย
ก่อนรัฐบาลประยุทธ์จะปิดฉากลงเพียงเดือนเดียว หนึ่งในฉากสำคัญทางการเมืองคือ ปฏิบัติการสังหารพรรคภูมิใจไทยที่พัดพามาจากทุกสารทิศ
โดยมีโครงเรื่องคือการทุจริตและหักเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่หลักหลายพันล้านจนถึงหลายหมื่นล้าน
ต่อกรณีมีผู้ร้องว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น รวมทั้งเจ้าของห้างหุ้นส่วนจํากัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้วย
ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคําสั่งรับคําร้องไว้พิจารณา ทั้งยังให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ มิตรเก่าของ อนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศเป็นศัตรูต่อพรรคภูมิใจไทย และมุ่งหน้าสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการทุจริตของศักดิ์สยามในหลายประเด็น
- ประเด็นที่ 1 ขอให้หยุดยั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงินลงทุน 235,320 ล้านบาท เพราะมีข้อสงสัยในประเด็นของการทุจริตส่อไปในทางกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ทำให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระที่แพงขึ้นประมาณ 68,612 ล้านบาท
- ประเด็นที่ 2 กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ชนะการประมูลในกระทรวงคมนาคมระหว่างปี 2563-2566 นับ 100 โครงการ ซึ่งอาจเป็นการประมูลงานอย่างไม่สุจริตและไม่โปร่งใส เพราะศักดิ์สยามเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วน
- ประเด็นที่ 3 กรณี นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการเพิกถอนที่ดินเขากระโดงของผู้บุกรุกที่ดิน รฟท. ทั้งที่ ป.ป.ช. เคยมีหนังสือเมื่อปี 2554 ให้เพิกถอนที่ดินของตระกูลชิดชอบที่บุกรุกที่ของ รฟท. แต่ปัจจุบันผ่านมา 13 ปี ยังไม่มีการดำเนินการ
- ประเด็นที่ 4 ขอให้ตรวจสอบ สุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีคมนาคม กรณีใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
ชูวิทย์ประกาศอีกว่า จะตามไปทำลายพรรคภูมิใจไทยถึงบุรีรัมย์ เคาะประตูบ้านของเนวิน-ศักดิ์สยาม เพราะไม่ใช่บ้านของเนวิน-ศักดิ์สยาม แต่เป็นที่สาธารณะของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
ขณะที่ปฏิบัติการปกป้องและสู้กลับฟากบ้านใหญ่บุรีรัมย์และภูมิใจไทยก็กำลังกลายเป็นสึนามิซัดกลับชูวิทย์ด้วย
ศูนย์รวมคอนเน็กชัน ‘สวนกุหลาบคอนเน็กชัน-สิงห์แดงคอนเน็กชัน’
รุ่นแรก ‘ตระกูลชิดชอบ’ ในวงการเมืองไทยคือ ชัย ชิดชอบ พ่อ…ที่คนเป็นลูกชายสามารถผลักดัน จนได้ก้าวขึ้นเป็น ‘ประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ’
รุ่นที่ 2 ‘ตระกูลชิดชอบ’ คือ เนวิน-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
เนวิน…พี่ชายที่แสนดีที่สามารถผลักดันน้องชายขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานรัฐมนตรี ประธานคณะทำงานรัฐมนตรี ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เนวิน-ศักดิ์สยาม เป็นคู่พี่-น้องที่เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สวนกุหลาบคอนเน็กชัน’ ขณะที่ศักดิ์สยามจบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นสิงห์แดง รุ่น 33 ทำให้ตัวเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สิงห์แดงคอนเน็กชัน’ ไปด้วย
เพื่อนมิตรหลายคนขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย
และเมื่อพี่ เพื่อน น้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคนเกษียณอายุราชการแล้ว เขายังส่งเทียบเชิญให้นั่งเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกหลายราย
แฟ้มลงนามอนุมัติใดๆ ที่ผ่านขึ้นไปสู่ศักดิ์สยามได้ จึงเป็นแฟ้มที่ไว้วางใจได้ ระมัดระวัง รอบคอบ และมีชั้นเชิง เพราะผ่านตาของอดีตอธิบดีและอดีตผู้ว่าฯ ที่ช่ำชองและอ่านขาดในระบบราชการ ระบบที่มักวางยาคนเป็นรัฐมนตรีอยู่บ่อยๆ
จากนักปกครองถึงนักการเมือง ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน-กลุ่มเพื่อนศักดิ์สยาม-กลุ่มสิงห์น้ำเงินผงาดครอบมหาดไทย’
ศักดิ์สยามได้รับการบ่มเพาะความเป็นนักปกครองที่โรงเรียนปลัดอำเภอ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย คนในวงมหาดไทยเรียกติดปากกันว่า ‘ปลัดโอ๋’
ก่อนลาออกได้เข้าเรียนโรงเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 48 คนดังร่วมรุ่นที่เติบโตเป็นใหญ่เวลานี้คือ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน เพื่อนที่ไม่ว่าศักดิ์สยามจะนั่งตำแหน่งใดในมหาดไทย จะเรียกมาใช้งานเป็นคณะทำงานอยู่เสมอ
หลังอำลาชีวิตนักปกครอง เขาคว้าชัยในการเลือกตั้งเป็น ส.ส. บุรีรัมย์ พรรคไทยรักไทยในปี 2544 และ 2548
หลังรัฐประหารปี 2549 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย พี่น้องชิดชอบเป็นหนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111
เนวินอยู่ลำดับที่ 6 และศักดิ์สยามอยู่ลำดับที่ 72 ทั้งคู่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
หลังรัฐประหารปี 2549 ทักษิณส่ง สมัคร สุนทรเวช และพรรคพลังประชาชน สู่สนามเลือกตั้ง เนวิน-ศักดิ์สยามรับภารกิจและคำบัญชาจากคนแดนไกลชิงชัยในสนามเลือกตั้งภาคอีสาน
ตระกูลชิดชอบใช้งาน ทรงศักดิ์ ทองศรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานภาคอีสานของพรรคพลังประชาชน รับภารกิจเป็นตัวละครหลักแบบเป็นทางการเดินเกมการเลือกตั้ง
ขณะที่คู่พี่-น้องคือตัวละครแบบไม่เป็นทางการ ทว่ามากบารมี รับภารกิจผสานเครือข่าย ทั้งนักการเมืองท้องถิ่น หัวคะแนน แกนนำหมู่บ้าน และเครือข่ายในพื้นที่ คว้าชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ จนทำให้ ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ กลายเป็นกลุ่มการเมืองใหญ่ในพรรคพลังประชาชน มีส่วนผสมทั้ง ส.ส. อีสาน, ส.ส. กลุ่มนกแล และ ส.ส. ที่ย้ายจากมุ้งต่างๆ ในพรรค ด้วยจำนวนเก้าอี้รวม 80-90 ที่นั่ง
กลุ่มเพื่อนเนวินขึ้นสู่อำนาจได้ครบถ้วน ทั้ง ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, ธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ, สุพล ฟองงาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมส่ง ชัย ชิดชอบ ขึ้นเป็นประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ
เนวินเป็นหนึ่งในสมาชิก ‘แก๊งออฟโฟร์’ อันลือลั่น ในวงนี้อีกชื่อคือ ธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกฯ อีกชื่อคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ทั้ง 3 คนคือมันสมองของ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น
ยิ่งบารมีคนเป็นพี่ชายสูงเด่นขึ้นไปเช่นไร บารมีคนเป็นน้องชายก็ยิ่งสูงเด่นตามไปด้วย
พลันที่ สุพล ฟองงาม ขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในคำสั่งที่ 51/2551 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ตั้งให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
คนการเมืองรู้ดีถึงสถานะที่แท้จริงของศักดิ์สยามในกระทรวงมหาดไทย ทั้งแฟ้มอนุมัติงบประมาณสำคัญ, การจัดอัตรากำลัง โยกย้าย หรือแต่งตั้ง ต้องผ่านตาเขาก่อนเสมอ จึงไปถึงมือรัฐมนตรี
เมื่อเก้าอี้ มท.1 เปลี่ยนจาก ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง เป็น พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ
คนของเนวินหลายรายเข้าไปรายล้อมโกวิททั้งศักดิ์สยามที่ขยับจากคณะทำงานของรัฐมนตรีช่วยมาเป็นที่ปรึกษาหลัก และ ศุภชัย ใจสมุทร นั่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรี พร้อมเป็นโฆษกกระทรวงมหาดไทย
ในจำนวนนี้รวมถึง พล.ต.ท. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ในขณะนั้น เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างเนวิน-สมยศยังเชื่อมไปถึง เสี่ยวิชัย ศรีวัฒนประภา อดีตประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ เซฟเฮาส์ของตระกูลชิดชอบในเวลานั้น เพื่อประชุมการเมือง ปิดดีลโปรเจกต์ใหญ่ จัดโผโยกย้าย และนัดหมายสำคัญ
‘กลุ่มเพื่อนศักดิ์สยาม’ มีชื่อผงาดในคณะทำงานของ มท.1 ชุดนี้ ทั้ง สุกิจ เจริญรัตนกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, สุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม, สุรชัย ขันอาสา รองผู้ว่าฯ ชุมพร, วิเชียร เชาวลิต รองผู้ว่าฯ อำนาจเจริญ และ ธานี สามารถกิจ รองผู้ว่าฯ ยโสธร
เมื่อจังหวะย้ายขั้ว-เปลี่ยนข้างมาถึง เนวินร่วมมือสุเทพจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์เมื่อปลายปี 2551 พรรคภูมิใจไทยคว้าตำแหน่งรัฐมนตรีในหลายกระทรวง
ชวรัตน์ ชาญวีรกูล พ่อของ อนุทิน ชาญวีรกูล ผงาดในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นอีกครั้งที่ตระกูลชิดชอบผงาดกระทรวงมหาดไทย
หลังนั่งกุมบังเหียนได้ 12 วัน มท.1 ป้ายแดง ลงนามในคำสั่งที่ 03/2552 แต่งตั้งคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมปรากฏชื่อ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ในตำแหน่งประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในคณะทำงานดังกล่าวมีเลขานุการร่วม 2 คน คือ สุรชัย ขันอาสา รองผู้ว่าฯ สมุทรปราการ และอีกชื่อคือ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม ผู้ซึ่งให้หลังจากนั้นอีก 12 ปี ก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย
ด้วยตำแหน่งนี้พงศาวดารกระซิบต่อกันว่า ศักดิ์สยามคือ มท.1 ตัวจริงตลอดช่วงที่ชวรัตน์กุมอำนาจอยู่
ยุคสมัยที่ตระกูลชิดชอบผงาดครอบกระทรวงมหาดไทย นักปกครองและสื่อสิ่งพิมพ์พูดถึงกลุ่มคนที่ได้ดีในยุคนี้ว่า ‘กลุ่มสิงห์น้ำเงิน’ อันเป็นสีประจำพรรคภูมิใจไทย ผิดกับยุคสมัยอื่นที่เป็นการแข่งขันกันของสิงห์ดำ-สิงห์แดง
กลุ่มสิงห์น้ำเงินได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นสู่อำนาจ ทั้งเป็นนายอำเภอ ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด และอธิบดี โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การจัดวางคนของพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดซึ่งเป็นฐานที่มั่นของตระกูลชินวัตร เพื่อสร้างฐานอำนาจใหม่ ขับเคลื่อนนโยบาย อำนวยความสะดวกด้านงบประมาณ และหวังชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งใหม่
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ที่รัฐสภา จาดุร อภิชาตบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย เล่าเป็นฉากๆ ถึงกระทรวงมหาดไทยในยุคสิงห์น้ำเงินครองเมือง ทั้งการซื้อ-ขายตำแหน่งระดับสูง การจ่ายเงินเพื่อเข้าเรียนโรงเรียนนายอำเภอ และการคอร์รัปชันผ่านโครงการต่างๆ
รุ่นที่ 3 ‘ตระกูลชิดชอบ’ สู่สนามการเมือง
เนวินประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว คำเรียกขานถึงเขาวันนี้คือ ‘ครูใหญ่ภูมิใจไทย’ ในบทบาทนี้เนวินบัญชาการรบไม่ต่างจากเกมกีฬาที่เขาถนัดอยู่จนคว้าแชมป์หลายสมัย
ศักดิ์สยามถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง ทั้งมีแนวโน้มว่าหากคดีไม่คลี่คลายในวันข้างหน้า แม้ภูมิใจไทยได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ก็อาจไม่มีชื่อศักดิ์สยามในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่
ทว่า ตระกูลชิดชอบไม่เคยหยุดทำการเมือง
วันนี้เนวินและกรุณาส่งรุ่นที่ 3 ของตระกูล ก้าวสู่สนามเลือกตั้งปี 2566 เรียบร้อยแล้ว นั่นคือ ไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายคนโตของเนวิน ในวัย 33 ปี ด้วยโปรไฟล์นักเรียนนอกจากอังกฤษ ผ่านการสมัครเป็นทหารเกณฑ์ มีประสบการณ์ในการบริหารงานบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และสนามแข่งรถบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ทั้งยังแตกแขนงสู่ธุรกิจ E-Sports
โดยส่งลงชิงในเขต 2 จังหวัดบุรีรัมย์ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอชำนิ, อำเภอเมืองบุรีรัมย์, อำเภอพลับพลาชัย และอำเภอประโคนชัย
เนวินเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเมื่อปี 2538 ในรัฐบาลบรรหาร ตอนนั้นเขาอายุเพียง 37 ปี ขณะที่ศักดิ์สยาม แม้นั่งในตำแหน่งทางการเมืองสำคัญมาตั้งแต่หนุ่ม ทว่าพึ่งได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2562 ด้วยวัย 57 ปี
ในวงกินข้าวบ้านป่ารอยต่อวันก่อน ระหว่าง พล.อ. ประวิตร กับ 3 ตระกูลการเมือง ‘ชาญวีรกูล-ชิดชอบ-ไทยเศรษฐ์’ ทำให้ตีความได้หลากหลาย โดยเฉพาะการจับขั้วทางการเมือง หวังเป็นรัฐบาลสมัยหน้า
หากวันนั้นมาถึง และศักดิ์สยามจำต้องถอยจากวงการเมืองไปอยู่เบื้องหลัง ก็อาจทำให้ ไชยชนก ชิดชอบ ในวัย 33 ปี จำเป็นต้องขึ้นสู่อำนาจไวกว่าทั้งพ่อและอา โดยรออีกเพียง 2 ปีจึงมีคุณสมบัติครบ ได้เป็นรัฐมนตรี
ทั้งชีวิตของศักดิ์สยามเดินบนทางที่พี่ชายวางไว้ บนเส้นทางนี้ย่อมมีทั้งขรุขระและราบรื่น สถานะ ‘น้องชายที่แสนดี’ มีเรื่องให้แบกรับอยู่ตลอด โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการตัดสินใจอันโลดโผนและพร้อมชน ตามแบบฉบับการเมืองพูดแล้วทำ จนตามด้วยคดีความทั้งหลายที่เร่งรัดเข้ามา
ทว่า นี่คือความเป็นชิดชอบ ตระกูลการเมืองที่อยู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2500 จนถึงทุกวันนี้