×

สว. 67 : ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ยอมรับอดีต และเสียงก่นด่า กลับสู่คอมฟอร์ตโซน ยังเห็นความหวัง

03.07.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ซากีย์ พิทักษ์คุมพล บุตรชายของ ‘อาศิส พิทักษ์คุมพล’ จุฬาราชมนตรีผู้ล่วงลับ กับบทบาทสมาชิกวุฒิสภา ขอยอมรับอดีตและเสียง ‘ก่นด่า’ จากผลของการลงมติ ‘เห็นชอบ’ นายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ครั้ง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
  • หมดวาระแล้วจากนี้ ขอกลับไปยังคอมฟอร์ตโซน สู่อาชีพที่รัก เป็นคนสอนหนังสือที่อยู่กับความหวัง

การบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านการสนทนาพิเศษกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 12 ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สว. ชุดพิเศษ’ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงผลงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และชีวิตฉากต่อไปหลังพ้นวาระเดินทางมาถึงการสนทนาหนสุดท้าย

 

THE STANDARD สนทนาพิเศษกับ ‘ซากีย์ พิทักษ์คุมพล’ อดีตอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ บุตรชายของ ‘อาศิส พิทักษ์คุมพล’ จุฬาราชมนตรีผู้ล่วงลับ ที่ถูกเลือกให้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล เลือกห้องรับรองสำหรับคณะทำงานของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งอยู่ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ภายในสัปปายะสภาสถาน เป็นสถานที่สำหรับการเปิดใจทุกเรื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กับ THE STANDARD 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เป็น สว. เพราะนามสกุล ‘พิทักษ์คุมพล’

‘ซากีย์’ อดีตอาจารย์ประจำเป็นนักวิชาการด้านความขัดแย้งและสันติศึกษา นั่งลงบนโซฟาสีดำกลางห้องรับรอง สำหรับคณะทำงานของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งอยู่ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ภายในสัปปายะสภาสถานด้วยสีหน้าที่เป็นกังวล ยอมรับว่าเขาเป็น สว. ที่เป็นมรดกส่วนหนึ่งจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และเข้ามาอยู่ในเกมอำนาจของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในโควตาการเป็นตัวแทนทางการเมืองเฉพาะกลุ่ม และเป็น สว. ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 

 

ลำพังตัวผมเอง ถ้าผมไม่ได้นามสกุลพิทักษ์คุมพล ก็คงไม่ได้มาอยู่ตรงนี้

 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล เหม่อมองอาคารซึ่งเป็นห้องทำงานของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ภายในรัฐสภาหมื่นล้าน

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

กระนั้น เขาเข้าใจและยอมรับกับเสียง ‘ก่นด่า’ ของประชาชนที่มีต่อ สว. เพราะปัจจุบันเราอยู่ในโลกของสื่อ และเมื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แล้วเราไม่สามารถทำให้คนทุกคนพึงพอใจได้ เราก็ไม่ได้รู้สึกสบายใจ เพียงแต่เมื่อเรารู้ว่าหน้าที่เราคืออะไร เราก็ทำหน้าที่ของเรา ส่วนที่เหลือจะเป็นอย่างไรเราก็ต้องรับแรงกระแทกนั้นให้ได้ 

 

ซากีย์กล่าวว่า การทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สว. มีภารกิจที่ชัดเจนที่สุดคือทำให้เกิดความต่อเนื่องทางการเมืองจากรัฐบาล คสช. มาถึงรัฐบาลใหม่ และเขาก็เป็นคนที่อยู่ระหว่างรอยต่อของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า 

 

“ผมเข้าใจทุกอย่าง เพราะผมเป็นคนสอนหนังสือ ผมเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าวันนี้คนเปลี่ยนไปแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการเมือง”

 

ซากีย์พร่ำบอกกับ THE STANDARD ว่า เขาเองไม่ได้มีความสุขกับการเข้ามาทำหน้าที่ครั้งนี้มากนัก เพราะรู้ว่าคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่ตั้งแง่กับวุฒิสภาชุดนี้ อีกทั้งเขาเองก็ได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเยาวชนและคนรุ่นใหม่

 

ขณะที่เรานั่งทำงานอยู่ตรงนี้ เราก็เหมือนไปทำลายความหวังเขา ถ้าคนที่ยังมีสามัญสำนึกก็คงไม่รู้สึกว่ามีความสุข

 

 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ยืนระหว่างทางเชื่อมชั้น 2 อาคารรัฐสภา ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

ซากีย์กล่าวว่า สว. ชุดที่ 12 ส่วนใหญ่เป็นนายทหารและเป็นอดีตข้าราชการ ทำงานที่มีแต่ลูกน้อง ส่วนเราที่เป็นอดีตอาจารย์ประจำ ปฏิบัติกับนักศึกษาเหมือนเพื่อนร่วมงาน ทั้งการแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามที่ สว. หลายคนอาจไม่เคยเจอ เมื่อเรามาอยู่ในสภาแล้วได้เห็นการจับกุมเด็กจากการร่วมชุมนุม เราเชื่อว่าไม่ว่าจะถูกหรือผิด หลักนิติธรรมต้องปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 

“ในเมื่อไม่มีความสุขแล้วทำไมยังอยู่ตรงนี้” THE STANDARD ถาม 

 

“ถ้าผมเป็นเพียงแค่ซากีย์ และเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คิดเหรอว่าเขาจะเลือกผม” ซากีย์ตอบและยิ้ม 

 

สว. ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ

 

ซากีย์อธิบายบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คนให้ THE STANDARD ฟังถึงสิ่งที่เขาได้เห็น และสิ่งที่หลายคนมองไม่เห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมาจากสัดส่วนของคนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งสิ้น หลายคนเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยรัฐและเอกชน มีความรู้เฉพาะทางในสาขาต่างๆ เช่น การกลั่นกรองกฎหมายต่างๆ กฎหมายเหล่านั้นได้ผ่านสายตาของบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ เรื่องพวกนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่มีผลงานเด่น แต่ทำให้กฎหมายมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น 

 

มีคนเคยถามตนเองว่า เห็นด้วยกับการมีสภาเดี่ยวหรือไม่ ซากีย์บอกไปว่า อีก 5 ปีหรืออีก 10 ปีข้างหน้าผมอาจจะเห็นด้วย แต่ ณ ปัจจุบัน การมีอยู่ของสภาสูงยังเป็นเรื่องที่ยังต้องคงไว้ก่อน ค่อยมาคุยกันอีกครั้งว่าสภาสูงนั้นมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แต่อย่าลืมว่าประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศก็มีสภาสูงด้วยกันทั้งนั้น 

 

“การคงอยู่ของสภาสูงในความหมายของผมไม่ได้คงอยู่แบบที่มีอำนาจเหมือนปัจจุบัน ควรที่จะลดทอนอำนาจลง และไม่ควรที่จะมีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับองค์กรอิสระ เรารู้สึกว่าอำนาจที่อยู่ตรงนี้ทำให้หลายๆ อย่างบิดพลิ้วไป ต้องปรับ ต้องแก้กันใหม่ คือมันต้องดูระบบของการได้มาด้วย ถ้าแต่งตั้งแบบเดิมก็ต้องทำแบบอังกฤษ คือทำหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเท่านั้น แต่ถ้าเลือกตั้งก็ต้องมาพิจารณากรอบอำนาจหน้าที่กันใหม่”

 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ยืนระหว่างทางเชื่อมชั้น 2 อาคารรัฐสภา ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว แม้จะทำอะไรมากไม่ได้

 

“ผลงานที่ภูมิใจที่สุดตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง” THE STANDARD ถาม 

 

ซากีย์บอกสิ่งที่เขาภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ สว. คือได้ทำหน้าที่ในการ ‘อธิบายความ’ ตนเองเป็นคนหนึ่งที่ไม่เข้าร่วมอภิปรายในห้องประชุมวุฒิสภาเลย เพราะอยากอยู่เงียบๆ มีบทบาทให้น้อยที่สุด แต่ความไม่เห็นด้วยต่อหลายๆ เรื่อง ตนเองเลือกพูดและแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมกรรมาธิการเสียมากกว่า โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจต่อมุสลิมในประเทศและความมั่นคงที่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งก็ไม่ถูกถ่ายทอดออกมา 

 

“ผมได้ทำหน้าที่ตรงนี้ถามว่ามีความสุขไหม ก็ไม่ได้มีความสุขเสียทีเดียว เพราะการทำหน้าที่ตรงนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง รื้อระบบระเบียบที่ฝังลึกในประเด็นปัญหาต่างๆ ได้มากนัก แต่อย่างน้อยผมคิดว่าได้ดีเฟนด์เรื่องเหล่านั้นไปตามหน้าที่แล้ว”

 

ซากีย์ยกตัวอย่างว่า หลายครั้งที่เราชี้แจงปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ถูกครอบด้วยโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะหลังทำการรัฐประหาร หน่วยงานด้านความมั่นคงขยายขอบเขตงานของตนเองทับซ้อนกับการพัฒนาในพื้นที่ สุดท้ายกลายเป็นว่างานพัฒนาซึ่งเป็นงานที่แยกจากความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นงานทหารที่ทำแทนหน่วยงานอื่น

 

ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีโครงสร้างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ทำงานในเชิงพัฒนา ซึ่งอยู่ระนาบเดียวกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ออกแบบไว้

 

แต่ภายหลังจากการทำรัฐประหาร กอ.รมน. ภาค 4 ได้ขึ้นมาครอบ ศอ.บต. เราก็เห็นได้ชัดว่าการทำงานในพื้นที่ภาคใต้เป็นการทำงานที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของหน่วยงานความมั่นคงในทุกมิติ ดังนั้นต่อให้เราพูดอย่างไรก็ไม่ง่ายที่จะไปเปลี่ยนแปลง ซึ่งกระบวนการทางนิติบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้ต้องเริ่มต้นจาก สส. แต่เราในฐานะ สว. ก็มีโอกาสได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องต่างๆ 

 

“ผมคิดว่าผมได้ทำหน้าที่ของผม แม้ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ เพราะไม่เหมือนกับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ หมายถึงฝ่าย สส. ที่จะสามารถเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างได้ แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีหลายอย่างที่ถูกล็อกไว้”

 

จากซ้ายบนสุดคนที่ 8: ซากีย์ พิทักษ์คุมพล พร้อมด้วยเพื่อนสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน ร่วมกันถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกก่อนหมดวาระอย่างเป็นทางการ 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

อีกสิ่งหนึ่งคือก่อนมาดำรงตำแหน่ง สว. แล้ว เขากำลังเรียนปริญญาเอก สาขาวิชามานุษยวิทยา เข้าใจถึงขนบของแนวการศึกษาแบบมานุษยวิทยาที่ให้ความสนใจกับความเป็นอื่น (The Other) คนแปลกหน้าที่เราไม่คุ้นชิน (Exotics) ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนส่วนน้อย หรือคนที่อยู่ด้านล่างของสังคม แต่เมื่อมาอยู่ตรงนี้เหมือนกับได้ใช้วิชาที่เคยเรียนมาศึกษาขนบของชนชั้นบน ทำให้ได้เห็นและได้รู้จักหน้าตาของคนที่อยู่ในอำนาจและเครือข่ายอำนาจที่หลายคนอาจไม่ได้มีโอกาสได้เห็น 

 

“ผมบันทึกข้อสังเกตของผมไว้ใน Memo ส่วนตัว ว่าในแต่ละวันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราอ่านสถานการณ์นี้อย่างไร ผ่านการตีความตัวละครที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ที่เราได้รู้และมีประสบการณ์ร่วม”

 

“มีสิ่งที่ภูมิใจแล้ว มีสิ่งที่เสียใจไหม” THE STANDARD ถาม โดยซากีย์พูดติดตลกว่า “การมาเป็น สว. อยู่สอนหนังสือก็ดีอยู่แล้ว” (หัวเราะ)

 

ซากีย์กล่าวว่า สิ่งที่เขาเสียใจดังที่ได้กล่าวไปตอนต้น คือการได้เห็นการปฏิบัติต่อเยาวชนที่มีความเห็นทางการเมือง เราอยู่ในกระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้แต่ไม่สามารถทำอะไรที่จะช่วยเหลือเขาได้ 

 

‘เห็นชอบ’ ประยุทธ์ เพราะทนแรงต้านไม่ไหว

 

THE STANDARD ถามว่า “มีความเห็นอย่างไรกับการที่ สว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะในปี 2562 หลังการโหวตเห็นชอบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก มีการตั้งกรณีศึกษานักวิชาการผู้อยู่บนเส้นทางประชาธิปไตยกลับเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหาร” 

 

การเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้ง 3 ครั้ง ซากีย์กล่าวว่า เขาเห็นชอบทั้ง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2562 เขาโหวตเห็นชอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เขาโหวตเห็นชอบให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล และการโหวตเห็นชอบครั้งที่ 3 ให้กับ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย 

 

“ตอนปี 2562 ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะตอนนั้นเราโหวตเลือก พล.อ. ประยุทธ์ ตอนแรกมีความตั้งใจว่าจะงดออกเสียง แต่ตอนนั้นมีเราคนเดียว เราก็ไม่สามารถต้านทานได้ เราก็เลยต้องปล่อยไป คำนวณทุกอย่างว่าถ้าเลือกอย่างหนึ่งแล้วจะได้จะเสียอะไร แต่สุดท้ายก็ตอบตัวเองว่า เราไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เพียงเพราะความเป็นเรา แต่มาแทนคนอื่น สุดท้ายใครจะด่าอย่างไรเขาไม่ได้เจอในสิ่งที่เราเจอ และรอเวลาที่จะเป็นตัวของตัวเอง แต่พอเป็นพิธาผมก็โหวตให้พิธา และโหวตญัตติเสนอซ้ำอีกด้วย และเราเป็น สว. เสียงส่วนน้อยมาตลอด”

 

ซากีย์เล่าอีกว่า หลังเขาได้โหวตเห็นชอบให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ตนเองถูกเรียกพบ มีโทรศัพท์จากผู้ใหญ่มาห้าม ตอนนั้นอธิบายเหตุผลไปว่า ได้พูดออกสื่อต่อหน้าสาธารณะไปแล้ว หากกลับลำแล้วจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน อีกทั้งหลังหมดวาระแล้วมีความตั้งใจจะกลับไปสอนหนังสือเหมือนเดิม แล้วใครจะมาเรียนอีก ถ้าเป็นคนที่กลับไปกลับมา ไม่มีจุดยืน 

 

ถ้าผมพูดไปแล้ว ผมไม่ทำ ใครจะมาเรียนกับผม

 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“จะมีวันที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไหม” THE STANDARD ถามต่อ

 

ซากีย์กล่าวว่า ผมเป็นคนมีความหวัง และในจินตนาการก็ไม่คาดคิดว่าพรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกลจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ ซึ่งก็คงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เมื่อผู้มีอำนาจกดลงเท่าไร แรงผลักก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และนี่คือสิ่งที่อยู่ระหว่างทางที่จะทำให้ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สำหรับตนเองแล้วมองว่าเป็นเรื่องบวก 

 

“เราอาจจะไม่ได้เห็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยภายใน 5-6 ปีข้างหน้านี้ แต่ผมคิดว่ารุ่นหลานผมอาจจะมีชีวิตในทางการเมืองที่ดีกว่านี้ ดังนั้นคนรุ่นปัจจุบันก็ต้องร่วมกันต่อสู้ต่อไป”

 

ห่วงเด็กและเยาวชน 

 

“หลังหมดวาระ มีสิ่งที่กังวลต่อบ้านเมืองอีกไหม” THE STANDARD ถาม 

 

ซากีย์กล่าวว่า ในฐานะอดีตอาจารย์ ตนเองห่วงปัญหาการจัดการเยาวชนของภาครัฐ และในฐานะคนที่อยู่ในการเมือง เราทุกคนต้องคิดให้มากกว่านี้ ตนเองไม่เคยเห็นประเทศที่เจริญแล้วนำเยาวชนไปคุมขังเพียงเพราะเหตุผลทางการเมืองที่แตกต่างกัน

 

ส่วนพรรคการเมืองหรือกลไกของการเมือง ตนเองไม่ได้กังวลอะไร เราทุกคนล้วนรู้แจ้งเห็นจริงอยู่แล้วว่า พรรคที่ตั้งจากเครือข่ายของคนที่ทำรัฐประหารมีชีวิต ณ เวลานี้มีสภาพเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่ฝืนธรรมชาติและเร่งปฏิกิริยาประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองที่ถูกส่งต่อกันมากกว่า 1,000 ปี 

 

“อย่าไปใช้วิธีการที่อยู่นอกระบบ มันทำได้เพียงแค่เหนี่ยวรั้งช่วงเวลาไว้ได้เท่านั้น มันไม่มีทางยั่งยืน มันเหมือนการไหลของน้ำ เวลาที่น้ำมาแรงๆ ต่อให้เราพยามสกัดแค่ไหนน้ำก็ข้ามไปได้อยู่ดี ทำให้เห็นว่าวิธีการของคนมีอำนาจที่ผ่านมา ที่คิดว่าถ้าน้ำแรงก็หาอะไรกั้นไว้ แต่ยิ่งกั้นน้ำก็ยิ่งไหลแรงขึ้น หากเราปล่อยไปให้ไหลไปตามธรรมชาติ สักพักความแรงของน้ำก็จะคงตัว”

 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“ประเทศไทยมีความหวังกับ สว. ชุดใหม่ไหม” THE STANDARD ถาม 

 

ซากีย์กล่าวว่า ตราบใดที่มีการเลือกตั้ง ต่อให้เลือกด้วยวิธีที่ซับซ้อน แต่ก็ไม่สามารถเอาคนที่มีวิธีคิดแบบเดียวกันได้มา 100% ขนาดชุดที่ 12 ที่มาจากการแต่งตั้ง 100% ยังมีที่มีความคิดหลากหลายเข้ามา เชื่อว่าจะทำให้ สว. มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และนี่คือความสนุกของประชาธิปไตย 

 

ส่วน สว. ชุดปัจจุบันก็ควรที่จะเฝ้ามองการเลือกครั้งนี้อย่างมีสติ และเตรียมตัวนับถอยหลังกลับไปปฏิบัติหน้าที่ให้กับครอบครัว ทำหน้าที่ของตัวเองในเรื่องต่างๆ และเตรียมส่งไม้ต่อให้กับบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ผมเชื่อว่าประเทศไทยยังมีคนเก่งๆ ที่มีความรู้ความสามารถมีเจตจำนงที่ต้องการทำเพื่อชาติอีกมากมาย 

 

“พวกเราควรมีสติ อย่าตีโพยตีพาย หากคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ทุจริต เลยเถิดไปถึงขั้นเรียกร้องให้ล้มเลือกตั้ง อันนี้ไม่ควรทำ ถ้าพบเจอใครทุจริตก็ดำเนินเป็นกรณีไป แต่ถ้าเลยเถิดเกินไป ประชาชนจะมองว่าทำไปเพื่ออยากจะอยู่ต่อ” ซากีย์กล่าว

 

ขอกลับสู่คอมฟอร์ตโซน

 

ซากีย์กล่าวว่า หลังพ้นวาระการเป็น สว. ชุดที่ 12 นี้ ความตั้งใจเป็นอันดับแรกของเขาคือ การกลับไปยัง ‘คอมฟอร์ตโซน’ ของตัวเอง กล่าวคือ การพักผ่อน ดูแลแม่ แล้วคิดถึงการกลับไปสอนหนังสือ เพราะเป็นอาชีพที่รู้สึกว่าตัวเองถนัดที่สุด ชอบที่สุด รักที่สุด 

 

ได้ไปอยู่กับคนหนุ่มสาว ได้เห็นแววตาที่เป็นประกาย เมื่อเราชวนเขาคิดบ้านเมืองหรือปัญหาสังคม เป็นแววตาแห่งความหวัง เราก็มีความสุขที่ได้กลับอยู่กับความหวัง เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนมีความหวัง ทุกอย่างก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น ส่วนเส้นทางการเมืองหลังจากนี้ หากทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองอะไรได้ก็ค่อยพิจารณาอีกครั้ง

 

“ผมเข้ามา ณ ตรงนี้ ผมยอมรับอดีตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการโหวต พล.อ. ประยุทธ์ และผมได้ทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายก่อนจะหมดวาระด้วยการฟังเสียงของประชาชนและโหวตตามที่ประชาชนต้องการ ผมก็ถือว่าผมได้จบหน้าที่ในการทำหน้าที่ สว. ของผมแล้ว” ซากีย์กล่าว และจบการสนทนากับ THE STANDARD

 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล เกาะราวบันไดเลื่อนที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าห้องประชุมจันทรา ซึ่งเป็นห้องประชุมหลักที่ของ สว. ก่อนจากลาหลังสนทนากับ THE STANDARD 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

https://drive.google.com/file/d/1WNUeEMjfEtWmpQJ8n19sSF4WiRe8_S2_/view?usp=drive_link

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X